ธปท.ย้ำอัตราดอกเบี้ยไทยไม่อิงเฟด ดูเป็นเป้าหมายหลัก

อัตราดอกเบี้ยของไทยจะเข้าสู่ระดับ normalization หรือภาวะปกติเมื่อไหร่นั้น สิ่งที่ ธปท.ดูเป็นเป้าหมายหลัก คือเงินเฟ้อว่าเข้ากรอบที่ 1-3% หรือไม่ มากกว่าการกำหนดเป้า Terminal Rate ว่าต้องอยู่ตรงไหน

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ระบุ อัตราดอกเบี้ยของไทยจะเข้าสู่ระดับ normalization หรือภาวะปกติเมื่อไหร่นั้น สิ่งที่ ธปท.ดูเป็นเป้าหมายหลัก คือเงินเฟ้อว่าเข้ากรอบที่ 1-3% หรือไม่ มากกว่าการกำหนดเป้า Terminal Rate ว่าต้องอยู่ตรงไหน เพราะหากบางประเทศที่เศรษฐกิจร้อนแรง จำเป็นต้องเอาดอกเบี้ยให้สูงกว่าระดับ Neutral rate หรืออัตราดอกเบี้ยที่สมดุล ดังนั้นสิ่งที่เป็นเป้าของธปท.คือ การพยายามดูแลให้เงินเฟ้อ กลับสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

ขณะเดียวกัน ระดับดอกเบี้ยที่แท้จริงในระยะยาว มองว่า ท้ายที่สุด เมื่อเศรษฐกิจกลับสู่ระดับศักยภาพ มีการสูบฉีดเต็มที่ ดอกเบี้ยที่แท้จริงควรเป็นบวก เพื่อสร้างแรงจูงใจในการออมไม่ให้ผิดเพี้ยน เพราะหากดอกเบี้ยติดลบ จะสร้างแรงจูงใจที่ผิดเพี้ยน

ทั้งนี้ ไทยไม่มีนโยบายในการผูกค่าเงินบาทกับค่าเงินดอลลาร์ และนโยบายการเงินของไทยก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินตามธนาคารกลางสหรัฐเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจไทยและสหรัฐแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้น การที่สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยแรง ไทยก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่เท่ากัน การนำนโยบายการเงินของสหรัฐมาชี้นำเศรษฐกิจไทยคงไม่เหมาะสม เพราะถ้าหากไทยขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ ค่าเงินบาทของไทยก็จะแข็งค่าเกินสกุลเงินภูมิภาคทั้งหมด 

ส่วนที่ห่วงว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะประชุมอีก 2 ครั้ง ขณะที่กนง.ไทยจะประชุมอีกแค่ 1 ครั้ง ในปีนี้ การดำเนินนโยบายจะตามเฟดไม่ทันนั้น มองว่าหากสถานการณ์เปลี่ยน ก็สามารถจัดประชุมวาระพิเศษได้ ซึ่งไม่ได้มีข้อจำกัดหรือทำไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาตลาดได้รับรู้ถึงแนวทางการขึันดอกเบี้ยของเฟดในอีก 2 ครั้งที่เหลือไปแล้ว จึงเชื่อว่าผลกระทบต่อตลาดการเงินจะมีไม่มาก

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว และยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19ได้ ราวปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า และสิ่งสำคัญ คือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่าง Smooth takeoff และปัจจัยที่จะทำให้การฟื้นตัวสะดุดได้ ด้านแรก เงินเฟ้อ หากวิ่งสูงเกินไป อาจทำให้การฟื้นตัวสะดุดหรือเกิดภาวะการเงินตึงตัวเกินไป หรือภาคการเงินไม่เล่นบทบาทในการสนับสนุนการฟื้นตัวก็อาจทำให้เศรษฐกิจสะดุดได้ ดังนั้นต้องให้มั่นใจว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิด การ Smooth takeoff

ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้อง Policy normalization เพราะการไม่ normalization จะควบคุมเงินเฟ้อไม่ได้ อีกทั้งการ normalization ทั้งนโยบายการเงิน และระบบสถาบันการเงิน จำเป็นต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการมาตรการทางการเงิน ที่จะเปลี่ยนจากมาตรการปูพรหม ไปสู่มาตรการไปสู่มาตรการเฉพาะเจาะจง ตรงจุดมากขึ้น ทั้งหมดนี้ เพื่อให้การ takeoff ไปได้สมูท และต้องให้มั่นใจว่า เครื่องยนต์บินต่อไปได้ และไปต่ออย่างยั่งยืน ต้องให้มั่นใจว่า จะไม่มีอะไรที่ทำให้การฟื้นตัวเกิดความไม่ยั่งยืน