“เกษตรกร”เร่งรัฐเพิ่มผลผลิตกุ้ง ดันเป้า 4 แสนตัน-ทบทวนเปิดนำเข้า

“เกษตรกร”เร่งรัฐเพิ่มผลผลิตกุ้ง  ดันเป้า 4 แสนตัน-ทบทวนเปิดนำเข้า

ผลผลิตกุ้งของไทยปี นี้ จะอยู่ที่ 3 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ผลิตได้ 2.8 แสนตัน เนื่องจากยังมีปัญหาโรคระบาดทำให้การเลี้ยงกุ้งมีอัตรารอดต่ำ ในสถานการณ์นี้ กรมประมงได้เปิดให้นำเข้ากุ้งได้จากเอกวาดอร์และอินเดีย พร้อมกำหนดเป้าเพิ่มผลผลิตกุ้งในปีหน้าให้ได้ 4แสนตัน

ทั้งนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้เสนอแนวทางเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าวอย่างยั่งยืนหลายข้อ อาทิ 

1.ต้องกำหนดเป้าหมายการผลิตกุ้งในประเทศที่ชัดเจน

2.กรมประมงต้องแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้เบ็ดเสร็จ

3.การมีรูปแบบแนวทางการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรกรทุกกลุ่ม

4.การส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อจากแหล่งเงินทุน โดยภาครัฐและสถาบันการเงินสนับสนุนดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างฟาร์ม และโมเดลการเลี้ยงที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

5.การสร้างช่องทางการขายและความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA)

 6.สร้างระบบมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม 

7.การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

 8.รัฐบาลไม่ได้นำเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไปใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมประมงประกาศเป้าหมายเพิ่มผลผลิตกุ้งไทย 400,000 ตัน ในปี 2566 แต่ต้องมีมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจน รวมถึงการแก้ปัญหาโรคกุ้งให้ได้ และแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อที่ภาครัฐเตรียมไว้ 3,000 ล้านบาท

ในขณะที่เปิดให้นำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบที่จะตามมาด้วย โดยเฉพาะปัจจัยที่จะกระทบกับซัพพลายเชนของอาหารปลอดภัยและผลกระทบต่อเกษตรกร

เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp Board เปิดเผยว่า จากการที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่องร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ผลผลิต 400,000 ตัน ในปี 2566 

 

“เกษตรกร”เร่งรัฐเพิ่มผลผลิตกุ้ง  ดันเป้า 4 แสนตัน-ทบทวนเปิดนำเข้า “เกษตรกร”เร่งรัฐเพิ่มผลผลิตกุ้ง  ดันเป้า 4 แสนตัน-ทบทวนเปิดนำเข้า

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp board ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ได้แก่ กรมประมง และกรมการค้าภายใน ผู้แทนผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล รวม 21 ท่าน ร่วมกันวางแผนเพื่อบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของ Shrimp Board ได้ศึกษาแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งขาวแวนนาไม ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2564 ถึง 31 ธ.ค.2565 ทำให้ราคาจำหน่ายกุ้งขาวฯ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมาโดยพันธกิจที่สำคัญ คือ กรมประมงจัดทำแผนการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล โดยในปี 2565 มีเป้าหมาย 320,000 แสนตัน และปี 2566 มีเป้าหมาย 400,000 ตัน

ดังนั้น เพื่อรักษาตลาดและผู้ประกอบการส่งออกสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ Shrimp Board จึงมีข้อตกลงร่วมกันในการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรโดยประกันราคาซื้อ-ขายขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ

โดยเริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2564 ถึง 31 ธ.ค.2565 ส่งผลให้ราคากุ้งทะเลในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไม่ประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

สำหรับปี 2565 กำหนดให้นำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากเอกวาดอร์และรัฐอินเดีย รวม 10,501 ตัน โดยอนุญาตให้นำเข้าวันที่ 10 มิ.ย.ถึง ก.ค.2565 นำเข้ากุ้งขาวฯ จากเอกวาดอร์ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา 41.95 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10.24 ล้านบาท

บรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าว ปัจจุบันผลผลิตกุ้งทะเลไทยอยู่ที่ 250,000-350,000 ตัน เท่านั้น ผลผลิตที่ได้ไม่แน่นอน ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความพร้อมของเกษตรกรไม่เท่ากัน และมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศ ซึ่งจากข้อมูลของกรมประมงพบว่ามีเกษตรกรผู้ประกอบกิจการการเลี้ยงกุ้งทะเล 30,000 ราย โดยมีพื้นที่ 600,000 ไร่ ซึ่ง Shrimp Board ร่วมกันคิดเพื่อให้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 400,000 ตัน ในปี 2566

อักษร ขจรกาญจนกุล ประธานชมรมกุ้งตรังพัฒนา กล่าวว่า เกษตรกรประหลาดใจกับการตัดสินใจของกรมประมงครั้งนี้มากที่อนุมัตินำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียแบบไม่ทันตั้งตัว โดยที่ผ่านมากรมประมงปกป้องเกษตรกรมาตลอด เนื่องจากกุ้งที่นำเข้าจะทำให้ราคากุ้งในประเทศตกต่ำ ไม่มีเสถียรภาพ มีความเสี่ยงเรื่องโรคที่ติดมากับกุ้ง รวมถึงเกิดปัญหาคุณภาพความปลอดภัย การปนเปื้อนของสารเคมีต้องห้ามและยาปฏิชีวนะจะสร้างความเสียหายกับผู้เลี้ยงและห่วงโซ่การผลิต

“เกษตรกรขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ทบทวนนโยบายการนำเข้ากุ้งจากทั้งสองประเทศนี้อีกครั้ง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและอนาคตของเกษตรกรเลี้ยงกุ้งไทยที่พัฒนาการเลี้ยงจนเป็นที่่ยอมรับระดับโลก”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันกุ้งทะเลที่มาจากการเพาะเลี้ยงที่จะนำเข้าต้องมาจากแหล่งผลิตต้นทางที่มีระบบควบคุมโรคและระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลในระดับเดียวกับไทย

“เกษตรกร”เร่งรัฐเพิ่มผลผลิตกุ้ง  ดันเป้า 4 แสนตัน-ทบทวนเปิดนำเข้า

ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ในอดีตไทยผลิตกุ้งได้ 650,000 ตัน โดยโรงงานมีกำลังการผลิตและรับออเดอร์ถึง 750,000 ตัน ทำให้ช่วงนั้นต้องนำเข้ากุ้งเพื่อแปรรูปส่งออกอีก 100,000 ตัน แต่ต่อมากุ้งไทยมีโรคตายด่วน (อีเอ็มเอส) ทำให้ผลผลิตกุ้งได้รับความเสียหายและลดเหลือ 270,000 ตัน โดยห้ามนำเข้าตลอดมาและโรงงานต้องปิดตัวเพราะขาดแคลนวัตถุดิบ

“การเลี้ยงกุ้งของไทยได้ผลผลิตไม่สม่ำเสมอ แต่โรงงานจำเป็นต้องมีผลผลิตอย่างต่อเนื่องไม่สามารถปรับเพิ่มหรือลดกำลังผลิตให้สอดคล้องกับผลผลิตกุ้งจากบ่อเลี้ยงได้ ดังนั้นการนำเข้าจะช่วยให้โรงงานที่ยังเหลืออยู่มีงานทำต่อเนื่องและลดต้นทุนการผลิตได้”