EEC เครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวปาฐกถาพิเศษ EEC : NEW Chapter NEW Economy ในงานสัมมนาจัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

โดยระบุว่า  การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่สำคัญผลักดันให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยพื้นที่ดังกล่าวที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด จะมีสัดส่วนต่อจีดีพีราว 10-20% เมื่อรวมกับพื้นที่เศรษฐกิจอื่นในไทย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีสัดส่วนต่อจีดีพี 50% จะทำให้จีดีพีของประเทศในระยะ 4 ปีข้างหน้าสามารถขยายตัวได้ถึง 5-10%

การลงทุนในอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต จีดีพีของไทยมีการเติบโตแบบ Double digit แต่วันนี้ ด้วยเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ของเรา แม้การลงทุนใน EEC จะช่วยขับเคลื่อนได้ แต่ก็อาจจะยากที่ทำได้ในระดับนั้น ถ้า 5-10% ก็พอได้ ถ้าอุตสาหกรรมย้ายเข้ามาลงทุน ก็จะเป็นแรงส่ง ซึ่งเราก็คาดหวังว่า EEC จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

การลงทุนใน EEC นั้น ขณะนี้ อาจจะยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้เต็มที่ ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยการลงทุนใน EEC ดังกล่าว ถือเป็นการกระจายการเติบโต และเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย ฉะนั้น การดีไซน์การลงทุนต้องมีความสมบูรณ์แบบในตัวเอง

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ การลงทุนใน EEC ที่เริ่มเกิดขึ้นก็มีส่วนสนับสนุนการเติบโตของจีดีพีแล้ว โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โดยโครงการเหล่านี้ ภาครัฐได้สนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนในลักษณะPPP เป็นวงเงินรวม 1.8 ล้านล้านบาท 

หลายคนบอกว่า ขณะนี้การลงทุนในพื้นที่ EEC เริ่มแผ่วลง ขณะที่ การลงทุนในเวียดนามกลับมาแรง แต่ถ้าเรามาดูตัวเลขการลงทุน FDI ล่าสุด พบว่า มียอดการลงทุนสูงถึง 2.8 แสนล้านดอลลาร์  โดยเป็นการลงทุนจากต่างประเทศทั้งในอุตสาหกรรมเดิม ซึ่งเป็นการขยายการลงทุน และนำเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึง การลงทุนจากนักลงทุนรายใหม่ โดยเฉพาะจากค่ายรถยนต์ หลังจากรัฐบาลประกาศส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์อีวี
สำหรับ แผนการส่งเสริมการลงทุนใน EEC นั้น รัฐบาลได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งการจะที่ปรับเปลี่ยนการลงทุนจากการลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก หรืออุตสาหกรรมใหญ่ในอีสเทิร์นซีบอร์ดเมื่อปี 2530 มาเป็นอุตสาหกรรมใหม่เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะจะกระทบต่อซัพพลายเออร์ที่มีอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะรัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมเพื่อการเปลี่ยนผ่าน โดยบางอุตสาหกรรมก็ได้เริ่มปรับเปลี่ยนแล้ว เช่น อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องสำหรับการลงทุนในอีวี

ทั้งนี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ใน EEC คงไม่สามารถทำได้เพียงทีเดียวสำเร็จ แต่จะต้องค่อยๆ ปรับไปตามผลกระทบ และโอกาส ซึ่งการนำวิจัย และการพัฒนาหรือ R&D เข้ามาช่วยเสริม จะสามารถสนับสนุนให้อุตสาหกรรมใหม่ใน EEC มีการเติบโต 

นอกจากนี้ ยังต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย เพราะแรงงานขาดแคลน ขณะที่ ความแม่นยำ รวดเร็วก็ไม่ได้ ดังนั้น ระบบ Manual คงใช้ไม่ได้ นี่คือ ทิศทางการลงทุนในอนาคต ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุนจะไปทางไหน ภาคเอกชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งหากมองตามกระแสโลกคงหนีไม่พ้นเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลก็ตอบโจทย์ผ่านการส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์อีวีไปแล้ว

เขายังแนะนำให้ EEC เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่ EEC ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องการเข้ามา ขณะเดียวกัน ยังมอบโจทย์ด้วยว่า ในพื้นที่ EEC ควรมีจุดที่แสดงให้เห็นว่า จุดใดเป็น Smart City ซึ่งจะดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนสร้างสำนักงานใหญ่ในพื้นที่ EECได้ด้วย

EEC ต้องมีชีวิตชีวา ไม่ใช่มีแค่โรงงานอุตสาหกรรม หรือที่พัก แต่ต้องนำศิลปวัฒนธรรมเข้าไปเชื่อมโยง ซึ่งจะก่อให้เกิด Soft Power ตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ของท้องถิ่น ก็ฝากไว้ให้คิด

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์