กทท. เร่งประมูลสัญญา 2 สาธารณูปโภค 'แหลมฉบัง'

กทท. เร่งประมูลสัญญา 2  สาธารณูปโภค 'แหลมฉบัง'

กทท.เดินหน้าแหลมฉบัง 3 เตรียมประมูลงานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค วงเงินราว 7 พันล้านบาท ภายในเดือน ก.ย.2565

การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีความคืบหน้ามาขึ้นทั้งในส่วนการลงทุนของภาคเอกชนในการพัฒนาท่าเทียบเรือ F และการลงทุนในส่วนของภาครัฐ โดยเฉพาะการเตรียมเปิดประมูลงานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค วงเงินราว 7 พันล้านบาท ภายในเดือน ก.ย.2565

บัณฑิต สาครวิศวะ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยระบุว่า ปัจจุบัน กทท.อยู่ระหว่างเร่งรัดการดำเนินงานในส่วนของภาครัฐที่จะต้องลงทุนก่อสร้างส่วนของพื้นที่ถมทะเล งานก่อสร้างฐานรากและระบบสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จ เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนเข้ามาเริ่มบริหารโครงการ

อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา กทท.ได้เริ่มงานส่วนที่ 1 ก่อสร้างทางทะเล โดยมีกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัทพริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท นทลิน จำกัด และบริษัท จงก่าง คอนสตรัคชั่น กรุ๊ปจำกัด (ประเทศจีน) เป็นผู้ดำเนินโครงการในวงเงิน 21,320 ล้านบาท

กทท. เร่งประมูลสัญญา 2  สาธารณูปโภค \'แหลมฉบัง\'

“ตอนนี้เราเริ่มงานส่วนที่ 1 ถมทะเลอยู่ ซึ่งมีการทยอยส่งมอบงานมาแล้วบางส่วน โดยการท่าเรือฯ จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จตามแผนในปี 2566 ระหว่างนี้เรายังอยู่ระหว่างเตรียมเริ่มงานส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค กำลังเตรียมเปิดเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าจะประกาศได้ภายในเดือน ก.ย.นี้”

สำหรับงานจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 2) งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค มีวงเงินราว 7,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยงานก่อสร้างระบบถนน งานอาคาร งานระบบสาธารณูปโภค งานท่าเรือชายฝั่งและงานท่าเรือบริการ โดยงานส่วนนี้ กทท.ต้องเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด เอกชนคู่สัญญา เข้ามาดำเนินการติดตั้งระบบและเริ่มบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

นอกจากนี้ กทท.ยังอยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลงานส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ รวมไปถึงงานส่วนที่ 4 งานจัดหา ประกอบ และติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยคาดว่าทั้งหมดจะดำเนินการประกาศประกวดราคาแล้วเสร็จภายในปีนี้ ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาเริ่มบริหารตามแผนในปี 2568

 

เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า ตอนนี้ กทท.อยู่ในช่วงของการเตรียมงานฐานรากให้กับเอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ และส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาเริ่มบริหารตามแผนในปี 2568 ขณะเดียวกันทางภาคเอกชนก็ดำเนินงานคู่ขนานในส่วนของการวางแผนธุรกิจ และวิเคราะห์ความเหมาะสมของการบริหารท่าเรือ ซึ่งส่วนนี้ก็จะรวมไปถึงการจัดทำแผนเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับโครงการแลนด์บริดจ์ตามนโยบายรัฐบาลด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันเหลือเวลาอีกประมาณ 3 ปี ในการเตรียมความพร้อมเปิดท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะเพิ่มความสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจาก 11 ล้านที.อี.ยู เป็น 18 ล้าน ที.อี.ยู และเมื่อโครงการแลนด์บริดจ์แล้วเสร็จในปี 2572 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณเรือขนส่งสินค้าใช้บริการอีกไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นลำต่อปี จากนั้นจะเติบโตมากขึ้นถึง 8-9 หมื่นลำต่อปี โดยระหว่างนี้ กทท.อยู่ระหว่างเร่งศึกษาวิเคราะห์แผนบริหารจัดการท่าเรือเชื่อมโยงกันให้มีประสิทธิภาพ

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ตามแผนพัฒนาจะมีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น ภาครัฐลงทุนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ในส่วนของงานโครงสร้างพื้นฐานที่ระบุไว้ข้างต้น ขณะที่เอกชนลงทุนประมาณ 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 

1.ลงทุนในท่าเทียบเรือ F ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ที่ปัจจุบันได้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นผู้ร่วมลงทุน 

2.ท่าเทียบเรือ E ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท

3.ท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5 พันล้านบาท จะเป็นแผนลงทุนในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือราวปี 2573

รายงานข่าวจาก กทท.ระบุว่า กระทรวงคมนาคมจะมีการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ที่อยู่ใน “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” (อีอีซี) ที่กำลังจะเปิดให้บริการในปี2568กับโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งที่รัฐบาลกำลังสนับสนุนและมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2572 เป็นอีกโจทย์สำคัญ 

ทั้งนี้ กทท.จะเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาศึกษาและต่อยอดเส้นทางเดินเรือเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน เป้าหมายลดระยะเวลาการเดินทางจากท่าเรือแหลมฉบังโดยไม่ต้องไปอ้อมมะละกา ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์

สำหรับโครงการท่าเรือในอีอีซีจะเปิดให้บริการในปี 2568 สิ่งสำคัญ โดย กทท.จะเตรียมความพร้อมในการบริหารโลจิสติกส์ทางน้ำนี้ให้มีประสิทธิภาพ และต้องต่อยอดการเชื่อมโยงเข้ากับท่าเรือในแลนด์บริดจ์ ถือเป็นเรื่องท้าทายที่ กทท.ต้องทำและจะบริหารอย่างไรให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย นำเอาเทคโนโลยีมาใช้

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมอบนโยบายให้ กทท.รวม 3 ประเด็น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการขยายตัวของขนส่งทางน้ำ และยกระดับท่าเรือให้เป็นประตูประเทศ ประกอบไปด้วย

1.การรักษาประสิทธิภาพการดำเนินงาน และพัฒนาเรื่องการบริหารจัดการรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือ

2.เตรียมพร้อมรองรับการเปิดพื้นที่อีอีซีในปี 2568 ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ

3.เร่งศึกษาแนวทางเชื่อมโลจิสติกส์อ่าวไทย-อันดามัน รวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ทางน้ำ