รู้จัก "DINK" วิถีคู่รัก "ไม่มีลูก" รายได้คูณสอง "รวย" ใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์

รู้จัก "DINK"  วิถีคู่รัก "ไม่มีลูก" รายได้คูณสอง "รวย" ใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์

พาไปทำความรู้จัก “DINK“ หรือ “Double Income, No Kids“ คู่รักที่อยู่ด้วยกัน มีรายได้สองเท่า “รวย” แต่ “ไม่มีลูก” อีกหนึ่งวิถีชีวิตที่คนรุ่นใหม่อยากเป็นมากขึ้น

คนรุ่นใหม่ "ไม่อยากมีลูก" เพิ่มมากขึ้น และไม่ได้รู้สึกกว่าชีวิตคู่ที่ไม่มีลูกเป็นชีวิตรักที่ไม่สมบูรณ์อีกต่อไป หากสามารถใช้ชีวิตได้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนทั้งคู่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่อง "เงิน

แนวคิดลักษณะนี้ถูกเรียกว่า DINK ที่มาจากคำว่า "Double Income, No Kids" หรือ "Dual Income, No Kids" ที่ไม่ใช่แนวคิดที่เริ่มต้นเร็วๆ นี้ แต่เป็นแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีมาตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 20 เสียอีก

มีข้อมูลหนึ่งระบุว่า DINK ถูกกล่าวถึงครั้งแรกๆ ในทางการตลาด เมื่อปลายทศวรรษที่ 1980 ในนิตยสาร Nikkei ของประเทศญี่ปุ่น

DINK เป็นคำแสลงที่นิยามถึงคู่รัก ที่ทำงานทั้งคู่ มีรายได้สองทาง ทำให้มีฐานะดี แต่ไม่มีลูก ซึ่งกลุ่มนี้หมายความรวมถึง คู่รักที่เพิ่งอยู่ด้วยกัน คู่รักเพศเดียวกัน หรือบางข้อมูลก็รวมคู่รักที่ลูกเติบโตออกไปใช้ชีวิตของตัวเองแล้ว

การไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูกนี่เอง ที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีเงินเหลือมาเก็บออม ลงทุน หรือใช้จ่ายเพื่อตัวเอง หรือใช้จ่ายเพื่อกันและกันมากขึ้น อาจมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าคนโสดเนื่องจากสามารถแชร์ค่าใช้จ่ายกับคู่ของตัวเองได้

  •  DINK เป้าหมายทางการตลาดที่น่าสนใจ 

จุดเด่นนี้ทำให้กลุ่ม DINK มักเป็นเป้าหมายทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน เช่น หุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ ผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นๆ ที่สามารถช่วยสร้างฐานะได้

รวมไปถึงเป็นเป้าหมายในการขายสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าลักชัวรี สินค้าไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจท่องเที่ยว รถยนต์ราคาแพง แพ็คเกจโรงแรมหรู ฯลฯ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มักมีรายได้ที่สามารถจับจ่ายในส่วนนี้ได้มากกว่านั่นเอง

DINK มักมีรายได้มากกว่าคนโสด เพราะมีรายได้สองทาง สามารถแชร์ค่าใช้จ่ายกันได้ และมักร่ำรวยกว่าครอบครัวที่มีลูก เพราะไม่มีค่าให้จ่ายสำหรับลูก

รู้จัก \"DINK\"  วิถีคู่รัก \"ไม่มีลูก\" รายได้คูณสอง \"รวย\" ใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์

  •  คนรุ่นใหม่ใน "อเมริกา ญี่ปุ่น ไทย" อยากมีชีวิตแบบ DINK มากขึ้น 

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่แนวคิดเท่านั้น แต่การชีวิตลักษณะนี้เริ่มมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย

ยกตัวอย่าง "สหรัฐอเมริกา" ปัจจุบันชาวอเมริกันมีแนวโน้มวางแผนให้ตัวเองมีวิถีชีวิตแบบ DINK มากขึ้น

สะท้อนจากการทำแบบสอบถามพบว่าคนที่เกิดหลังปี 2540 หรือ "Gen Z" จำนวน 1,024 คน เกี่ยวกับการวางแผนการเงินและการชีวิตในอนาคต เกือบ 1 ใน 4 คาดว่าจะได้ใช้ชีวิตแบบ DINK สักวันหนึ่ง โดยเป้าหมายสูงสุดคือการเป็นครอบครัวที่มีรายได้สองทาง และไม่มีลูก

โดย 98% ของ Gen Z เห็นด้วยว่าการใช้ชีวิตที่มีความสุขสบายทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พร้อมทั้งมองว่าสุขภาพจิตที่ดีอยู่เบื้องหลังความมั่นคงทางการเงินด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบตัวเลขที่สะท้อนว่า "รายได้ของ DINK" มากกว่า "ครอบครัวที่ไม่ใช่ DINK" จริง โดยรายได้เฉลี่ยของครอบครัวสำหรับ DINK อยู่ที่ 138,035 ดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับครอบครัวที่ไม่ใช่ DINK ที่เฉลี่ยอยู่ที่ราว 103,005 ดอลลาร์อีกด้วย

รู้จัก \"DINK\"  วิถีคู่รัก \"ไม่มีลูก\" รายได้คูณสอง \"รวย\" ใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์

ขณะที่ใน "ญี่ปุ่น" ก็ปรากฏข้อมูลจาการสำรวจพบว่าวิถีชีวิตแบบ DINK ในญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่มมาตั้งแต่ ราวปี 2558 โดยการสำรวจในครั้งนี้รวบรวมจากผู้ตอบแบบสอบถาม 1,241 อายุ 20-40 ปี

พบว่า 46% ของ "คู่รักที่ไม่มีลูก" จะแชร์ค่าครองชีพ และครึ่งหนึ่งมีเงินฝากออมทรัพย์ ขณะที่ 81.3% บอกว่าพวกเขาชอบการบริโภคตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง และ 93.2% ของพวกเขาไม่มีความกังวลใจเกี่ยวกับการไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุด

ซึ่งในแง่ของค่าใช้จ่าย การดำเนินชีวิตแบบไม่มีลูกทำให้ DINK ในญี่ปุ่นมีเงินสำหรับการใช้จ่ายตามอำเภอใจเฉลี่ย 69,000 เยน ต่อเดือนเลยทีเดียว

แม้การสำรวจข้างต้นจะผ่านมาหลายปี แต่สถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติของญี่ปุ่นได้คาดการณ์ว่าเปอร์เซ็นต์ของคู่สมรสที่ไม่มีลูกลักษณะเดียวกันนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 21.2% ของครัวเรือนญี่ปุ่นภายในปี 2578 ด้วย

รู้จัก \"DINK\"  วิถีคู่รัก \"ไม่มีลูก\" รายได้คูณสอง \"รวย\" ใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์

ซึ่งเป็นไปในทิศทางคล้ายกับ "ไทย" ที่พบว่าคนไทยมีแนวโน้มใช้ชีวิตวิถี DINK มากขึ้นเช่นกัน โดยข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร "สำนักงานสถิติแห่งชาติ" ตั้งแต่ปี 2549-2561 สะท้อนว่าประเทศไทยมีโครงสร้างที่เรียกว่า "ครัวเรือนไร้ลูกหลาน" เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

พบว่าในปี 2561 ครัวเรือนที่ไม่มีลูกหลานมี 37.4% ของครัวเรือนทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นถึง 43.3% จากปี 2549 ที่มีอยู่ 26.1% เท่านั้น

นอกจากนี้ "อัตราเจริญพันธุ์" (fertility rate) หรือจำนวนลูกเฉลี่ยต่อผู้หญิงหนึ่งคนอยู่ที่ 6.3 คน ในช่วงปี 2507-2508 (เมื่อ 50 ปีที่แล้ว) แต่ในช่วงปี 2558-2563 ลดลงเหลือเพียง 1.45 คนเท่านั้น

แม้จะไม่พบข้อมูลที่สนับสนุนว่าการใช้ชีวิตแบบ DINK ในไทย จะมีส่วนทำให้มีรายได้มากกว่าครอบครัวที่มีลูกหรือคนโสด แต่ตัวเลขการมีลูกที่ลดลงก็สะท้อนว่ามุมมองและเป้าหมายชีวิตของคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการใช้ชีวิตแบบ DINK จะทำให้ "รวย" ไปเสียหมด เพราะต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมทางการเงินของแต่ละคู่ด้วย เพียงแต่ข้อมูลต่างๆ สะท้อนว่าคนกลุ่มนี้ "มีโอกาสรวย" ได้มากกว่า เนื่องจาก "มีเงิน" พอที่จะมอบความสุข และต่อยอดความร่ำรวยให้ตัวเอง โดยไม่ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับการเลี้ยงดูลูกนั่นเอง

-------------------------------------------------------------

อ้างอิง: bccjacumen , scb , investopedia , rubyhome , กรุงเทพธุรกิจ , chula