"ท๊อป จิรายุส" มองเทรนด์โลก "กรีนอีโคโนมี" ปลุกเศรษฐกิจไทย

"ท๊อป จิรายุส" มองเทรนด์โลก "กรีนอีโคโนมี" ปลุกเศรษฐกิจไทย

"ท๊อป จิรายุส" มองเทรนด์โลก "กรีนอีโคโนมี" ปลุกเศรษฐกิจไทย โดยมองว่าอาเซียนต้องสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของภูมิภาค สร้างบรรยากาศสันติภาพต่อเนื่อง และมองความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน เพื่อดึงดูดต่างชาติมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักธุรกิจหลายร้อยคนจากหลายวงการทั่วโลกมารวมตัวกันที่การประชุมผู้นำเวิลด์ อีโคโนมิกฟอรัม ปี2022 ว่าด้วยพลังการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Economic Forum Sustainable Development Impact Summit 2022) ที่นครนิวยอร์ก ศูนย์กลางแห่งการเงินโลก

ในส่วนของประเทศไทย  “ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้ง และเป็นซีอีโอ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิงส์ ร่วมนำเสนอแนวทางการทำธุรกิจที่ยั่งยืนผ่านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)  

“จิรายุส" ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า เศรษฐกิจโลกจะดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ซึ่งตอนนี้ผู้คนในทุกวงการต่างให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน ทั้งการผลิตที่ไม่ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง การเงินสีเขียว และปรับตัวไปสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 77 ที่มีหมุดหมายสำคัญตือการสร้างจุดมุ่งหมายให้แก่บรรดาผู้นำทางธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย องค์กรระหว่างประเทศและภาคประชาสังคม นักประดิษฐ์ และผู้ประกอบการให้แสดงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนโลกไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

จิรายุส กล่าวว่า  "การประชุมครั้งนี้มีผู้นำธุรกิจทั่วโลกเดินทางมาร่วมกว่า 900 คน ซึ่งสังเกตว่า คนเอเชียยังเป็นเสียงส่วนน้อย มีเพียงไม่กี่ประเทศเข้าร่วมอย่างเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้มีโอกาสแสดงมุมมองต่อการดำเนินธุรกิจแห่งอนาคต ซึ่งผมดีใจที่บิทคับได้มีโอกาสเข้าร่วมในเวทีที่จัดขึ้นที่นิวยอร์ก เพื่อเป็นหนึ่งเสียงของประเทศไทยที่ได้สะท้อนการดำเนินงานที่มุ่งไปสู่การทำธุรกิจสีเขียว และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล"
 

จิรายุส กล่าวด้วยว่า "ประเด็นที่ได้หารือกันในที่ประชุมครั้งนี้ สอดคล้องกับการประชุมที่ผมเข้ารวมในเวทีเวิลด์ อีโคโนมิกฟอรัม ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดขึ้นที่เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เมื่อต้นเดือนก.ย. ซึ่งเป็นการประชุมแบบ Face-to-Face ที่จัดขึ้นครั้งแรกหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผู้นำทางธุรกิจกว่า 20 บริษัท จากประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย รวมทั้งนักธุรกิจต่างชาติที่อยู่ในไทยก็เข้าร่วมหารือใน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1.ซัพพลายเชน เพราะโลกเริ่มแบ่งขั้วกันชัดเจนขึ้น จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือความขัดแย้งของ2มหาอำนาจสหรัฐ-จีน ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ระบบห่วงโซ่อุปทานโลก 

2.กรีนอีโคโนมี เป็นประเด็นพูดคุยต่อเนื่องตั้งแต่เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือน พ.ค. และ 3.เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นเครื่องมือสำคัญจะมีส่วนช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศหลังการระบาดใหญ่  ซึ่งทั้งหมดนี้มีความเชื่อมโยงกัน และทุกประเทศเห็นว่า ถึงเวลาที่ต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน 

"ในอีก 10 ปีข้างหน้า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกลืม เมื่อก่อนนี้ อาจถูกมองข้าม เพราะหลายประเทศมองสหรัฐ เป็นจุดหมายปลายทางด้านเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง รองลงมาคือจีน อันดับสามคือยุโรป อันดับสี่คืออินเดีย และอันดับห้าคือภูมิภาคเอเชียทั้งภูมิภาค  โดยที่ไม่พูดว่าเป็นอาเซียนหรือกลุ่มอนุภูมิภาค CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม)" จิรายุส กล่าว 

แต่เมื่อบริบทของโลกเปลี่ยนไป เกิดสงครามขึ้นในภูมิภาคยุโรป ประกอบกับหลายประเทศในโลกกำลังเป็นสังคมผู้สูงวัย ส่วนสหรัฐก็ยังแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ตก ทั้งยังภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อมองมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือได้ว่ามีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจสูง อย่างเช่น ประเทศเวียดนาม หรือเมียนมา ที่มีความมั่งคั่งจากทรัพยากรธรรมชาติ 

       ส่วนหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร ไม่มีภาวะสงคราม ถ้านำตัวเลขของผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของ 10 ประเทศอาเซียนมารวมกันจะเป็นเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ในเมื่อกระแสการลงทุนไหลมายังภูมิภาคนี้อย่างมหาศาล แล้วพวกเราจะร่วมมือกันอย่างไร

สิ่งสำคัญคือ อาเซียนต้องสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในภูมิภาค สร้างบรรยากาศสันติภาพอย่างต่อเนื่อง และมองความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน เพราะนักลงทุนต้องการความมั่นคง จึงจะทุ่มเทเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในภูมิภาคได้  ซึ่งเราต้องปักธงเลยว่า“ ต้อนรับการลงทุน” ชูความมีเสถียรภาพ เพื่อดึงดูดต่างชาติมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในโอกาสนี้ ผมได้พบกับว่าที่เลขาธิการอาเซียนคนใหม่ชาวกัมพูชา ต่อจาก"ลิม จ๊อก ฮอย" ซึ่งมีความเห็นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะสร้างโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียวให้แข็งแกร่งและยั่งยืน

"เมื่อพูดถึงกรีนอีโคโนมี ก็หมายถึงการสร้างธุรกิจที่ไม่ทำลายโลก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้องจำกัดขยะและมลพิษ โดยต้องเปลี่ยนรูปแบบการผลิตแบบเดิมๆ ด้วยการคิดค้นเทคโนโลยีนำกลับมาใช้ใหม่ โดยเฉพาะนำ “เทคโนโลยีดิจิทัล” มาใช้กับการผลิตด้วย สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญที่เชื่อมโยงกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน" จิรายุสกล่าว

  และเสริมว่า ระบบห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความสำคัญ ในภาวะที่โลกถูกแบ่งขั้ว บรรดาบริษัทต่างๆ ต่างมองมายังซัพพลายเออร์เพราะต้องการเลือกทำธุรกิจกับบริษัทที่ปรับตัวสู่กรีนคอมพานี ไม่อย่างนั้นก็จะถูกคว่ำบาตรจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจอื่นๆ หรือรัฐบาลในหลายประเทศก็ออกกฎหมายการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อสร้างมาตรฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

 "การจะเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้ต้องสร้างทักษะใหม่และยกระดับทักษะ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากการพัฒนาระบบการศึกษาให้ตอบโจทย์แผนเศรษฐกิจในอนาคต โดยต้องทำให้การศึกษาเข้าถึงคนจำนวนมากที่สุด ถ้าเราอยากลดทรัพยากรในการทำธุรกิจให้เป็นกรีนอีโคโนมีมากที่สุด ก็ต้องฝึกอบรมพนักงานให้ใช้เทคโนโลยีให้เป็น และต้องใช้กับงานเป็นปกติ"จิรายุส กล่าว

อย่างไรก็ตาม จิรายุส มองภาพใหญ่ด้านการส่งออกสินค้าระหว่างกันจะไร้รอยต่อได้ ต้องเปลี่ยนระบบศุลกากรดิจิทัล การชำระเงินออนไลน์ ท่ี่เชื่อมโยงระหว่างประเทศและภูมิภาค ซึ่งจะสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน