เปิด 3 ขุมทรัพย์ลงทุน "หุ้นญี่ปุ่น" สาย VI ท่ามกลางตลาดผันผวนทั่วโลก 

เปิด 3 ขุมทรัพย์ลงทุน "หุ้นญี่ปุ่น" สาย VI ท่ามกลางตลาดผันผวนทั่วโลก 

ล่าขุมทรัพย์ The Lost Decade of JAPAN กับทศวรรษที่สูญหายไปจากแผนที่เศรษฐกิจโลก ซึ่งทั้งเศรษฐกิจ ประสบกับภาวะตกต่ำยาวนานนับ 20 ปี และตลาดหุ้นแดนซามูไร หลุดจากเรดาห์นักลงทุนไปแทบหมดสิ้น แต่เมื่อ ‘ญี่ปุ่น’ คืนบัลลังก์ "หุ้นคุณภาพ" แห่งเอเชีย ด้วยกำไร บจ. โตโดดเด่น ไม่แพ้ใคร

"ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์"  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ ผู้ให้บริการกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth  ฉายภาพให้เห็นถึง "ฉายา The Lost Decade of Japan"  ว่า ญี่ปุ่นได้ฉายานี้ มาหลังจากประสบกับภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่ตกต่ำซบเซามายาวนาน กว่า 20 ปี

หลังผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 ความฮึดสู้ของชนในชาติเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นบูมสุดๆ จนถึงช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่ง GDP ต่อหัวของญี่ปุ่นสูงที่สุดในโลก นโยบายเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้น รวมถึงกระบวนการขับเคลื่อนต่างๆ ของญี่ปุ่นสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ต่อสายตาชาวโลก จนสินค้าญี่ปุ่นหลายแบรนด์ผงาดขึ้นมาเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างเช่น โตโยต้า หรือโซนี่ 
 
แต่หลังจากนั้น ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 แรงเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงแนวทางการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐก็ทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลง

จากตัวเลข GDP ที่เคยสูงมากค่อยๆ ลดลงจนเหลือแค่ 1% กว่าต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเศรษฐกิจพัฒนาแล้วในประเทศอื่นๆ มาก จนญี่ปุ่นต้องสูญเสียตำแหน่งเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกให้กับจีน และตกชั้นมาอยู่ที่ 3 ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันนี้ ขณะที่ตลาดหุ้นก็ถดถอยลงมาเรื่อยๆ และตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน
  เปิด 3 ขุมทรัพย์ลงทุน \"หุ้นญี่ปุ่น\" สาย VI ท่ามกลางตลาดผันผวนทั่วโลก 

"ตลาดหุ้นญี่ปุ่น" ขุมทรัพย์ลงทุน ท่ามกลาง ตลาดผันผวนทั่วโลก                              

มาวันนี้ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น กลับมาแล้ว แม้ไม่ได้กลับไปสู่ยุคเฟื่องฟูเหมือนในอดีต แต่เรามีข้อมูลที่น่าสนใจ กับอัตราการเติบโตของดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่สูงกว่า 13% ต่อปีโดยเฉลี่ย ในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ ซึ่งถือเป็นระดับเดียวกับตลาดหุ้นน้องใหม่เนื้อหอมอย่างเวียดนาม ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่น กลายเป็นขุมทรัพย์การลงทุนที่น่าสนใจ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดการลงทุนผันผวนทั่วโลก 

หุ้นขึ้นที่แดนอาทิตย์อุทัย
การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาดหุ้นญี่ปุ่น ณ 18 ส.ค.2565  ดัชนีนิกเกอิปรับขึ้นมาทะลุระดับ 29,000 จุดแล้ว ประกอบกับระดับ Valuation ที่ยังถือว่าต่ำอยู่เมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้วอื่นๆ จึงเป็นแรงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้กลับมาเพิ่มพอร์ตหุ้นญี่ปุ่นอีกครั้ง

ที่สำคัญตลาดญี่ปุ่นเต็มไปด้วยหุ้นพื้นฐานคุณภาพดี และมีความหลากหลายทั้งด้านอุตหสากรรมและขนาดธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง รวมถึงเอสเอ็มอีน้อยใหญ่ให้เลือกมากมาย 

บริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายรายในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นมีอายุร่วม 100 ปี โดยบริษัทที่มีอายุเกิน 100 ปีทั่วโลก มากกว่า 56% อยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งธุรกิจญี่ปุ่นเน้นรักษาคุณภาพเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อเนื่อง ถือเป็น DNA ในการทำธุรกิจของชาวญี่ปุ่น และวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้สะท้อนได้จากงานด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ของญี่ปุ่น ที่ไม่เป็นสองรองใคร

พื้นฐานแกร่ง แม้ GDP โตช้า       
แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะโตช้าและตัวเลข GDP อยู่ในระดับต่ำกว่าเพื่อนๆ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้ ไว้ที่ 2.4% แม้เป็นระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ แต่สำหรับญี่ปุ่นถือเป็นอัตราเติบโตสูงสุดในรอบ 12 ปีเลย
 
ญี่ปุ่นยังมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน รายได้ต่อหัวต่อปีของคนญี่ปุ่นสูงถึง 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ World Economic Forum จัดความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่รั้งตำแหน่งที่ 4 ของโลกอีกด้วย
 
และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กำลังสร้างความปั่นป่วนให้เศรษฐกิจทั่วโลกในตอนนี้คือ ‘เงินเฟ้อ’ แต่ประเด็นดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลนัก โดยเงินเฟ้อญี่ปุ่นล่าสุดที่ประกาศในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา อยู่ในระดับ 2.4% เพิ่มขึ้นจาก 2.2% ในเดือนก่อนหน้า และหลุดกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ซึ่งกำหนดไว้ที่ 2% อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อญี่ปุ่นถือว่าต่ำมากไม่ว่าจะเทียบกับเศรษฐกิจพัฒนาแล้วหรือตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่แม้จะลดลงมาบ้างแล้ว แต่ยังค้างเติ่งในระดับสูงเกือบ 9%
 
ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนกลับมีมุมมองว่า เงินเฟ้อของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้แย่ไปเสียทีเดียว ไม่เหมือนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป และเมื่อพลิกไปดูเหรียญอีกด้านก็จะพบว่า เงินเฟ้อญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลดีต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนก็เป็นได้ ทั้งยังเป็นปัจจัยท้าทายต่อภาวะเงินฝืดและอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ต่อเนื่องยาวนานของญี่ปุ่นอีกด้วย
 
เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ยังชี้เป้าให้บริษัทญี่ปุ่นมองเห็นโอกาสและเพิ่มอำนาจในการปรับขึ้นราคาสินค้า หลังจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจส่วนใหญ่ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ หรือใครที่อาจหาญปรับราคาขึ้นก็ถูกกระทบด้วยยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง ขณะที่ผลสำรวจเกี่ยวกับดัชนีการกระจายราคาผลผลิต (Output Price Diffusion Index) ของ Tankan พบว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในรอบนี้ ทำให้บริษัทญี่ปุ่นสามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้จำนวนมากสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980

ตลาดหุ้นของสาย VI   
ญี่ปุ่นมีหุ้นจดทะเบียนอยู่ประมาณ 3,000 ตัว และเต็มไปด้วยบริษัทพื้นฐานแข็งแกร่ง ราคาน่าลงทุน หุ้นคุณภาพอย่างญี่ปุ่นจึงเหมาะกับนักลงทุนคุณภาพสาย VI (Value Investor) อย่างแท้จริง โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นโชว์ตัวเลขผลตอบแทนอย่างโดดเด่น เมื่อดัชนี MSCI Japan ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 13.81%
 
แม้นักวิเคราะห์คาดว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะมีแนวโน้มการทำกำไรที่ดีขึ้น ตามปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ แต่ยังไม่ได้ปรับประมาณการณ์ราคาหุ้นกันมากนัก ดังนี้ Valuation ของหุ้นญี่ปุ่นจึงยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจมากๆ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งมีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิสูงมาก ตั้งแต่ระดับ 50% ต่อปี หรือบางบริษัทสูงถึง 80-90% 
 
ขณะที่ธุรกิจญี่ปุ่นถือว่าเป็นราชาเงินสด ซึ่งงบกระแสเงินสดของบริษัทญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงโควิด-19 โดยมากกว่า 50% ของธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

3ขุมทรัพย์หุ้นดี-ราคาถูก
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีบริษัทพื้นฐานแข็งแกร่งกระจายอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างอุตสาหกรรมเด่นๆ ที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษโดยเฉพาะ เช่น อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ เราต่างก็ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ และติดโผประเทศที่มีประชากรอายุยืนที่สุด 1 ใน 3 ของโลกเสมอ โดยมีอายุเฉลี่ยที่ 84.6 ปี ซึ่งคนญี่ปุ่นดูแลสุขภาพกันดีมากๆ เพราะมีการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อรองรับประชากรสูงวัย
 
ยกตัวอย่างหุ้นในธุรกิจเฮลท์เทค ที่เติบโตโดดเด่นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น BML, Inc. ผู้ให้บริการด้านการวิจัยค้นหาข้อมูลทางการแพทย์ โดยใช้การตรวจสอบโลหิตและชีวเคมี ตัวอย่างเช่น บริการวิเคราะห์สารเคมีตกค้างทางการเกษตร บริการให้คำปรึกษาเพื่อขออนุมัติเภสัชภัณฑ์ รวมถึงการวิเคราะห์การแสดงออกของยีนและการทดสอบยีนที่ทำให้เกิดความอ่นไหวต่อโรคติดเชื้อ

โดยรายได้ของ BML ในปีงบประมาณ 2665 (เมษายน 2021-มีนาคม 2022) เติบโตแบบก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 1.86 แสนล้านเยน จาก 1.38 ล้านเยนในปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันรายได้ของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2017
 
อุตสาหกรรมก่อสร้างก็โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้างชั้นสูงและทันสมัยอยู่เสมอ ญี่ปุ่นจึงนับเป็นประเทศที่มี know how ด้านการก่อสร้างในระดับสูง และหุ้นที่น่าสนใจในกลุ่มนี้ เช่น CTI Engineering Co., Ltd. บริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านวิศกรรมทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ ซึ่งให้บริการที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมโยธาและงานก่อสร้าง รวมถึงวางแผนการวิจัย การออกแบบ และบริการจัดการโครงการบริษัทก่อสร้าง ซึ่ง CTI ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 77 ปี รายได้เติบโตอย่มางต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2017 โดยในปี 2021 มีรายได้รวม 7.44 หมื่นล้านเยน จาก 6.51 หมื่นล้านเยนในปีก่อนหน้า
 
นอกจากนี้ ยังมี Sumitomo Forestry Co., Ltd. บริษัทแปรรูปไม้เพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้างและทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึง 331 ปี และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ บริษัทได้ขยายธุรกิจไปสู่พลังงานหมุนเวียน สอดรับกับเมกะเทรนด์ของโลกอนาคต โดยรายได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2022 อยู่ที่ 1.53 ล้านล้านเยน เทียบกับสิ้นปี 2021 ที่ 1.38 ล้านล้านเยน
 
คงทราบกันดีกว่าญี่ปุ่นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในยุคอนาล็อก แต่ถ้าพูดถึงผู้นำด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในยุคปัจจุบัน เราอาจไม่ได้นึกถึงญี่ปุ่น แต่ชื่อของสหรัฐฯ และจีน คงปรากฎขึ้นมาเป็นประเทศแรกๆ

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็กำลังเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเช่น ( Digital Transformation)   โดยรัฐบาลให้จัดตั้งหน่วยงาน Digital Agency ในปี 2564 เพื่อปรับเปลี่ยนญี่ปุ่นไปสู่สังคมดิจิทัลทั้งภาครัฐและเอกชน นำร่องด้วยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในหน่วยงานรัฐกว่า 1,700 แห่งทั่วประเทศ
 
และถ้าย้อนกลับไปดูวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่น คำว่า ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง จะอยู่ในวิถีของชาวญี่ปุ่นเสมอ โดยคนญี่ปุ่นจะมี passion ในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้ออกมาดีที่สุด เช่นเดียวกับแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของญี่ปุ่น ที่จะมีความมุ่งมั่นกับการพัฒนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะจนกลายเป็นสินค้าคุณภาพสูงมาตรฐานญี่ปุ่น ที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหนในโลก อย่างเช่น ชิ้นส่วนบางอย่างที่ Apple และ Tesla ต้องสั่งตรงจากญี่ปุ่นเท่านั้น
 
ทั้งนี้ มี 7 บริษัทญี่ปุ่น ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเทคโนโลยีสุดล้ำให้กับ Apple และ Tesla ได้แก่

  • Murata Manufacturing
  • TDK Corporation
  • AGC, Alps Alpine
  • Odawara Engineering
  • Fuji Technica & Miyazu
  • Panasonic

ขณะที่บริษัทเหล่านี้มีอัตราการเติบโตของรายได้ 10% ไปจนถึง 30% ต่อปี จึงไม่ได้มีดีแค่คุณภาพ แต่พิสูจน์ด้วยผลการดำเนินงานเช่นกัน

 
"ตราวุทธิ์" ย้ำว่า หุ้นญี่ปุ่นถือเป็น “แรร์ไอเท็ม” ที่อยู่นอกสายตานักลงทุนไทยมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะย้อนมาสู่ขุมทรัพย์การลงทุนแห่งนี้ และด้วย Jitta Ranking ญี่ปุ่นจะช่วยให้สามารถค้นหา ‘เพชรเม็ดงาม’ ที่จะกลับมาส่องประกายอีกครั้ง

แม้ก้าวย่างการเติบโตของตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะมาแบบช้าๆ เนิบๆ เหมือนหญิงสาวในชุดกิโมโน แต่จะเป็นก้าวย่างที่มั่นคงและยืนยาว เช่นเดียวกับวิถีของชาวอาทิตย์อุทัย