ดอกเบี้ยขาขึ้นกับการบริหารพอร์ตบอนด์แบบขั้นบันได (Ladder)

ดอกเบี้ยขาขึ้นกับการบริหารพอร์ตบอนด์แบบขั้นบันได (Ladder)

การบริหารพอร์ตบอนด์สำหรับแนวโน้ม "ดอกเบี้ยขาขึ้น" สำหรับนักลงทุนทั่วๆ ไป คือ สิ่งที่เราเรียกกว่าการจัดพอร์ตแบบขั้นบันได (Ladder)

หลังจากคาดการณ์กันมาหลายเดือน ในที่สุดดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็ปรับสูงขึ้นอย่างเป็นทางการจาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา และแม้ผลกระทบต่อดอกเบี้ยในตลาดอาจจะยังไม่เห็นผลทันทีจากหลากหลายปัจจัย แต่ก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบกว่า 4 ปี โดยแนวโน้มดอกเบี้ยจะขึ้นมากหรือขึ้นน้อยก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์เงินเฟ้อในอนาคต ซึ่งก็ดูเหมือนว่าแรงกดดันดูจะลดลงเมื่อเทียบกับหลายเดือนก่อนเนื่องจากแรงกดดันส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายนอก 

อย่างไรก็ตามแนวโน้มดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นก็ทำให้ตลาดหุ้นกู้หรือบอนด์กลับมาคึกคักมากขึ้น โดยในช่วงที่ดอกเบี้ยเริ่มขยับขึ้น ทำให้บริษัทต่างๆ เร่งทยอยออกพันธบัตรเพื่อรักษาระดับต้นทุนทางการเงิน ทำให้มีการออกหุ้นกู้ที่หลายหลากมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย แต่ภายใต้โอกาสที่ดอกเบี้ยจะสูงขึ้น เราควรจะลงทุนในลักษณะอย่างไรดี

ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น เราจะลงทุนบอนด์กันอย่างไรดี จะรอให้ดอกเบี้ยขึ้นก่อนแล้วค่อยลงทุนดีไหม ถ้าจะรอต้องรอแค่ไหนถึงจะเหมาะ คำตอบไม่ใช่การรอ เพราะทิศทางดอกเบี้ยนั้นคาดเดาได้ยากและเปลี่ยนแปลงได้ง่าย 

เทคนิคง่ายๆ อย่างหนึ่งของการบริหารพอร์ตบอนด์สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นสำหรับนักลงทุนทั่วๆ ไป คือ สิ่งที่เราเรียกกว่าการจัดพอร์ตแบบขั้นบันได (Ladder) คือ การกระจายเงินลงทุนออกไปในหลายๆ ช่วงอายุของบอนด์ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสมดุลกัน กล่าวคือไม่กระจุกอยู่ที่บอนด์อายุน้อยๆ เนื่องจากคาดว่าดอกเบี้ยจะขึ้นอีกในอนาคต หรือกระจุกอยู่ที่บอนด์อายุยาวๆ เนื่องจากรีบร้อนที่จะล็อกดอกเบี้ยเอาไว้ก่อนเพราะกลัวดอกเบี้ยจะขึ้นไม่เยอะ ซึ่งทั้งสองแนวนั้นจะถูกหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตและเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ การกระจายการลงทุนแบบขั้นบันไดจะช่วยให้นักลงทุนลดความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวของดอกเบี้ย สามารถเพิ่มผลตอบแทนได้และสอดคล้องกับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น นอกจากนี้ยังช่วงลดความเสี่ยงจากเรื่องของกระแสเงินสดและสภาพคล่องด้วย

การกระจายเป็นขั้นบันไดจะทำให้นักลงทุนลดความเสี่ยงด้านดอกเบี้ย และสามารถเพิ่มผลตอบแทนได้ โดยมีการลงทุนในระยะสั้นบ้างทำให้มีโอกาสได้รับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเมื่อถึงเวลาบอนด์ครบกำหนดและอัตราดอกเบี้ยในอนาคตสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน การกระจายการลงทุนไปยังหลายๆ อายุทำให้ผลกระทบของดอกเบี้ยในอนาคตน้อยกว่าการลงทุนที่กระจุกตัวอยู่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งโดยเฉพาะ หรือหากดอกเบี้ยขึ้นไม่เยอะเท่าที่คาด การที่เรามีการลงทุนในบอนด์อายุยาวหน่อยก็จะช่วยให้เรามีการลงทุนในบอนด์ที่มีดอกเบี้ยสูงจากช่วงก่อนหน้า

โดยแม้แนวทางในรายละเอียดนั้นอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลและข้อจำกัดเรื่องของกระแสเงินสดหรือรายรับจากดอกเบี้ยที่ต้องการ แต่ใจความสำคัญคือการกระจายพอร์ตออกไปในหลายๆ ช่วงอายุของบอนด์ ทำให้การลงทุนของเราไม่ต้องพึ่งการคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยมากจนเกินไปนัก นอกจากนั้นหากเกิดความต้องการใช้เงินจากปัญหาที่ไม่ได้วางแผนทางการเงินไว้ก่อน ก็ยังสามารถขายบอนด์อายุไม่เยอะนักในตลาดรองเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดและได้รับผลกระทบไม่มากจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนั้นยังต้องอย่าลืมใจความสำคัญที่สุดของการลงทุนบอนด์ คือ (1) การกระจายความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ กล่าวคือ ให้เลือกลงทุนบอนด์ในสัดส่วนของอันดับความน่าเชื่อถือที่แตกต่างกัน แต่ในภาพรวมเหมาะสมสอดคล้องกับความเสี่ยงที่รับได้ (2) การกระจายหมวดอุตสาหกรรม กล่าวคือ อย่าลงทุนกระจุกตัวในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเป็นพิเศษ เนื่องจากหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดจะได้ส่งผลกระทบไม่มากนัก 

และ (3) การกระจายลักษณะของบอนด์ กล่าวคือ อย่าลงทุนในสัดส่วนที่มากเกินไปนักสำหรับบอนด์ที่มีโครงสร้างซับซ้อนและมีความเสี่ยงเพิ่มเติมขึ้นมา เช่น การลงทุนในหุ้นด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายตราสารทุนที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ “Perpetual Bond” หรือตราสารอนุพันธ์ (Structured Note) ที่จ่ายผลตอบแทนคล้ายตราสารหนี้ แต่มีโครงสร้างและเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนที่ซับซ้อนกว่าเป็นต้น แต่หากส่วนใหญ่ลงทุนอยู่ในบอนด์ลักษณะปรกติ (Plain Vanilla) ความสำคัญของประเด็นนี้ก็อาจจะลดหลั่นลงไป การลงทุนในหุ้นกู้ที่มีลักษณะซับซ้อนต่างๆ นั้นอย่าลืมทำความเข้าใจให้ถี่ถ้วนและอย่าลงทุนเป็นสัดส่วนที่มากเกินไปในพอร์ต 

โดยเฉพาะคนที่ต้องพึ่งพารายได้จากการลงทุนสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน การลงทุนในบอนด์โดยยึดตามดอกเบี้ยที่สูงๆ เป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียว เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก นอกจากนั้นอย่าลืมเสริมสร้างความยั่งยืนของพอร์ตฟอลิโอผ่านการกระจายการลงทุนบางส่วนไปยังหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้สีเขียว(Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social Bond) หรือแม้แต่หุ้นกู้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ครับ

ทิศทางดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่คาดเดายาก การกระจายการลงทุนไปยังบอนด์อายุต่างๆ ช่วยลดทั้งความเสี่ยงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยและสภาพคล่องรวมถึงเพิ่มผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในระยะสั้นเพียงอย่างเดียวเพื่อรอให้ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็ไม่มีใครมั่นใจว่าจะปรับตัวสูงขึ้นไปได้มากหรือน้อยเพียงใด แต่อย่างลืมพิจารณาความเสี่ยงด้านอื่นๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับเรื่องของการเงินและการลงทุนส่วนบุคคลด้วยครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด