รัฐผนึกกำลังเอกชน สร้างอีโคซิสเต็มหนุนสตาร์ตอัปโต

รัฐผนึกกำลังเอกชน สร้างอีโคซิสเต็มหนุนสตาร์ตอัปโต

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โชว์ผลงานปี 2565 ผนึกกำลังภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อนดีพเทคสตาร์ตอัปไทยกว่า 71 ราย เชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร และแหล่งเงินทุน เผยปี 2566 เตรียมนำร่องใช้โซลูชันจากสตาร์ตอัปในหน่วยงานรัฐ และภาคอุตสาหกรรม

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการขับเคลื่อนสตาร์ตอัปไทยตามนโยบายของรัฐบาลว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินงาน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ และธุรกิจใหม่ หรือ Angel Fund โดยร่วมมือกับบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สนับสนุนเงินทุนแบบให้เปล่ากับสตาร์ตอัประยะเริ่มต้น (Early Stage) 

2. โครงการเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup Connect มุ่งพัฒนาทักษะการดำเนินธุรกิจ เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกกลุ่ม เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการตลาดอย่างเหมาะสม

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานของทั้ง 2 โครงการ ในปี 2565 สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ประเทศกว่า 420 ล้านบาท โดยมี 6 ธุรกิจที่ผ่านการคัดเลือก ได้รับเงินรางวัลเป็นทุนสนับสนุนการจัดตั้งบริษัท รวม 4 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน ยังเปิดช่องทางให้สตาร์ตอัปทำงานร่วมกับพันธมิตรเอกชนรายใหญ่ในการร่วมกันสร้างนวัตกรรม และโซลูชันที่ตอบโจทย์การใช้งานของตลาดจริงในรูปแบบ co-creation

ทั้งนี้ สตาร์ตอัปที่ร่วมโครงการมีความเกี่ยวข้องกับ “เทคโนโลยีเชิงลึก” (Deep Technology) ทั้ง 12 ด้าน อาทิ การแพทย์ครบวงจร การเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ แพลตฟอร์มดิจิทัล เทคโนโลยีการเงิน และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหุ่นยนต์ 

 

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม กล่าวว่า เพื่อการขับเคลื่อนสตาร์ตอัปไทยอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 ดีพร้อมจะร่วมมือกับภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนอย่างเข้มข้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายตลาดภาครัฐควบคู่ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแต้มต่อสำคัญให้สตาร์ตอัปนำผลิตภัณฑ์หรือบริการเข้าไปร่วมทดสอบ (Prove of concept: POC) หรือทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ
และอุตสาหกรรมได้มากขึ้น

โดยมุ่งเป้าสนับสนุนเทคโนโลยีด้าน GovTech ที่ช่วยให้ภาครัฐทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง IndustryTech เทคโนโลยี และโซลูชันที่ถูกคิดค้น และพัฒนาเพื่อกระบวนการทางอุตสาหกรรม และเป็นวิศวกรรมขั้นสูงที่แก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรมตรงจุด เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของสตาร์ตอัปให้แข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และระบบเศรษฐกิจประเทศต่อไป

นายจาง ช่าย ซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัท ยังคงทำงานร่วมกับดีพร้อมด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนกับสตาร์ตอัปที่คิดค้นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีแก้ไขปัญหาของโลกในด้านต่างๆ โดยบริษัท มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของสตาร์ตอัปที่ได้รับการบ่มเพาะจากโครงการตลอด 7 ปี

ทั้งนี้ สตาร์ตอัปที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ และพัฒนาธุรกิจเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น ช่วยดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มผู้สนับสนุนที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต เพราะโลกธุรกิจปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี จึงต้องการนวัตกรรมมาตอบโจทย์อย่างไม่หยุดนิ่ง 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์ รัฐผนึกกำลังเอกชน สร้างอีโคซิสเต็มหนุนสตาร์ตอัปโต