ประมง ชี้กุ้งไม่พอป้อนโรงงาน ถก Shrimp Board เปิดนำเข้าขณะนี้แค่ 41 ตัน

ประมง ชี้กุ้งไม่พอป้อนโรงงาน ถก Shrimp Board เปิดนำเข้าขณะนี้แค่ 41 ตัน

กรมประมง แจงเปิดนำเข้ากุ้ง จากเอกวาดอร์แค่ 41 ตัน อ้างผลผลิตในประเทศไม่พอป้อนโรงงาน ด้านเกษตรกรใน Shrimp board หนุนหวังสร้างเสถียรภาพราคาในอนาคต ชี้คนต้านเสนอหาทางแก้ด้วย

นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หรือ ว่า  จากการที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้จับมือร่วมกันเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก

ประมง ชี้กุ้งไม่พอป้อนโรงงาน ถก Shrimp Board เปิดนำเข้าขณะนี้แค่ 41 ตัน

ประมง ชี้กุ้งไม่พอป้อนโรงงาน ถก Shrimp Board เปิดนำเข้าขณะนี้แค่ 41 ตัน

โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ผลผลิต  4 แสนตัน ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp board ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ได้แก่ กรมประมง และกรมการค้าภายใน ผู้แทนผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล รวม 21 ท่าน ร่วมกันวางแผนเพื่อบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

 ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของ Shrimp Board ได้ศึกษาแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งขาวแวนนาไม ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 64- 31 ธ.ค. 65 ทำให้ราคาจำหน่ายกุ้งขาวฯ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมาโดยพันธกิจที่สำคัญ คือ กรมประมงจัดทำแผนการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล โดยในปี 2565 มีเป้าหมาย 3.2 แสนตัน  และ ปี 2566 มีเป้าหมาย 4 แสนตัน

ภายใต้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย 11 แนวทาง โดยมีแนวทางหลัก ดังนี้  การบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ผ่านกลไกคณะทำงานแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเล ระดับพื้นที่ 35 จังหวัด  การแก้ไขปัญหาด้านโรคกุ้งทะเล ซึ่งเป็นปัญหาหลักและเป็นต้นทุนแฝงของการเลี้ยงกุ้ง มีการจัดคลินิกเคลื่อนที่ (Mobile clinic) และสายด่วนปรึกษาปัญหาโรคสัตว์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที

 การจัดการการเลี้ยง มีการถอดบทเรียนและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมให้มีปราชญ์เลี้ยงกุ้งหรือฟาร์มเลี้ยงกุ้งต้นแบบในแต่ละพื้นที่ มีการสนับสนุนการใช้จุลินทรีย์และส่งเสริมให้ชมรมหรือกลุ่มเกษตรกรผลิตจุลินทรีย์ ปม. 2  การปรับปรุงพันธุ์กุ้งทะเล กรมประมงได้พัฒนาพันธุ์กุ้งขาวฯ สายพันธุ์สิชล 1 ผลิต

 

และจำหน่ายเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร  การจัดหาแหล่งทุน โดยการจัดทำโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 เพื่อเป็นแหล่งสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานข้างต้นมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย กรมประมงจึงกำหนดให้มีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลเป็นประจำทุกเดือน 

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนม.ค.- ก.ค.65  พบว่าไทยมีผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงรวมทั้งสิ้น 1.38 แสนตัน แยกเป็นกุ้งขาวแวนาไม 1.29 แสนตัน หรือประมาณ 93.06% ที่เหลือเป็นกุ้งกุลาดำ 9.6 พันตันหรือ 6.94 %  โดยรวมแล้วผลผลิตกุ้งลดลง  3.09 %

“แม้ว่ากรมประมงจะมีนโยบายในการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล และลงพื้นที่ดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แต่การขาดความเชื่อมั่นด้านราคา เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไม่ปล่อยกุ้งลงเลี้ยงอย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลในภาพรวมลดลง” 

นายผณิศวร  ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ในอดีตที่ไทยผลิตกุ้งได้ 6.5 แสนตัน ทางโรงงานมีกำลังการผลิต และรับออเดอร์มากถึง 7.5 แสนตัน ทำให้ช่วงนั้นต้องนำเข้ากุ้งเพื่อแปรรูปส่งออก อีก 1 แสนตัน   

ต่อมาเมื่อกุ้งไทยมีโรคระบาด อีเอ็มเอส หรือตายด่วน ผลผลิตกุ้งได้รับความเสียหายและลดลง เหลือเพียง 2.7 แสนตัน โดยห้ามนำเข้าตลอดมา  โรงงานจำเป็นต้องปิดตัวลงเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ ในที่ต่างประเทศมีการเลี้ยงกุ้งมากขึ้น ทั้งเอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ผลิตกุ้งได้รวมกันประมาณ 2.7ล้านตัน สิบเท่าของประเทศไทย ทำให้ราคาอ้างอิงในตลาดโลกเปลี่ยนจาก ราคามหาชัย ไปเป็น ราคาเอกวาดอร์ และอินเดีย ที่เลี้ยงได้โดยต้นทุนต่ำกว่าไทย

“ลูกค้าใช้ราคาอ้างอิงนี้ในการเจรจาสั่งซื้อ ทำให้ไทยไม่สามารถอ้างราคากุ้งในประเทศได้เหมือนเมื่อก่อน แม้มีลูกค้าที่สามารถจัดซื้อกุ้งวัตถุดิบมาส่งให้ไทยแปรรูปได้ในราคาต่ำกว่ากุ้งไทยก็จะติดขัดเรื่องการห้ามนำเข้า จึงย้ายไปสั่งซื้อจากแหล่งอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนาม ที่ขยายกิจกรรมแปรรูปโดยอาศัยวัตถุดิบกุ้งนำเข้าทั้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย” 

 ขณะที่การเลี้ยงกุ้งของไทยได้ผลผลิตไม่สม่ำเสมอ แต่โรงงานจำเป็นต้องมีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถปรับเพิ่มหรือลดกำลังผลิตให้สอดคล้องกับผลผลิตกุ้งจากบ่อเลี้ยงได้ ดังนั้นการนำเข้าจะสามารถช่วยให้โรงงานที่ยังเหลืออยู่มีงานทำต่อเนื่อง ลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถซื้อกุ้งในประเทศได้ในราคาที่เกษตรกรไม่ขาดทุน เมื่อไทยสามารถซื้อกุ้งในตลาดโลกได้ จะช่วยพยุงราคาอ้างอิงไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป ลดส่วนต่างระหว่างราคากุ้งในประเทศกับในตลาดโลก และส่งผลให้ซื้อกุ้งในประเทศได้มากขึ้นด้วย

สมาชิกสมาคมที่ยังเน้นการแปรรูปกุ้งเพื่อส่งออก ได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรและกรมประมงในการศึกษาระดับความพอดีของปริมาณกุ้งนำเข้าที่จะไม่กระทบกับผลผลิตในประเทศ โดยเน้นการนำวัตถุดิบมาใช้ในช่วงที่กุ้งไทยมีผลผลิตต่ำ ตามฤดูกาล สมาชิกที่นำเข้ากุ้งมีพันธกรณีที่จะซื้อกุ้งในประเทศในราคาตามที่ตกลงกันใน Shrimp Board กุ้งที่นำเข้าต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่กรมประมงกำหนด

“ หากไม่อนุญาตให้นำเข้า ราคากุ้งในประเทศจะสูงขึ้น โดยเป็นความเสี่ยงกับโรงงาน และอาจมีการกดราคารับซื้อให้ถูกลง ซึ่งเราไม่อยากทำเพราะเกษตรกรจะแย่ แต่หากเปิดให้นำเข้าโรงงานสามารถผลิตได้ต่อเนื่องโรงงานเหล่านี้จะมีกำลังเสนอซื้อกุ้งในประเทศที่มีคุณภาพดีกว่าในราคาที่สูงขึ้นได้ “    

ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยต่างให้ความสำคัญกับกุ้งไทยเป็นลำดับแรก เพราะมีคุณภาพดีกว่า เจรจาง่ายไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ในกรณีที่กุ้งนำเข้ามีส่วนต่างจากกุ้งไทยเพียง 10-20 บาท ถือว่าไม่คุ้มที่จะนำเข้ามา อีกทั้งการนำเข้าจะเป็นบางช่วงที่ผลผลิตกุ้งไม่เพียงพอกับความต้องการเท่านั้นโดยรับรองได้ว่าจะไม่มีการสวมสิทธิ์เป็นกุ้งไทยเพื่อส่งออกอย่างแน่นอน  และมีเป้าหมายที่ จะสร้างเสถียรภาพราคา ความเข้มแข็งทั้งในภาคผู้เลี้ยงและโรงงานแปรรูป ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมโดยรวมฟื้นฟูและอยู่รอดได้ต่อไป 

                        นายบรรจง  นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าว ปัจจุบันผลผลิตกุ้งทะเลของไทยอยู่ในปริมาณ2.5-3.5 แสนตัน เท่านั้น ผลผลิตที่ได้ไม่แน่นอน ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความพร้อมของเกษตรกรไม่เท่ากัน และมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศ ซึ่งจากข้อมูลของกรมประมงพบว่า มีเกษตรกรผู้ประกอบกิจการการเลี้ยงกุ้งทะเลประมาณ 3 หมื่นราย โดยมีพื้นที่ประมาณ 6 แสนไร่ ซึ่ง Shrimp Board ร่วมกันคิดเพื่อให้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 4 แสนตัน ในปี 2566

 

ประมง ชี้กุ้งไม่พอป้อนโรงงาน ถก Shrimp Board เปิดนำเข้าขณะนี้แค่ 41 ตัน

            นายครรชิต  เหมะรักษ์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลประสบปัญหาทั้งด้านราคาตกต่ำและต้นทุนการผลิตที่สูง ส่งผลให้ประสบปัญหาภาวะขาดทุน แรงจูงใจที่สำคัญของเกษตรกรในการประกอบอาชีพการเลี้ยงกุ้งทะเล คือ ปัจจัยด้านราคา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เกษตรกรต้องแก้ไขปัญหาด้านราคาตกต่ำด้วยวิธีการของตนเอง ผ่านกลไกการร้องขอจากรัฐบาล

 ซึ่งการจัดตั้ง Shrimp Board ในครั้งนี้ เป็นการจับมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ของอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทย เป็นความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิตอย่างแท้จริง

เกษตรกรที่ออกมาโวยวายกรณีการนำเข้ากุ้งนั้น แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาเกษตร 17 จังหวัด สมาชิกได้หารือและรับรู้เรื่องการนำเข้ากุ้งมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเพราะผลผลิตในประเทศไม่พอ โรงงานต้องนำเข้าแล้วแปรรูปเพื่อส่งออกและแข่งขันในตลาดโลก อุตสาหกรรมกุ้งของไทยจึงจะเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการนำเข้าเป็นเพียงบางช่วงเวลาเท่านั้น ผู้ที่คัดค้านการนำเข้าคิดในทางสร้างสรรค์โดยควรเสนอแนะหาทางออกด้วย

ทั้งนี้การผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ผลผลิตต้องเพียงพอเพื่อสามารถต่อรองในตลาดโลกได้ จากการหารือร่วมกันใน Shrimp Board การนำเข้ากุ้งขาวฯ เพื่อมาทดแทนในช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณลดน้อยลงเพื่อรักษาตลาดมีความจำเป็น

และขณะเดียวกันทำอย่างไรเกษตรกรภายในประเทศต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้า Shrimp Board จึงตกลงร่วมกันให้มีการรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อไม่ให้เกษตรกรภายในประเทศประสบปัญหาราคาตกต่ำเหมือนในอดีตและยังเป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการเลี้ยงกุ้งทะเลต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการตอบโจทย์ที่แท้จริง เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก