ปตท.ทุ่ม 3 พันล้าน ‘สู้’ โควิด บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน

ในช่วงการระขาดของโควิด-19 ได้เห็นองค์กรขนาดใหญ่ ต่างพากันออกมาช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ รวมถึง กลุ่มปตท. ทุ่ม 3 พันล้านบาท เพื่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 โดยช่วยจัดหาอุปกรณ์ป้องกันระบาด สร้างโรงพยาบาลสนาม

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงการระบาดรอบแรก ช่วงเดือน มี.ค. 2563 ที่สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นจนทำให้อุปกรณ์ป้องกันหลายอย่างขาดแคลน ทาง ปตท.ได้จัดหาแอลกอฮอล์รวมกว่า 1.13 ล้านลิตร และหน้ากากอนามัย 250,000 ชิ้น มอบให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ป้องกันจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทในกลุ่ม ปตท.อาทิ เสื้อกาวน์ทางการแพทย์ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบมอบให้โรงพยาบาลและหน่วยงานราชการที่ต้องการความช่วยเหลือ รวม 79 โรงพยาบาล ใน 34 จังหวัด

ในขณะที่ต้นปี 2564 เกิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยหนักเพิ่มสูงขึ้นมาก กลุ่ม ปตท.ได้ตั้งโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” เพื่อส่งมอบเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยวิกฤติ (ICU Ventilator) และเครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง (High-Flow Nasal Oxygen) กว่า 400 เครื่อง สนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง พร้อมจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยทางการแพทย์กว่า 825,000 ชิ้น, ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) จำนวน 50,000 ชุด และสนับสนุนถุงยังชีพแก่ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นกว่า 16,000 ชุด

รวมทั้งร่วมกับ กทม.จัดหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกใน 4 พื้นที่ใหญ่ของ กทม.ที่มีความเปราะบางและเสี่ยงสูง นำเข้ายาเรมดิซีเวียร์ ยาต้านโควิดจำนวน 2,000 ขวด และยาฟาวิพิราเวียร์อีก 1.2 ล้านเม็ด และร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจัดตั้ง “หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)” รองรับผู้ป่วยระดับสีเขียว 1,000 เตียง สีเหลือง 300 เตียง สีแดง (ICU) 120 เตียง

ไม่หมดเท่านี้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ปตท. เปิดตัวโครงการ “ลมหายใจเพื่อน้อง” โดยจัดงาน  เดิน-วิ่ง เพื่อระดมทุนการศึกษาให้นักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด โดยได้รับเงินบริจาครวม 151 ล้านบาท นำไปช่วยเหลือเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 60,000 คน ได้กลับเข้าเรียนอีกครั้งในภาคเรียนปีการศึกษา 2565

ขณะเดียวกันมีนโยบายที่จะช่วยขับเคลื่อนต่อลมหายใจให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านโครงการ  Restart Thailand โดยได้เปิดรับกลุ่มแรงงาน พนักงาน และนักศึกษาระดับ ปวช. ถึงปริญญาตรีจบใหม่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศกว่า 25,000 อัตรา เข้าทำงานกับกลุ่ม ปตท. ให้เริ่มปฏิบัติงานในปี 2564 และจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยปี 2565 จำนวน 23,000 อัตรา

พร้อมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนให้กับพนักงานครึ่งหนึ่ง (วงเงินคนละไม่เกิน 5,000 บาท) เพื่อให้พนักงานใช้จ่ายในการเดินทางในประเทศ 

รวมแล้วนับตั้งแต่ปี 2563 ปตท.ได้ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านโครงการต่างๆ รวมเป็นเงินกว่า 3,000 ล้านบาท