โควิดดัน ‘หนี้ครัวเรือน’ ทะลุ 5 แสน! สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยชี้จากปัญหาโควิดปิดประเทศทำให้คนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นต่อเนื่อง แถมปีนี้เจออุบัติเหตุเศรษฐกิจโลกหนุนทำให้หนี้สูง ย้ำแต่ไม่กังวลเพราะหนี้จะลดลงได้จากการลงทุนรัฐและเอกชน

 อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ระบุ จากการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปีนี้ พบว่า คนไทยเกือบ 100% มีหนี้ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล และบัตรเครดิต โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือน/ต่อครัวเรือน แต่รายได้ต่อครัวเรือนยังน้อยกว่ารายจ่าย ทำให้การใช้ไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันค่าครองชีพสูงเกินไป

โดยกลุ่มตัวอย่างถึง 99.6% มีหนี้สิน จากหนี้ส่วนบุคคล จากบัตรเครดิต เพื่อนำมาใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และซื้อสินค้าคงทน เช่น ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย รวมทั้งหนี้เพื่อการประกอบธุรกิจ 

สำหรับจำนวนหนี้เฉลี่ย 501,711.84 บาทต่อครัวเรือน ถือเป็นจำนวนหนี้ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยขยายตัว 3.7% และส่วนใหญ่ 78.9% เป็นหนี้ในระบบ ส่วนการผ่อนชำระเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 12,801.56 บาท ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กว่า 65.9% เคยประสบปัญหาการขาดการผ่อนชำระ หรือ ผิดนัดการผ่อนชำระ เนื่องจากรายได้ลดลง เศรษฐกิจไม่ดี และค่าครองชีพที่ไม่สอดคล้องกับรายได้นอกจากนี้

โดยกลุ่มตัวอย่างมีข้อเสนอแนะภาครัฐ ให้จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มีการให้ความรู้เรื่องการบริหารหนี้ การฝึกอบรมอาชีพเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพ ให้ความรู้เรื่องการวางแผนการใช้จ่าย และรู้จักใช้จ่ายอย่างพอเพียง

แม้จำนวนหนี้ต่อครัวเรือนปีนี้จะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ส่วนใหญ่อยู่ในระบบ จึงสะท้อนได้ว่าคนไทยเข้าถึงสินเชื่อ หรือ กู้ในระบบได้มากขึ้นเพราะมีทรัพย์สิน และถือเป็นเรื่องปกติที่คนชั้นกลางจะก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์ รวมทั้งหลังจากนี้ ภาครัฐ และเอกชน จะต้องเร่งลงทุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ มาทดแทนมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่ไม่สามารถทำได้ในระยะยาว

หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว และนักท่องเที่ยวที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย จะค่อยๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนปัญหาหนี้เสีย หรือ NPL ก็ยังไม่น่ากังวล เพราะสถาบันการเงิน ต่างตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ และการติดตามหนี้ในระบบ ก็มีกระบวนการไกล่เกลี่ยตามกลไกปกติ จึงไม่น่าจะเกิดภาวะ NPL สูงขึ้นได้แน่นอน