กฎหมายใหม่ Climate Change "วราวุธ" ชงเข้า ครม.ปีนี้

“วราวุธ” ผลักดันร่างกฎหมาย climate change act เข้า ครม.ภายในปีนี้ สู่เป้าหมายมาตรฐานสากล ขณะที่ TCP เริ่มขับเคลื่อนใช้น้ำสุทธิเป็นบวก
กลุ่มธุรกิจ TCP จัดงานเสวนาเพื่อความยั่งยืนครั้งแรก ในหัวข้อ “ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน” นำโดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP และนายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการสถาบันอนาคตไทยศึกษา
โดย นายวราวุธ กล่าวถึง การทำงานเพื่อแก้ปัญหาหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะ Climate change ว่า ในส่วนของความร่วมมือจากกลุ่มธุรกิจ TCP เป็นแกนหลักสำคัญที่จะช่วยรณรงค์ให้เกิดความตื่นตัวและเร่งพัฒนา ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 และ 2065 ตามที่นายกฯ รัฐมนตรีได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ใน COP26 เมื่อปลายปี 2564
เบื้องต้นในขณะนี้ทางองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ได้เริ่มให้บริการและมีบริษัทประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของแต่ละองค์กร จากนั้นเมื่อมีการประเมินแล้วในปี 2565 ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่ประมาณ 600,000 ไร่ เพื่อให้ประชาชน และภาคเอกชนเข้าร่วมปลูกป่า และเพิ่มปริมาณคาร์บอนซิงค์ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกฎหมาย ที่ทางกระทรวงกำลังผลักดันร่าง climate change act จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)และการพิจารณาของรัฐสภา คาดว่าจะอยู่ภายในปีนี้ ทำให้การขึ้นบัญชีทางด้านคาร์บอนเครดิต และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศไทยนั้น มีความเป็นหลักเกณฑ์มากขึ้น และได้มาตรฐานสากลมากขึ้น
ขณะที่นายสราวุฒิ กล่าวว่า ในมุมของธุรกิจ TCP ที่เป็นภาคเอกชน และมี Supply Chain ขนาดใหญ่ จึงมีการพูดคุยกันมาตลอดว่าจะทำอย่างไร ให้สามารถเติบโตธุรกิจไปได้โดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างผลกระทบที่ดีให้กับโลกใบนี้ และประเทศชาติ ขณะนี้ TCP มีการทำงานหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค และตรงความต้องการสร้างสุขภาพอนามัยที่ดี ในส่วนแพ็คเกจจิ้งต่างๆ ที่ใช้ในสินค้าเครื่องดื่ม ได้มุ่งให้เป็นสิ่งที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% และเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ก็เชื่อมโยงกับเป้าหมายของประเทศ และสุดท้ายคือ เรื่องน้ำ กำลังทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Net Positive Water (การใช้น้ำสุทธิเป็นบวก) การหาทางคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติมากกว่าน้ำที่ใช้ไป สิ่งเหล่านี้ได้ทำงานคู่กับพาร์ทเนอร์ที่มี จุดประสงค์ และแบ่งปันการทำงานร่วมกัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์