เปิด 4 มุมมองพัฒนา'ซัพพลายเชน'อย่างยั่งยืน

เปิด 4 มุมมองพัฒนา'ซัพพลายเชน'อย่างยั่งยืน

เปิด 4 มุมมองพัฒนา'ซัพพลายเชน'อย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าการดำเนินธุรกิจควรคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เมื่อแรงงานมีคุณภาพ การผลิตจะมีประสิทธิภาพ มีรายได้เพิ่มขึ้น มีความน่าเชื่อถือ แบรนด์มีคุณค่า และกลายเป็นซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง

ปัญหาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนอาหารและพลังงานโดยตรง นอกจากนี้ ภัยธรรมชาติจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพราะฝีมือมนุษย์ยังซ้ำเติมระบบห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลจนทำให้อินเดียผลิตข้าวได้ลดลง พายุรุนแรงหรือฝนตกหนักจนน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตแต่ละประเทศได้รับความเสียหาย

หลายภูมิภาคทั่วโลกจึงเริ่มตระหนักถึงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น และร่วมกันปกป้องซัพพลายเชนให้มีความปลอดภัยและเกิดความยั่งยืน รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เช่นเดียวกัน ประเทศไทย หนึ่งในภูมิภาคอาเซียนก็เริ่มตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและเร่งพัฒนาหลายด้านเพื่อสร้างความยั่งยืน 

ในงาน Sustainability expo (SX) ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้จัดเวทีอภิปรายหัวข้อ “The future of sustain supply chains : purpose and practicality” หรือ “เป้าหมายและการปฏิบัติงานเพื่อความยั่งยืนของซัพพลายเชนในอนาคต” เมื่อวันอังคารที่ 27 ก.ย.
 

มีผู้เข้าร่วมอภิปรายทั้ง 4 ท่าน และแต่ละท่านมีแนวทางพัฒนาปรับปรุงซัพพลายเชนแตกต่างกันไป ได้แก่ วีณาริน ลุลิตานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด , ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ดร.ฮี ชานซอง  ประจำสาขาวิชาการจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์และ เศรษฐา ทวีศรี ผู้อำนวยการจัดซื้อวัสดุ จากบริษัทแพนอินเตอร์เนชั่นแนลอิเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการอภิปรายโดย Geert-Jan Van Der Zanden หรือ จีเจ ที่ปรึกษาอาวุโสและอาจารย์รับเชิญสาขาการจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์

เมื่อถามถึงความเสี่ยงใดที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในระบบซัพพลายเชน เศรษฐา กล่าวว่า บริษัทสินค้าโภคภัณฑ์ของตนมีปัจจัย 3 อย่างท่ี่ต้องติดตามเป็นพิเศษ คือ 1.พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ บริษัทต้องคอยติดตามเทรนด์โลก เช่น เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 2.ปฏิบัติตามกฎและมาตรการของรัฐ 3.ยึดโมเดล Bio-Circular-Green Economy (BCG) คือโมเดลเศรษฐแบบใหม่ที่คำนึงถึง เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว 

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายซัพพลายเชนไทยแลนด์มีผู้ร่วมก่อตั้งจากซีอีโอบริษัทอื่นๆอีก เช่น ธนาคารกรุงเทพ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (บีเจซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น และกำลังขยายเครือข่ายไปประเทศในอาเซียน ซึ่งตอนนี้มีเครือข่ายจากเวียดนามแล้ว

โดยเครือข่ายดังกล่าว สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้ทั้งบริษัทขนาดเล็กและบริษัทขนาดกลาง ทั้งธุรกิจทั่วไปและองค์กรไม่แสวงหากำไร เปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถซื้อ-ขายสินค้ากันได้ มีแพลตฟอร์มแบ่งปันความรู้ และจัดงานอีเวนท์แลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งการเข้าร่วมเครือข่ายไม่มีต้นทุนใด ๆ เพียงแค่ต้องผ่านคุณสมบัติที่กำหนดไว้เท่านั้น

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบซัพพลายเชนคือ สภาพอากาศ ซึ่งมลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในปัญหาท้าทาย วีณาริน ซึ่งร่วมก่อตั้ง

ตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด กล่าวว่า ฝุ่น P.M. 2.5 เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า ล้วนเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาที่ซับซ้อนระดับประเทศไปจนถึงระดับโลก ต้องรวมกันแก้ไขไม่ใช่เพียงองค์กรใดองค์กรเดียวเท่านั้น ทางเครือข่ายมีเว็บไซต์ thailandcan.org เผยข้อมูลการวิจัยสภาพอากาศ มีทั้งสมุดปกขาว-อธิบายปัญหามลพิษทางอากาศ สมุดปกฟ้า-ผลกระทบมลพิษในไทย และสมุดปกเขียว-เป็นวิธีการแก้ไขปัญหา ส่วนการสร้างความยั่งยืน ควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ต้องมีความร่วมมือจากทั้งรัฐบาล เอกชน และประชาชนด้วย

ส่วนประเด็นประโยชน์ที่ธุรกิจจะได้รับเมื่อคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนนั้น ดร.ศรีประภา จากศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มีความเห็นในส่วนนี้ว่า ธุรกิจและซัพพลายเชนสามารถเกิดผลดีและผลร้ายต่อสิทธิมนุษยชนได้ ข้อดีคือ การพัฒนาของธุรกิจช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต เทคโนโลยีก้าวหน้า มีสวีสดิการที่ดีแก่พนักงาน แต่ข้อเสียคือ การมุ่งเน้นที่ผลประกอบการและผลผลิต บางบริษัทเอาเปรียบแรงงาน ใช้แรงงานเด็ก ทำลายสิ่งแวดล้อม จนทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ธุรกิจควรคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนของแรงงานเมื่อแรงงานมีคุณภาพ การผลิตจะมีประสิทธิภาพและบริษัทจะมีรายได้มากขึ้น มีความน่าเชื่อถือ แบรนด์มีคุณค่า และกลายเป็นซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง

จึงแนะนำธุรกิจให้ทำการ "ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน” ซึ่งอาเซียนยังขาดด้านนี้ บริษัทขนาดใหญ่ในไทย 77% รวมถึงไทยเบฟ เข้าร่วมข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลกแล้ว แต่ละประเทศควรมีแผนสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และที่สำคัญคือธุรกิจควรเคารพผู้ปกป้องสิทธิมุนษยชนด้วย"

ขณะที่เจจี เผยว่า อาเซียนคือกลุ่มเศรษฐกิจซัพพลายเชนใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมากมาย ทำไมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ช้า 

ชานซอง อาจารย์จากสาขาวิชาการจัดการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ กล่าวว่า อาเซียนขาดการปฏิบัติ 4 อย่าง ได้แก่ 1.การปรับตัวให้ทันกระแส 2.การติดต่อสื่อสารระหว่างองค์กรโดยเฉพาะในเอเชีย 3.การมีกฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง 4.สนับสนุนองค์กรภาคส่วนที่ 3 เช่นองค์กรไม่แสวงหากำไร ให้มีทุนการปฏิบัติงานเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

ส่วนคำแนะนำของตนเป็นนามธรรม เนื่องจากตนสนใจด้านพระพุทธศาสนากับความเชื่อมโยงของธุรกิจ ธุรกิจมีการแข่งขันสูงมาก แต่ศาสนาพุทธค่อนข้างสอนให้คนไทยเป็นคนปล่อยวาง ใจเย็น ทำให้ไทยพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมช้า จึงควรหาจุดตรงกลางระหว่างการแข่งขันสูงและการยึดหลักความพอประมาณ ยึดมั่นในศีลธรรม พร้อมกับสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย