กยท.ต่อยอดนวัตกรรม ยางพาราแห่งความยั่งยืน

กยท.ต่อยอดนวัตกรรม  ยางพาราแห่งความยั่งยืน

การต่อยอดงานวิจัย สร้างนวัตกรรม เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ควบคู่ไปการให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวใจหลักของนโยบาย“Greener Better”

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในโครงการNatural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSUเพื่อนำแนวคิดบวกกับนวัตกรรม และเงินทุน ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์การวิจัยต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเจรจาซื้อขาย การค้า ทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มมูลค่าสินค้า

 

กยท.ต่อยอดนวัตกรรม  ยางพาราแห่งความยั่งยืน

กยท.ต่อยอดนวัตกรรม  ยางพาราแห่งความยั่งยืน

โดยมีแนวทางการคิดค้นนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์เพื่อสัตว์เลี้ยงปศุสัตว์ สิ่งแวดล้อม ลดขยะโดยการนำกลับมาใช้ใหม่ ลดการใช้พลังงาน เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการเลือก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 

1.กลุ่มนวัตกรรมเพื่อสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์และการเกษตรเช่น รองเท้าโคจากยางพารา เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพของโค ลดอาการบาดเจ็บได้ หนังเทียมวัสดุทางการเกษตรและยางพารา สร้างมูลค่าของสินค้าเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีทำให้เกิดวัสดุใหม่

 

2.กลุ่มนวัตกรรมเพื่อลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซพิษ เพื่อสิ่งแวดล้อมเช่น ทุ่นลอยน้ำ ที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย ออกแบบให้ต่อเหมือนจิ๊กซอว์ โดยสามารถวางแผงโซล่าเซลล์ลอยน้ำได้ หรือใช้เป็นกระชังเลี้ยงสัตว์ แพลอยน้ำ บ้านน็อคดาวน์ได้ ทุ่นกักขยะและทุ่นกักน้ำมันยางพารา

โดยนำยางพารามาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นทุ่นลอยน้ำ ใช้กักขยะและกักน้ำมันทดแทนโฟม ซึ่งมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าโฟมธรรมดา ทดทานต่อน้ำมันและไม่ปลดปล่อยสารที่เป็นพิษต่อแหล่งน้ำ ปุ๋ยอินทรีย์เคลือบยางพารา ในรูปแบบอัดเม็ดที่เคลือบผิวด้วยกาวยางพาราสูตรพิเศษ ช่วยควบคุมการปลดปล่อยปุ๋ยให้ออกมาช้าๆร่วมกับการปลดปล่อยเชื้อจุลินทรีย์ไตรโคเดอร์มา ทำให้พืชแข็งแรง พร้อมทั้งลดมลพิษในอากาศ

ปุ๋ยมูลจิ้งหรีดเคลือบยางพารา เป็นผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของมูลจิ้งหรีด 70% น้ำยาง 30% เป็นการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งการเคลือบด้วยยางธรรมชาติจะทำให้ปุ๋ยละลายช้าขึ้นเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืช

และ 3.กลุ่มนวัตกรรม Upcycleเพื่อลดขยะและการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการทำหวายเทียมยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก

“ ในขณะนี้โครงการมีสินค้าต้นแบบแล้ว พร้อมที่จะนำมาต่อยอด เพื่อเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเจรจาซื้อขาย การค้า ทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มมูลค่าสินค้า พัฒนาให้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย BCG Model “

ณกรณ์ กล่าวว่า ก้าวต่อไปของ กยท.คือขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางให้สามารถเพิ่มมูลค่า แข่งขันได้ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานรากควบคู่ไปกับการผลักดันโครงการบริหารจัดการ Carbon credit ในสวนยางเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ เนื่องจากยางพาราสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 4.22 ตันต่อไร่ ถือเป็นโมเดลสำคัญให้กับพืชอื่นในการบริหารจัดการเรื่อง Carbon credit