‘ชโยทิต’ เล็งรื้อเกณฑ์ต่างชาติซื้อบ้านหนุนกลุ่มรายได้สูงพำนักไทยระยะยาว

‘ชโยทิต’ เล็งรื้อเกณฑ์ต่างชาติซื้อบ้านหนุนกลุ่มรายได้สูงพำนักไทยระยะยาว

“ชโยทิต” เตรียมหารือสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยปรับปรุงกฎหมายถือครองที่ดิน - อสังหาริมทรัพย์ให้ทันสมัยหลังกฎหมายเดิมใช้มาตั้งแต่ปี 40 แต่มีคนได้สิทธิ์แค่ 8 ราย เล็งออกกฎหมายให้ซื้่อบ้านจัดสรรได้เพื่อสนับสนุนการอยู่อาศัยในไทย "สุพัฒนพงษ์" เชื่อช่วยดึงลงทุน

หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่านโยบายเรื่องการที่อนุญาตให้นักลงทุน หรือผู้มีรายได้สูงที่มีการลงทุนในไทย 40 ล้านบาทขึ้นไปสามารถถือครองที่ดินได้ 1 ไร่ เป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540

แต่หลังจากที่มีการประกาศใช้มากว่า 25 ปี มีผู้ที่ได้รับอนุมัติเพียงแค่ 8 รายเท่านั้นเนื่องจากมีความยุ่งยากในขั้นตอนการยื่นเอกสาร การอนุมัติให้สิทธิ์ตามที่มีการร้องขอจึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยและมีความสะดวกมากขึ้น โดยเร็วๆนี้จะมีการหารือกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยว่าแนวทางและการปรับปรุงการแก้ไขกฎหมายให้มีความเหมาะสมมากขึ้นกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ในการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากชาวต่างชาติที่สนใจมายื่นใบสมัครในโครงการขอวีซ่าเพื่อพำนักในไทยระยะยาว (LTR VISA) ได้ให้ข้อมูลว่าชาวต่างชาติสนใจที่จะเข้ามาซื้่ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเพื่ออยู่อาศัยปัจจุบันมีความต้องการที่จะซื้่อบ้านจัดสรรเพื่ออยู่อาศัยซึ่งอาจไม่ได้ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่มากถึง 1 ไร่ แต่มีรั้วรอบขอบชิด

ดังนั้นกฎหมายก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดได้ไม่เกิน 49% และคนไทยถือครองได้ 51% อาจจะมีกฎหมายที่ให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในบ้านจัดสรรได้49% เหมือนกับที่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในคอนโดได้เพื่อส่งเสริมในเรื่องนี้ เป็นต้น 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่านโยบายการให้นักลงทุน และผู้ที่จะเข้ามาอยู่อาศัย และชาวต่างชาติที่รายได้สูงเข้ามาอาศัยในประเทศไทย สามารถถือครองที่ดินในประเทศได้ ไม่ใช่กฎหมายใหม่แต่เป็นกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ว่าในช่วงที่มีการผลักดันนโยบายเรื่องนี้รัฐบาลจึงมีการพูดถึงมาตรการนี้ในส่วนหนึ่งของมาตรการจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาอยู่ในประเทศไทย

ทั้งนี้มาตรการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้นักลงทุน หรือชาวต่างชาติที่มีรายได้สูงเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตามในการเลือกเข้ามาเกษียณอายุหรือว่าอยู่ในประเทศใด หรือเมืองใดเมืองหนึ่งในระยะยาวของคนที่มีรายได้สูงก็จะคำนึงถึงหลายองค์ประกอบซึ่งมั่นใจว่านโยบายนี้ช่วยทำให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจเข้ามาอยู่ในประเทศไทยมากขึ้น