เปิดดีลการค้าการลงทุนรัฐ-เอกชนดึงซาอุฯ ปักธงไทย

เปิดดีลการค้าการลงทุนรัฐ-เอกชนดึงซาอุฯ ปักธงไทย

“จุรินทร์ “ยกทัพคณะเอกชน ลุยซาอุฯ เปิดดีลการค้า การลงทุน ไทย- ซาอุ หลังฟื้นสัมพันธ์ กรุยทางสู่ประตูการค้ากลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ

การเดินทางเยือนซาอุอาระเบียวันที่ 27 -31 ส.ค.2565 โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏร์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะ ได้พาภาคเอกชน 138 ราย ร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อเพิ่มความร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ

ภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามความร่วมมือจัดตั้งการจัดตั้งสภาธุรกิจไทยและซาอุดิอาระเบีย หรือ Joint Business Council (JBC) ระหว่าง The Federation of Saudi Chambers of Commerce (FSCC) และ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งจะช่วยขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร อุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องในตลาดซาอุดีอาระเบีย และเป็นการสนับสนุนและส่งเสริม การจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาทางการค้า

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าทำการค้าร่วมกัน ซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านดอลลาร์ หรือ10,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุฯขึ้น เพราะซาอุดีอาระเบียต้องการดึงนักลงทุนจากทั่วโลกและนักลงทุนไทยร่วมโครงการ Saudi Vision 2030 ที่มีนักลงทุนทั่วโลก 

รวมถึงนักลงทุนไทยหลายภาคส่วนสนใจดึงนักลงทุนซาอุดีอาระเบียมาลงทุนไทย เพื่อสร้างการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงภาคการผลิตอื่น ซึ่งจะได้ประโยชน์จากไทยที่มีเขตการค้าเสรี (FTA) 14 ฉบับ ครอบคลุม18 ประเทศ และกำลังเจรจาอีกหลายประเทศ

ขณะที่ภาครัฐได้หารือภาครัฐของซาอุดิอาระเบีย โดย “จุรินทร์” กล่าวว่า ได้เข้าหารือรัฐมนตรีพาณิชย์ของชาอุอาระเบีย รวมถึงหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยว กระทรวงอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ กระทรวงการลงทุนและกระทรวงแรงงาน

เปิดดีลการค้าการลงทุนรัฐ-เอกชนดึงซาอุฯ ปักธงไทย

 

ไทยและซาอุดิอาระเบียเห็นชอบทำ FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ (GCC) ประกอบด้วย ซาอุดิอาระเบีย คูเวต การ์ตา โอมาน บาเรนและยูเออี โดยซาอุดิอาระเบียจะประสานอีก 5 ประเทศ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้ถือว่าไทยเป็นกลุ่มประเทศที่ 2 รองจากสิงคโปร์ที่ได้มาทำ FTA 

นอกจากนี้ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย (JTC) โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะเริ่มเจรจาได้ทันที และจะดำเนินการจัดตั้ง JTC ให้ได้ภายในปี 2565

สำหรับภาคเอกชนได้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยมีมูลค่าการค้าขายระหว่างกันแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ซาอุดิอาระเบียสนใจ ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร เครื่องปรุงรส ผักสด เครื่องแกง อาหารกระป๋อง อาหารทะเล ทูน่ากระป๋อง ซาดีนกระป๋อง ผลไม้สด และกระป๋อง รวมทั้งต้องการสินค้าวัตถุดิบการเกษตร ซึ่งเริ่มวางขายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตซาอุดิอาระเบียแล้วในห้าง LuLu hypermarket หรือห้าง Manuel Market

“การนำคณะเยือนซาอุฯ ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะการจัดทำกรอบความร่วมมือการค้าและการลงทุนทั้งเอฟทีเอและ JTC เป็นประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศเป็นอย่างมาก จะทำให้การค้าการลงทุนในทุกมิติของทั้ง 2 ฝ่ายร่วมถึงกลุ่มอาหรับจะเป็นประตูการค้าของไทยอย่างมาก ซึ่งผู้บริโภคซาอุดิอาระเบียชื่นชอบสินค้าไทย" 

ดังนั้น โอกาสที่ตัวเลขส่งออกไทยจะเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้มูลค่าการค้าระหว่างกันเติบโตกว่า 26 %หรือคิดเป็นมูลค่า 1,112 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็นเงินบาทมากกว่า 38,000 ล้านบาท และคาดว่าตลอดปี 2565 จะมีมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ได้อย่างแน่นอน

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่า ซาอุดิอาระเบียเป็นตลาดใหญ่มีประชากรมากที่สุดในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับเกือบ 40 ล้านคน และเศรษฐกิจเติบโตสูงหลังจากมีนโยบาย Saudi Vision 2030 ทำให้ภาครัฐและเอกชนตื่นตัว โดยการเดินทางไปครั้งนี้ถือเป็นโอกาสการส่งออกไทย ประกอบด้วย

1.อาหาร ที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวซาอุดิอาระเบียเพราะตอบโจทย์ความต้องการ ดังนั้นไทยควรเร่งเรื่องของซอฟต์เพาเวอร์ของไทย

2.ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ เพราะขณะนี้การคมนาคมของซาอุฯเริ่มมีมากขึ้น โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมก็กำลังเติบโต การขยายเมืองที่รวดเร็ว จึงมีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้มากตามไปด้วย

3.เครื่องปรับอากาศ ที่มีความต้องใช้ภายในบ้านเรือนและอาคารสำนักงานจำนวนมาก 

4.สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคซาอุดิอาระเบียสูงเช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มอื่น

ส่วนด้านการลงทุนพบว่าซาอุดิอาระเบียเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี ซึ่งเป็นห่วงโซ่ซัพพลายเชนของวัตถุดิบหลายกลุ่มสินค้า เช่น เม็ดพลาสติก ดังนั้นน่าจะเป็นโอกาสของไทยการที่จะต่อยอดกับอุตสาหกรรมของซาอุฯ ที่สำคัญทางภาคเอกชนของซาอุฯได้ชวนนักลงทุนไทยด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และอุตสาหกรรมด้านคอมเพรสเซอร์ไปลงทุนในซาอุอาระเบีย

“ขอฝากรัฐบาลให้เร่งเปิดเจรจาเอฟทีเอไทยกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) เพราะจะเป็นตัวช่วยลดภาษีของทั้ง 2 ประเทศ และซาอุฯเป็นแหล่งน้ำมัน และปุ๋ย ที่ไทยจำต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งการส่งแรงงานที่มีทักษะไปซาอุฯได้ แต่ก็ต้องดูความสมดุลของเราด้วย เพราะแรงงานบางอย่างไทยก็ยังขาดอยู่ เช่น ด้านการแพทย์”

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากนี้ซาอุดิอาระเบียจะจัดสัมมนาออนไลน์เพื่อหารือนักลงทุนไทยใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ให้รับทราบความต้องการของซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะความร่วมมืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ อาหาร และ BCG อีกทั้งความร่วมมือที่ซาอุดิอาระเบียต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยเฉพาะใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

"การเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ พบว่ามีความต้องการการลงทุนอุตสาหกรรมมาก โดยมีทุนแต่ขาดความรู้การผลิตจึงต้องการเชิญนักธุรกิจไทยไปลงทุน พร้อมเสนอสิทธิประโยชน์มากมาย"