5G เต็มพื้นที่แต้มต่อ "อีอีซี" ดึงลงทุนอุตฯ ไฮเทค

5G เต็มพื้นที่แต้มต่อ "อีอีซี" ดึงลงทุนอุตฯ ไฮเทค

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) วางโครงข่ายโทรคมนาคม 5G ครอบคลุมเต็มพื้นที่ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการยกระดับอีอีซีให้เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงของประเทศ และนำร่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

นับตั้งแต่การเปิดตัวเทคโนโลยี 5G ครั้งแรกของโลกในการพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2561 จัดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ ด้วยการบังคับอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) พร้อมกันมากกว่า 1,218 ตัว สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับทั่วโลกที่เทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายยุคที่ 5 มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดทั้งด้านความรวดเร็วและปริมาณในการรับส่งข้อมูลรวมถึงความหน่วงที่ต่ำลง คลื่นความถี่ใช้งานที่กว้างขึ้น ทั้งยังสามารถรองรับปริมาณอุปกรณ์ได้การเชื่อมต่อได้มากกว่า 1 ล้านคนต่อตารางกิโลเมตร จากที่ 4G รองรับได้เพียง 1 แสนคนต่อตารางกิโลเมตร 

ในปัจจุบันเทคโนโลยี 5G กลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม การบริการ และการดำรงชีวิตในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ การแพทย์ ไปจนถึงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และ IoT ในชีวิตประจำวัน โดยรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ได้แก่ กฎหมายดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล 
 

ซึ่งในปี 2563 ไทยได้จัดการประมูลคลื่นความถี่สำหรับสัญญาณ 5G ให้ภาคเอกชนเข้าร่วมประมูล หลังจากนั้นมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ (บอร์ด 5G) เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างรัฐและเอกชน สร้างศักยภาพการแข่งขันและบรรยากาศที่ดีในการลงทุนในประเทศ อีกทั้ง ในการประชุมบอร์ด 5G เมื่อเดือน มี.ค. 2564 มีการอนุมัติหลายโครงการสำคัญเพื่อกระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ และการใช้ประโยชน์จริงจากเทคโนโลยี 5G โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี อาทิ การใช้งานในภาคอุตสาหกรรม นำร่องโรงงานอัจฉริยะในพื้นที่อีอีซี และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะบ้างฉาง สมาร์ทซิตี้

ทั้งนี้ การวางโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี 5G ในพื้นที่อีอีซี เพื่อบรรลุเป้าหมาย 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. โครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพ การวางโครงสร้าง ท่อ เสา สาย สัญญาณ ให้ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี และการตั้งศูนย์กลางข้อมูล (Data Center) คลาวด์ (Cloud) และข้อมูลกลาง (Common Data Lake) เพื่อใช้ในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ได้จากการส่งสัญญาณของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวมถึงเครื่องจักรในโรงงาน ต่อยอดการใช้ประโยชน์ของข้อมูลที่ได้ในอนาคต 

2. คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ การวางโครงข่ายสัญญาณ 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่อีอีซีให้คนในพื้นที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทั้งผู้ประกอบการภาคการผลิตและการบริการ เกษตรกร นักธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมระดับฐานราก และลดความเหลื่อมล้ำ 

3. การพัฒนาบุคคลากร ปรับทักษะบุคลากร New-Up-Re Skill ให้พร้อมรับการทำงานในยุคดิจิทัล ความต้องการ (Demand Driven) ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 40,000 คน ภายใน 3 ปี ปั้นวิศวกรทักษะสูง สั่งสมประสบการณ์ องค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อการต่อยอดเทคโนโลยีในประเทศ 

ขณะนี้ โครงสร้างพื้นฐาน 5G ในพื้นที่อีอีซีแล้วเสร็จ มีความครอบคลุมและรวดเร็วที่สุดในภูมิภาคอาเซียน นำหน้าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนถึง 2 ปี จึงดึงดูดบริษัทด้านดิจิทัลจากต่างประเทศ อาทิ จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป ในการลงทุนด้านธุรกิจดิจิทัลและดาต้าเซ็นเตอร์