ครม.รับทราบการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

ครม.รับทราบการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

ครม.รับทราบรายงานการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ดันประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบรายงานการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(COP 26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 

โดยได้กล่าวถ้อยแถลงยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในหรือก่อนปี 2065 และมีมติครม.เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเตรียมการดำเนินงานตามภารกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ตามถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีในการประชุมดังกล่าว

ทั้งนี้ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จัดทำโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2574 เป้าหมายเนื้อที่ 300,000 ไร่ ในพื้นที่ 23 จังหวัด ดำเนินการในปี 2565 เนื้อที่ 44,712 ไร่เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนและชุมชนชายฝั่งเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ และส่งเสริมให้มีการปรับตัวเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

เป็นการรองรับภารกิจข้อตกลงในการมีส่วนร่วมและมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต และยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าชายเลนที่ถูกบุกรุกหรือเสื่อมโทรมให้กลับคืนสภาพเป็นป่าชายเลนที่มีระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 นอกจากนี้ยังจะมีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้น มีการบำรุงรักษาต่อเนื่อง 10-30 ปี สามารถประหยัดงบประมาณภาครัฐไม่น้อยกว่า 600-700 ล้านบาทต่อปี และการมีระบบนิเวศป่าชายเลนที่สมบูรณ์ จะเกิดการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชนชายฝั่ง ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในการจับสัตว์น้ำ เก็บหาสมุนไพร การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และนิเวศบริการอื่นๆได้ตามวิถีชุมชนปกติ

นอกจากนี้คาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการปลูกป่าชายเลน สามารถใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่างๆ ในระบบทะเบียนของ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย(T-VER) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปสนับสนุนให้ชุมชนใช้ในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่

ขณะเดียวกันยังเป็นการเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐในการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนให้เกิดความยั่งยืน และประเทศไทยจะมีฐานข้อมูลการกักเก็บคาร์บอนภาคป่าชายเลน