'คมนาคม' ดัน ทอท.เข้าบริหาร 3 สนามบินภูมิภาคต้นปี 2566

'คมนาคม' ดัน ทอท.เข้าบริหาร 3 สนามบินภูมิภาคต้นปี 2566

คมนาคมดัน ทอท.เข้าบริหาร 3 ท่าอากาศยานภูมิภาคต้นปี 2566 “นิตินัย” แจง 3 เหตุผลต้องเป็น ทอท. พร้อมประเมินสัญญา 30 ปี ประหยัดงบลงทุนรัฐสร้างรายได้ให้ประเทศแตะ 5 หมื่นล้านบาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าไปผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยาน แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับความเห็นของกระทรวงการคลังมาพิจารณา พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนรายงานให้ ครม.รับทราบภายใน 2-3 เดือนนี้ ซึ่งคาดว่า ทอท. จะเริ่มทยอยเข้าไปบริหารท่าอากาศยานได้ภายในต้นปี 2566

สำหรับรูปแบบการดำเนินการของ ทอท. ในการเข้าไปบริหารจัดการท่าอาอากาศยาน ทอท.จะต้องไปดำเนินการขอเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ท่าอากาศยานจากกรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของพื้นที่ พร้อมทั้งไปดำเนินการตีมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) เพื่อนำมูลค่าวงเงินดังกล่าว เข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานให้มีความเข้มแข็งต่อไป

อย่างไรก็ดี เป้าหมายสูงสุดของการมอบสิทธิให้ ทอท.เข้าไปบริหารท่าอากาศยาน เนื่องจากต้องการกระจายความหนาแน่นของผู้โดยสารไปยังท่าอากาศยานอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เพราะในปัจจุบันผู้โดยสารกระจุกตัวอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง โดยนโยบายของกระทรวงฯ ไม่เพียงกระจายผู้โดยสารในเส้นทางบินระหว่างประเทศ (International) แต่จะเป็นการสร้างโอกาสเกิดศูนย์กลางด้านการบิน (Hub) กระจายผู้โดยสารเส้นทางภายในประเทศ (Domestic) เอื้อต่อการเดินทางข้ามภูมิภาคมากขึ้น

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า การให้สิทธิ ทอท.เข้าไปบริหาร 3 ท่าอากาศยานมี 3 คำถามที่เป็นเหตุผล คือ 1. บริบททางการบินของประเทศไทยควรมีฮับทางภาคอีสานหรือไม่ หากตอบว่าไม่มีก็จบ ไม่ต้องดำเนินการ แต่ทางกระทรวงคมนาคมเห็นว่าตามยุทธศาสตร์ทางการบินต้องมี ดังนั้นจึงต้องมีการอัพเกรดท่าอากาศยานให้ได้มาตรฐานสากล ทำให้เกิดเส้นทางบินตรงได้

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC) ต้องปรับสูงขึ้น แต่อีกกลุ่มที่บินตรงก็จะประหยัดเพราะจ่าย PSC แค่ครั้งเดียว โดยไม่ต้องมาลงเปลี่ยนเครื่องจ่าย PSC ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือท่าอากาศยานดอนเมือง อีกทั้งเมื่อมียุทธศาสตร์การสร้างฮับ ที่ต้องสร้างเกตเวย์เริ่มต้นเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน ศักยภาพของท่าอากาศยานอุดรธานีก็จะกลายเป็นฮับเชื่อม สปป.ลาว และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ก็จะเชื่อมกัมพูชา

2. เพราะเหตุใดทำไมต้องเป็น ทอท. เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเห็นว่า ทอท.มีผู้โดยสารในมือ 85% หรือ 142 ล้านคน ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 และมีเครื่องมือในการทำการตลาด สร้างแรงจูงใจในการโอนผู้โดยสารไปยังท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง และสนับสนุนการสร้างฮับได้ อีกทั้ง ทอท.ยังมีเงินทุน โดยไม่ต้องขอเงินสนับสนุนจากภาครัฐเหมือนที่ ทย.ดำเนินการต้องมีงบประมาณอุดหนุน ดังนั้น ทอท.ก็สามารถดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานตามแผนได้เลย ซึ่งคาดว่าการปรับปรุงท่าอากาศยานให้ได้มาตรฐานจะต้องใช้เงินทุนประมาณ 4-5 พันล้านบาท 

และ 3. ผู้โดยสารมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เรื่องนี้เมื่อ ทอท.เข้าไปบริหารก็จะมีการจัดเก็บค่าโดยสารตามมาตรบานสากล ซึ่งการให้จ่ายค่า PSC ถูกแล้วทำให้ต่างชาติบินเข้ามาโดยตรงได้ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำให้เกิดพร้อมกันได้ เพราะค่าบริการจะต้องอิงมาจากมาตรฐานของท่าอากาศยาน ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มีการคุมไม่ให้ท่าอากาศยานเก็บค่า PSC เกินจากต้นทุนอยู่แล้ว เพราะจะสามารถบวกค่าบริหารจัดการได้นิดหน่อย

ส่วนกำไรที่ได้จากการบริหาร 3 ท่าอากาศยานนั้น ทอท.ยังยืนยันว่ากระทรวงการคลังถือหุ้นใน ทอท. 70% ขณะที่ ทอท.ยังต้องจ่ายภาษีโรงเรือน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งหากเป็น ทย.บริหาร นอกจากพึ่งพางบประมาณรัฐในการลงทุนพัฒนาแล้ว รัฐไม่ได้รับรายได้หรือการจ่ายภาษีต่างๆ  ซึ่งคำนวณจากสัญญา 30 ปีที่จะได้สิทธิบริหาร จะสามารถช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในการลงทุนและสร้างรายได้ต่างๆ เกิดประโยชน์แก่ประเทศมูลค่าประมาณ 4.9-5 หมื่นล้านบาท 

ทั้งนี้ ท่าอากาศยานภูมิภาคที่ ทอท.เตรียมเข้าไปรับมอบสิทธิบริหารนั้น ประกอบด้วย ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ โดยเบื้องต้น ทอท.ได้กำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง มีกรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 9,199.90 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงา เปิดให้บริการในปี 2574) หรือวงเงินลงทุนรวม 10,471 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ)

โดยวงเงินลงทุนดังกล่าว แบ่งเป็น ท่าอากาศยานอุดรธานี กรอบวงเงินลงทุน 3,523 ล้านบาท, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ 460 ล้านบาท และท่าอากาศยานกระบี่ แบ่งเป็น วงเงินลงทุน 5,216 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาเปิดให้บริการในปี 2574) และกรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 6,487 ล้านบาท

ซึ่งตามแผนการให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการแทน ทย. จะเป็นการเพิ่มศักยภาพและบทบาทของท่าอากาศยานในภูมิภาคของ ทย. ที่ปัจจุบันมีบทบาทเป็นท่าอากาศยานระดับจังหวัด (Local airport) เพื่อยกระดับเป็นท่าอากาศยานระดับภาค (Regional Airport) และท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง (Secondary Hub Airport) ในอนาคต