กยศ.สูญ 6 พันล้านบาท/ปี ยกเลิกดอกเบี้ย - ค่าปรับ

กยศ. ระบุ กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแก้กฎหมาย กยศ.โดยไม่คิดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ คณะกรรมการกองทุนฯ จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อสถานะกองทุน และการบริหารจัดการเรื่องการปล่อยกู้ให้กับนักเรียนในระยะต่อไป

ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ระบุ กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแก้กฎหมาย กยศ.โดยไม่คิดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ คณะกรรมการกองทุนฯ จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อสถานะกองทุน และการบริหารจัดการเรื่องการปล่อยกู้ให้กับนักเรียนในระยะต่อไป แต่ที่กองทุนกังวลคือ เป็นห่วงว่าผู้กู้จะไม่มีวินัยในการชำระหนี้หากไม่มีการคิดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ผู้กู้จะชำระหนี้ในส่วนอื่นก่อนจะชำระหนี้ กยศ.     

ทั้งนี้ ในแต่ละปีกองทุนจะมีสภาพคล่องที่ได้รับจากการชำระหนี้เงินกู้ ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ประมาณ 6 พันล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุนประมาณ 2 พันล้านบาท ต่อปีเมื่อไม่มีดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ รายรับส่วนนี้ก็จะหายไป 

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กยศ.ต้องเตรียมข้อมูล เพิ่มเติมเพื่อไปชี้แจ้งต่อวุฒิสภา โดยประเด็นสำคัญ คือ เหตุจำเป็นที่จะต้องมีดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ และข้อเท็จจริงของผลกระทบต่างๆ

ปัจจุบัน กองทุนได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 6,284,005 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 702,309 ล้านบาท สำหรับผลการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียน นักศึกษาได้รับอนุมัติให้กู้ยืมจำนวน 638,132 ราย รวมเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 38,879 ล้านบาท สำหรับผลการรับชำระหนี้ในปีงบประมาณ 2565 กองทุนได้รับชำระเงินคืนแล้วกว่า 27,844 ล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุนได้จัดอันดับข้อมูลการชำระหนี้ของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐ และเอกชน จำนวน 313 แห่ง พบว่ามีอัตราเงินต้นค้างชำระเฉลี่ย 61% และเมื่อพิจารณาจากสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีจำนวนผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้มากกว่า 2,000 ราย พบว่าสถานศึกษาที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด 25 อันดับแรกส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุดเป็นอันดับแรก ได้แก่ มหาวิทยาลัยพะเยา และมีมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับคือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์