สรท.จี้แบงก์ชาติเร่งดูแลค่าเงิน ผวา 'บาทอ่อนเร็ว' คุมต้นทุนยาก

สรท.จี้แบงก์ชาติเร่งดูแลค่าเงิน ผวา 'บาทอ่อนเร็ว' คุมต้นทุนยาก

'ผู้ส่งออก' แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินบาทที่อ่อนค่าทะลุ 38 บาท ไปแล้ว สรท.จี้แบงก์ชาติเร่งดูแลค่าเงิน กังลวค่าเงินบาทอ่อนเร็ว กระทบคุมต้นทุนยาก

การอ่อนค่าของเงินบาทแม้จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก แต่การที่ค่าเงินอ่อนเร็วเกินไปย่อมมีผลต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการ เพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาใช้ในการผลิต ซึ่งกระทบต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าอ่อนค่าเร็วและแรงมาก ซึ่งจะส่งผลต่อดุลการค้าของไทยเพราะจะทำให้มูลค่าการนำเข้าสูงกว่าการส่งออก

สรท.จี้แบงก์ชาติเร่งดูแลค่าเงิน ผวา \'บาทอ่อนเร็ว\' คุมต้นทุนยาก

 

"การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นทิศทางเดียวกับค่าเงินหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ สหภาพยุโรป แต่ขอให้รัฐบาลดูแลให้มีเสถียรภาพ เพราะอ่อนค่าเร็วและแรงเกินไปแม้ดีต่อการส่งออก แต่ต้องไม่ลืมว่าค่าเงินของคู่แข่งไทยอ่อนค่าด้วย เช่น อินเดียและจีน"

รวมทั้งการที่เงินอ่อนค่ามากจะมีผลต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการที่นำเข้าพลังงาน น้ำมัน ปุ๋ยและอาหารสัตว์ ที่ต้องนำเข้ามาทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้น ซึ่งกระทบห่วงโซ่อุปทานได้ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและการผลิต ส่วนสินค้าที่จำหน่ายในประเทศอาจต้องขึ้นราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น และจะเห็นเร็วๆนี้ ซึ่งจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อไทยสูงขึ้นตามราคาขึ้น

ส่วนการปรับตัวของผู้ประกอบนั้นต้องคำนวณต้นทุนการผลิตให้ถูกต้องตามสถานการณ์ค่าเงินบาท และรักษาสภาพคล่องการเงินไว้ รวมทั้งการสต๊อกสินค้าหรือวัตถุดิบไว้ด้วยเช่นกัน และต้องหาทางลดต้นทุนด้านอื่น เช่น การประหยัดพลังงานผ่านโครงการอนุรักษ์พลังงานของรัฐ ซึ่งการตรึงราคาดีเซลยังเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำต่อเนื่อง และรัฐต้องดูค่าไฟฟ้าที่เป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบและประชาชน

นายชัยชาญ กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในระยะสั้นยังคงผันผวนสูง จะต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะธนาคารกลางสหรัฐมีท่าทีขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ตามควรใช้โอกาสที่เงินบาทอ่อนค่าเร่งส่งออกให้ได้มากที่สุด และเร่งดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น