'บีทีเอส' เตรียมยื่นอุทธรณ์ศาลอาญาทุจริต ปมรถไฟฟ้าสายสีส้ม

'บีทีเอส' เตรียมยื่นอุทธรณ์ศาลอาญาทุจริต ปมรถไฟฟ้าสายสีส้ม

'บีทีเอส' เตรียมยื่นอุทธรณ์ หลังศาลอาญาทุจริตยกฟ้องคดีผู้ว่า รฟม.และคณะกรรมการ ม.36 ร่วมกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยันยังมีข้อโต้แย้งหลายประเด็น

นายธงชัย​ ทองเศรษฐ​ หัวหน้าคณะทนายความ​บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า​ ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้อ่านคำพิพากษาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชน กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ กับพวกรวมกัน 7 คน เป็นจำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กรณีแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอตามเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

โดยการการพิพากษาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องครั้งนี้ BTSC ได้ฟ้องหลายข้อหา และทางศาลฯ ได้พิจารณาคดีอย่างละเอียด แต่ทางทีมกฎหมายจะดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย เตรียมยื่นอุทธรณ์พิจารณาคดีเพิ่มเติม แต่จะเป็นในกรณีข้อหาใดนั้น ขอกลับไปพิจารณาคำพิพากษาครั้งนี้อย่างละเอียด และหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน ซึ่งคาดว่าจะต้องยื่นต่อศาลเพื่อขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มากกว่า 30 วัน แต่อย่างไรก็ดี ในฐานะทีมกฎหมายของ BTSC เชื่อมั่นในส่วนของพยานหลักฐาน​ และเรื่องนี้ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ยังไม่ได้ข้อยุติที่ยอมรับได้ โดยจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 ก.ย.) เวลา 9.00 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอ่านคำพิพากษาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 โดยศาลพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 7 ไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง และได้พิพากษายกฟ้อง สืบเนื่องจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันใช้ดุลพินิจพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอใหม่ โดยให้พิจารณาคะแนนด้านเทคนิค ลงทุนและผลตอบแทนร่วมกันโดยกำหนดสัดส่วนการให้คะแนนด้านเทคนิคเป็นร้อยละ 30 คะแนน ด้านการลงทุนและผลตอบแทนเป็นร้อยละ 70 คะแนน หากผู้ยื่นข้อเสนอรายใดผ่านการประเมินสูงสุดและได้รับการประเมินให้เป็นผู้ชนะการคัดเลือก

โดยการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของ รฟม.ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มาตรา 38(6) และ (7) ประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่มีข้อกำหนดว่า สงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมรายละเอียด รวมถึงลดขยายระยะเวลาของการคัดเลือกตามประกาศเชิญชวนข้อเสนอฉบับนี้ เพื่อให้เป็นตามประสงค์ของ รฟม. และมติคณะรัฐมนตรี

และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ข้อ 17 ประกอบกับขณะลงมติเห็นชอบนั้นยังไม่ถึงกำหนดระยะเวลายื่นซองข้อเสนอ จึงไม่ทำให้ผู้ยื่นเอกสารข้อเสนอได้เปรียบเสียเปรียบซี่งกันและกัน นอกจากนี้คณะกรรมการคัดเลือกได้ขยายระยะเวลาออกจากกำหนดยื่นข้อเสนอเดิมอีก 45 วัน เพื่อให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้มีเวลาจัดเตรียมข้อมูลข้อเสนอเพิ่มเติมอีก พยานหลักฐานยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า การแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่ง 

ส่วนประเด็นที่จำเลยที่ 1 หรือผู้ว่าการ รฟม. ได้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน นั้น เห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกใช้ดุลพินิจพิจารณายกเลิก
ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน จากนั้นจำเลยที่ 1 ออกประกาศเรื่องยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามมติคณะกรรมการคัดเลือก โดยไม่มีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ หรือการกระทำที่นอกขอบเขตแห่งกฎหมายหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อโจทก์

เมื่อจำเลยที่ 1 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตาม พรบ.ร่วมทุนปี 2562 ประกอบกับการสงวนสิทธิ์ของ รฟม. ตามประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารฯ เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ (RFP) ที่กำหนดการสงวนสิทธิ์ของ รฟม.ในข้อ 12.1 ว่า รฟม. สงวนสิทธิ์ตามดุลพินิจที่จะยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ โดยที่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหาย ใดๆ ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อีกทั้งการกระทำของจำเลยทั้ง 7 ไม่ได้เป็นกรณีที่มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่ง