ปลุก "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ดึงดูดการลงทุน

ปลุก "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ดึงดูดการลงทุน

เขตเศรษฐกิจพิเศษ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้มีความ “พิเศษ” สมกับการเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” มีความโดดเด่น โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง ระบบเทคโนโลยีที่พร้อม มีความพิเศษในด้านต่างๆ การผลิตที่ได้รับการยอมรับ หรืออื่นๆ ที่จะดึงดูดการลงทุนให้เข้ามามากที่สุด

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวและเติบโต ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ราว 3.6% และในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 4% ที่ผ่านมาหนึ่งในแผนการดึงดูดการลงทุนของประเทศไทย คือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่ผ่านมาเศรษฐกิจภายใน “อีอีซี” ถือว่าเติบโตได้ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจประทศ หลังการขับเคลื่อนการลงทุนต่อเนื่องตั้งแต่ 4-5 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มว่าระยะต่อไปเศรษฐกิจอีอีซีจะเติบโตได้ราว 7-9% ซึ่งโตมากกว่าเศรษฐกิจของประเทศ

วานนี้ (17 ส.ค.) “กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนา EEC : New Chapter New Economy มีหลายประเด็นที่มีน่าสนใจ และเป็น “คีย์แมสเสจ” สำคัญสำหรับพลิกฟื้นเศรษฐกิจในอนาคต คาดการณ์ว่า การเติบโต 7-9% ของเศรษฐกิจอีอีซี จะมาจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นปีละ 4-5 แสนล้านบาท หรือรวม 5 ปีจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นราว 2.2 ล้านล้านบาท ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ขยายตัวปีละ 4-5% ทำให้ประเทศไทย หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2572

แนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายระยะต่อไปของอีอีซี อาจต้องใช้มาตรการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการนักลงทุน ภายใต้อำนาจทางกฎหมายที่อีอีซีทำได้ เช่น การจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะรถอีวี หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดึงการลงทุนดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำการจ้างงานในพื้นที่ให้มากขึ้น เป็นเมืองศูนย์กลางธุรกิจ ตามแนวทางการเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ และพื้นที่อีอีซี

5 ปีที่ผ่านมาการทำงานของอีอีซี บรรลุเป้าหมายหลายด้าน ในเรื่องการลงทุนสามารถผลักดันให้เกิดการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาทใน 5 ปี ที่เป็นแผนแรกของอีอีซี รวมทั้งสามารถดึงเทคโนโลยีใหม่ผ่านการลงทุน โดย 4 ปีที่ผ่านมา การอนุมัติการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-curve มีสัดส่วน 70 % ของการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และใน 5 อุตสาหกรรมที่เป็น New S-Curve มีสัดส่วนการลงทุน 36% และเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 นี้

เขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และจะมีส่วนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในทุกระดับของประเทศ เกิดการจ้างงาน ดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ

ดังนั้น เราเห็นว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้มีความ “พิเศษ” สมกับการเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” มีความโดดเด่น โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง ระบบเทคโนโลยีที่พร้อม มีความพิเศษในด้านต่าง ๆ การผลิตที่ได้รับการยอมรับ หรืออื่น ๆ ที่จะดึงดูดการลงทุนให้เข้ามามากที่สุด หรือพัฒนาให้เป็นแหล่งที่เน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนาในระดับภูมิภาค หรือระดับโลก เพื่อสร้างแต้มต่อให้ประเทศ สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต