กรมชลหวั่นฝนทะลักคลองเล็ก ยันน้ำเหนือยังไม่หนุน ขณะ กฟผ. เล็งปิดระบายน้ำ

กรมชลฯ ยืนยัน 4 เขื่อนหลักระบายน้ำน้อย ห่วงฝนตกหนักท่วมภาคกลาง ล้นคลองเล็กกระทบประชาชน เร่งสูบลงคลองรังสิต ผันสู่บางปะกงลงทะเล กฟผ.เล็งปิดระบายน้ำ "ภูมิพล-สิริกิติ์" ชี้มีน้ำจุแค่ 55 % นักวิชาการ ลั่นไม่ซ้ำรอยปี 54
นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ ววน.เสริมทัพรับมือน้ำท่วม” ว่า ลุ่มเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำแต่ไม่มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง ดังนั้น จึงมีปัญหาทุกปีทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งกรมชลประทาน มีหน้าสำคัญที่จะบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยา โดยน้ำที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ดังกล่าวแบ่งได้ เป็น 3 ประเภท คือ
- น้ำฝน
- น้ำทะเลหนุน
- น้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือ
ซึ่งในที่นี้หมายถึงน้ำที่ปล่อยจาก 4 เขื่อนหลัก ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์
ปัจจุบันสภาพปัญหาพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา รวมทั้งกรุงเทพฯ คือ น้ำท่วมที่เกิดจากน้ำฝนที่ตกหนักมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำท่า คลองต่างๆมีปริมาณสูงขึ้น
ในขณะที่ กทม.มีน้ำท่วมขังเป็นบางจุด กรมชลประทานได้เข้ามาช่วยเร่งระบายน้ำร่วมกับ กทม. เพื่อให้ออกสู่ทะเลเร็วที่สุด ด้วยวิธีการผันน้ำออกฝั่งซ้ายและขวา ของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หลักๆ จะออกทางฝั่งซ้ายคือทิศตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ด้วยการผันน้ำเข้าทั้งคลองชั้นนอก กทม.และคลองชั้นใน กทม.
สำหรับคลองชั้นนอก คือ คลองรังสิต ซึ่งมีประตูระบายน้ำรังสิตประยูรศักดิ์ และประตูระบายน้ำเสาวภาผ่องศรี เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการสูบลงแม่น้ำบางปะกงเพื่อออกทะเล
อย่างไรก็ตามเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกหนักเกินค่าเฉลี่ยโดยวัดได้ที่ห้างสรรสินค้าเซียร์รังสิต เมื่อวันที่ 8-9 ก.ย.2565 มากถึง 149 มิลลิเมตร และตกช่วงเวลาสั้นส่งผลให้มีปริมาณน้ำสะสมในพื้นที่ถึง 16 ล้าน ลบ.ม.ขณะที่การระบายน้ำออกทั้งคลองรังสิตทำได้เพียง 6-7 ล้าน ลบ.ม.ทำให้ยังเหลือน้ำค้างในพื้นที่และใช้ระยะเวลาระบายออกอย่างน้อย1-2 วัน ซึ่งปัจจุบันน้ำลดลงแล้ว
ส่วนคลองด้านใน กทม.ที่เป็นคลองรอยต่อ คือ คลองหกวาและคลองแสนแสบ โดยกรมชลประทานได้สูบออกเต็มกำลัง 60 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อลงคลองบางขนากเพื่อลงสู่แม่น้ำบางปะกงและออกทะเล แต่ด้วยสภาพแม่น้ำบางปะกงที่อยู่สูงกว่าเขตกรุงเทพฯ การสูบน้ำออกจำนวนมากจะส่งผลกระทบได้ การดำเนินการระบายน้ำจึงต้องทำสอดคล้องกัน ปัจจุบันการสูบน้ำลงแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งคลองชายทะเลต่างๆ มีประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน
สำหรับทิศตะวันตก กรมชลประทานได้ผันน้ำลงแม่น้ำน้อย ผ่านประตูระบายน้ำบรมธาตุ 30 ล้าน ลบ.ม. และแม่น้ำท่าจีน ที่ประตูระบายน้ำพลเทพ รวม 20 ล้าน ลบ.ม. เพื่อออกทะเลที่ จ. สมุทรสาคร ในขณะที่ยังไม่มีการระบายน้ำเข้าทุ่งพระยาบันลือแต่อย่างใด เพราะยังไม่มีความจำเป็น และการระบายน้ำเข้าทุ่งดังกล่าวจะส่งผลให้น้ำท่วมทั้งอำเภอบางบัวทอง จ.นนทบุรี
“ทั้งหมดนี้เป็นการบริหารจัดการที่ใช้รับมือกับน้ำฝนที่ตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ในกรณีที่ยังไม่มีฝนตกลงมาซ้ำ การระบายน้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 วันนี้ แต่จากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าจะยังมีฝนตกหนักในเขตนี้นั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมขังในบางจุด แต่จากสภาพคลองใหญ่ๆ ที่พร่องน้ำไปบางแล้วคาดว่าจะรับมือได้ ที่น่าเป็นห่วงคือคลองเล็กๆที่ไม่มีเครื่องมือระบายน้ำตั้งอยู่ จะมีปัญหาน้ำล้นฝั่งและกระทบกับประชาชน“
น้ำเหนือใน 4 เขื่อนหลัก
ปัจจุบันมีการระบายน้อยมาก เนื่องจากปริมาณน้ำรวมทั้งหมดมีเพียง 56% หรือ 1.3 หมื่นล้าน ลบ.ม.รับน้ำได้อีก 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. ยกเว้นเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีมากเกือบเต็มความจุอ่างฯ ต้องระบายออก เพราะเป็นเขื่อนขนาดเล็กมีความจุอ่างละ 1,000 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2565
- เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำ 7,437 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 55 % ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 3,637 ล้าน ลบ.ม.หรือ 38% รับน้ำได้อีก 6,025 ล้าน ลบ.ม.
- เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 5,580 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 59 % ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 2,730 ล้าน ลบ.ม. หรือ 41% รับน้ำได้อีก 3,930 ล้าน ลบ.ม.
- เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำ 680 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 72% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 637 ล้าน ลบ.ม. หรือ 71% รับน้ำได้อีก3,930 ล้าน ลบ.ม.
- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำ 337 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 35% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 334 ล้าน ลบ.ม.หรือ 35% รับน้ำได้อีก 623 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำที่ปล่อยจาก 4 เขื่อนหลัก จะผ่านสถานีน้ำที่สำคัญ 2 แห่งคือ
- สถานี C2 ที่นครสวรรค์ ปัจจุบันที่การระบายน้ำผ่าน 1,773 ลบ.ม.ต่อวินาที เทียบกับปี 2554 ที่มีน้ำผ่าน 3,200 ลบ.ม. ต่อวินาที
- สถานี C 29 ที่บางไทร ปัจจุบันมีน้ำไหลผ่าน 1,806 ลบ.ม.ต่อวินาที เทียบกับปี 54 ที่มีน้ำไหลผ่าน 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที
น้ำจากทั้ง 2 สถานีจะไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาที่ C 13 จ.ชัยภูมิ เป็นตัวทดน้ำ ระบายลงเจ้าพระยา ตามปริมาณที่สอดคล้องกับน้ำเหนือเขื่อน และตามความจำเป็นของการใช้น้ำ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ หรือแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุน ปัจจุบันที่มาการระบาย 1,698 ลบ.ม.วินาที เท่านั้น
“จะเห็นได้ว่าน้ำจากเขื่อนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับน้ำท่วมกรุงเทพฯ เพราะกรมชลประทานต้องการหน่วงน้ำและเก็บไว้ใช้ในช่วงแล้งให้มากที่สุด โดยคาดว่าในวันที่ 1 พ.ย. นี้จะสามารถเก็บน้ำที่ใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก ดังกล่าว ประมาณ 9,000-10,000 ล้าน ลบ.ม.ปัจจุบันเก็บได้แล้ว 7,700 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับปริมาณที่เก็บได้ในปีที่ผ่านมา
โดยปริมาณน้ำดังกล่าวคาดว่าเพียงพอจะสนับสนุนให้ทำนาปรังในเขตชลประทานได้ 4 ล้านไร่ แต่ทุกปีจะเกินกว่าที่กำหนด เคยสูงสุดมีมากถึง 11 ล้านไร่ ซึ่งต้องขอความร่วมมือกับชาวนาไม่ให้ขยายพื้นที่เพราะยังเสี่ยงต่อการขาดน้ำ”
นายไชยพงษ์ เทพประสิทธิ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า จากสภาพน้ำในเขื่อนขณะนี้ คาดว่ากรมชลประทานจะบริหารจัดการได้ และมั่นใจว่าน้ำจะไม่เข้าท่วม กทม.เหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน
เนื่องจากน้ำเหนือไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤติ โดย พิจารณาจากการปล่อยน้ำ สถานี C2 คาดว่าตลอดฤดูฝนนี้จะมีน้ำไหลผ่านไม่เกิน 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที จากปี 2554 ที่มีน้ำไหลผ่านเต็มศักยภาพ 3,590 ลบ.ม. ต่อวินาที สถานีC29 เพื่อปล่อยน้ำเข้าเขื่อนเจ้าพระยาและพระราม 6 มีน้ำไหลผ่าน เพียง 2,300 ลบ.ม. เทียบกับปี 54 ที่มีน้ำไหลผ่านเต็มศักยภาพ 3,500 ลบ.ม. ต่อวินาที
นางวันเพ็ญ แก้วแกมทอง หัวหน้ากองจัดการทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ ยังมีอยู่น้อย ซึ่ง กฟผ.ต้องการปิดการระบายด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากมีบางพื้นที่ ที่ต้องการน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคทำให้ยังต้องระบายอยู่ แต่ในปริมาณที่น้อยมาก ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์และสิรินธรที่มีน้ำมากจำเป็นต้องระบายออก
เขื่อนสิรินธรมีปริมาตรน้ำ 1,439 ล้าน ลบ.ม. หรือ 73.24 % ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้ 608 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลเข้า 11.10 ล้าน ลบ.ม. และระบาย 10.39 ล้าน ลบ.ม.
เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาตรน้ำ 1,360 ล้าน ลบ.ม. หรือ 55.96 % ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 779 ล้าน ลบ.ม.ปริมาตรน้ำไหลเข้า 60.31 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำระบายออก 17.52 ล้าน ลบ.ม.