รฟม.เมินเสียงต้านชิง 'สายสีส้ม' BTS ลุ้นคดีขอเพิกถอนประมูล

รฟม.เมินเสียงต้านชิง 'สายสีส้ม' BTS ลุ้นคดีขอเพิกถอนประมูล

รฟม.เปิดซอง 3 ข้อเสนอการเงินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ท่ามกลางการคัดค้านประเด็นคุณสมบัติผู้ประมูล เผยข้อเสนอทางการเงินของ “บีอีเอ็ม” ชนะ “ไอทีดี” ด้าน “บีทีเอส” เกาะติดคดีศาลปกครอง เล็งเสนอข้อมูลใหม่ให้ศาลพิจารณาปมคุณสมบัติผู้ประมูล

การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ยังคงเดินหน้าต่อถึงแม้จะมีการตั้งข้อสังเกตคุณสมบัติการเป็นผู้ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2562 ที่ระบุลักษณะเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุน

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า ตามที่ รฟม.ได้มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งใหม่ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2565 และได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.-10 มิ.ย.2565 โดยมีเอกชนผู้สนใจเข้าซื้อเอกสาร RFP ทั้งสิ้น 14 ราย

รวมทั้งต่อมาบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเชิญชวนฉบับเดือน พ.ค.2565 และเอกสาร RFP รวมถึงประกาศกับมติที่เกี่ยวข้องด้วย และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 8  ส.ค.2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTS ร้องขอแล้ว นั้น

รฟม.รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ดังนี้

1.ในวันที่ 27 ก.ค.2565 ซึ่งเป็นกำหนดการยื่นข้อเสนอ ปรากฎว่ามีผู้มายื่นข้อเสนอการร่วมลงทุน จำนวนทั้งสิ้น 2 ราย ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM และ ITD Group ประกอบด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD และ Incheon Transit Corporation บริษัทเดินรถจากเกาหลีใต้

2. รฟม. คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ พร้อมทั้งผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้ร่วมเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2565

ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอซองที่ 1 และได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 แล้วเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2565 โดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายเป็นผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1

3. รฟม. คณะกรรมการคัดเลือกฯ และเอกชนผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 พร้อมทั้งผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้ร่วมเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 โดยได้ตรวจสอบพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 แล้วเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 โดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายเป็นผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2

4.ในวันที่ 7 ก.ย.2565 รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน โดยมีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมและผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 เข้าร่วม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งมีผลการยื่นข้อเสนอในเบื้องต้น ดังนี้

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท

ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท

สำหรับผลประโยชน์สุทธิคือ เงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม.หักลบด้วยจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม. ซึ่ง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) เป็นผู้เสนอเงื่อไขทางการเงินดีที่สุด

ทั้งนี้ต่อไป รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อเสนอดังกล่าวและดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยเคร่งครัด

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า บริษัทฯ กำลังติดตามความคืบหน้าของแต่ละคดี และกรณีที่มีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ประมูลตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ว่าจะดำเนินการตามข้อกฎหมายอะไรได้เพิ่มอีกหรือไม่ หรืออาจยื่นข้อมูลเพิ่มเติมให้กับศาล

ทั้งนี้ คดีที่เกี่ยวข้องกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.ประกอบด้วย

1.คดีที่ BTS ฟ้องกรณีปรับหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคดีนี้ศาลปกครองกลางยกคำร้องขอให้ชดเชยความเสียหาย 500,000 บาท แต่ในคำพิพากษาได้ระบุถึงการยกเลิกการประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลปกครองสูงสุดนัดแถลงปิดคดีในวันที่ 15 ก.ย.2565

2.คดีที่ BTS ฟ้องกรณียกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง รฟม.ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

3.คดีที่ BTS ฟ้องกรณี RFP ของการประมูลครั้งล่าสุดไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกีดกัน โดยขอให้ศาลเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเชิญชวนครั้งที่ 2 ฉบับเดือน พ.ค.2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยได้ขอคุ้มครองชั่วคราวการประมูลด้วยแต่ศาลยกคำร้อง และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการไต่สวน

รายงานข่าวระบุว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ มีการทักท้วงประเด็นคุณสมบัติของผู้ร่วมทุน กรณีนายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการ ITD ถูกดำเนินคดีถึงที่สิ้นสุดให้จำคุก โดยผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และผู้แทนสำนักงบประมาณ เสนอให้ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน