"เกษียณเร็ว" ก่อนอายุ 40 ด้วยวิถี "FIRE" สู่การ “วางแผนการเงิน” 4 สไตล์

"เกษียณเร็ว" ก่อนอายุ 40 ด้วยวิถี "FIRE" สู่การ “วางแผนการเงิน” 4 สไตล์

อยาก "เกษียณเร็ว" ลองทำความรู้จัก 4 สไตล์ของ "FIRE" พฤติกรรมและการวางแผนทางการเงิน ที่ช่วยให้สามารถมีอิสรภาพทางการเงินได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 40 ปี

การ "เกษียณเร็ว" กลายเป็นเป้าหมายที่แสนจะท้าทายสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการให้ตัวเองมี "อิสรภาพทางการเงิน" ก่อนถึงวันเกษียณอายุ โดยการเกษียณเร็ว ณ ที่นี้ไม่ใช่แค่การลาออกจากงานประจำหรือหยุดทำงานเพื่อไปอยู่เฉยๆ แต่หมายถึงการมีเงินมากพอสำหรับเกษียณตอนอายุ 60 ปี ตั้งแต่อายุราว 30-40 ปี เพื่อให้มีอิสระจากการทำงานและสามารถทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจได้แบบไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้

คนที่มีพฤติกรรมข้างต้นนี้ถูกนิยามว่า "FIRE" หรือ Financial Independence Retire Early คือกลุ่มคนที่ทำทุกอย่างเพื่อได้เกษียณเร็ว เป้าหมายหลัก คือ มีมูลค่าทรัพย์สินอย่างน้อย 25 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อปีก่อนอายุ 40 ปี โดยส่วนใหญ่ทุ่มเทให้กับการทำงาน เน้นเก็บเงิน ลงทุนอย่างจริงจัง ซึ่งคำนี้ถูกพูดถึงในหนังสือ Your Money or Your Life ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1992 แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: รู้จัก "FIRE" พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ เร่งเก็บเงิน ลงทุนหนัก หวังเกษียณก่อน 40 ปี

สิ่งที่น่าสนใจในวิถีของ FIRE คือ แม้ทุกคนจะหวังผลลัพธ์ในการเกษียณเร็วเหมือนกัน แต่ระหว่างทางอาจไม่เหมือนกัน "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปทำความรู้จักกับ FIRE 4 รูปแบบหลักที่มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยต่างกันออกไป ดังนี้

 1. Lean FIRE 

สำหรับ Lean FIRE อาจเรียกได้ว่าเป็นสายประหยัด เนื่องจากที่มาของเงินเกษียณหลักๆ เกิดจากการตัดทุกค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างเข้มงวด จนกระทั่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายต่อปีของตัวเองได้มากถึง 25 เท่า โดยจะมีพฤติกรรมการใช้เงินตามที่ตัวเองกำหนดไว้อย่างเข้มงวด

ข้อดีสำหรับรูปแบบนี้ คือมักจะมีโอกาสไปถึงเป้าหมายได้รวดเร็ว ฝึกให้เป็นคนประหยัดหลังเกษียณ แต่ข้อด้อยก็คือต้องแลกมากับสิ่งที่คนวัยทำงานหลายคนขยาด นั่นคือแทบจะไม่ได้ใช้จ่ายเพื่อไลฟ์สไตล์ของตัวเองเลย 

 2. Fat FIRE 

พฤติกรรมของ Fat FIRE สรุปได้สั้นๆ ว่าเป็นสายไลฟ์สไตล์แน่น แต่ลงทุนหนัก โดยการวางแผนสไตล์ Fat คือ ยังคงใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ (แบบมีการวางแผน) แต่ส่วนที่เก็บเงินนั้นจะเน้นการนำเงินมาลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนเชิงรุก และสร้าง passive Income ให้เงินงอกเงยไปในเวลาเดียวกัน 

ข้อดีสไตล์นี้ คือยังคงได้ใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ ไม่เครียดเกินไป แต่ในทางตรงกันข้ามก็อาจจะเหนื่อยที่ต้องหารายได้เพิ่มเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย และอาจทำให้ไปถึงเป้าหมายช้าลงได้

\"เกษียณเร็ว\" ก่อนอายุ 40 ด้วยวิถี \"FIRE\" สู่การ “วางแผนการเงิน” 4 สไตล์

 3. Barista FIRE 

สำหรับ Barista FIRE เรียกได้ว่าเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป พฤติกรรมหลักๆ คือ ไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง มีการผสมระหว่าง Lean FIRE และ Fat FIRE

กลุ่มนี้จะมีรายได้จากพอร์ตลงทุนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนตัวแบบพอดิบพอดี แบ่งเงินออมและเงินลงทุนสร้างผลตอบแทนเชิงรุกและ passive Income ขณะเดียวกันก็เลือกหาทำงานพาร์ทไทม์ เป็นรายได้เสริมไปด้วย 

ข้อดีสำหรับรูปแบบนี้คือไม่เครียดเกินไป ไม่สูญเสียไลฟ์สไตล์ไปเสียทีเดียว แต่มีข้อด้อยอยู่เล็กน้อยสำหรับคนที่ไม่ชอบทำงาน ก็คือรูปแบบนี้อาจต้องทำงานพาร์ทไทม์ไปเรื่อยๆ หากไม่ต้องการให้กระทบพอร์ตลงทุนที่วางแผนเอาไว้

 4. Coast FIRE 

อีกหนึ่งรูปแบบคือ Coast FIRE ที่อาจเรียกว่าสายวางแผนก็คงไม่ผิดนัก เพราะ Coast FIRE จะมีการวางแผนเก็บเงินและลงทุน เพื่อให้ช่วง 30-40 ปีมีเงินออมมากพอที่จะเป็นเงินทุน เพื่อลงทุนต่อให้ถึงเป้าเมื่อต้องเกษียณอายุจริง (หลัง 60 ปี) 

ยกตัวอย่าง หากเราวางแผนให้ตัวเองมีเงินก้อนสำหรับการเกษียณอายุที่ 6,000,000 บาท ตอนอายุครบ 60 ปี โดยเราเชื่อว่าเราสามารถลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 5% ต่อปีแบบทบต้น คำนวณได้ว่าหากเราอายุครบ 30 ปี เราจะต้องเก็บเงินให้ได้ 1,400,000 บาท เพื่อลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ทบต้นต่อปี โดยเงินส่วนนี้จะเติบโตไปเป็น 6 ล้านบาทในเวลา 30 ปี เป็นต้น

พฤติกรรมแบบนี้เรียกว่า Coast FIRE ซึ่งถือเป็นก้าวแรกสู่อิสรภาพทางการเงินเท่านั้น เพราะพวกเขายังจะต้องทำงานพาร์ทไทม์เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันควบคู่ไปด้วย ระหว่างที่รอให้เงินพี่ลงทุนไว้เติบโตไปเป็นเงินสำหรับใช้หลักเกษียณแบบที่ตั้งใจเอาไว้

ทว่า ข้อดีสำหรับรูปแบบนี้คือ มั่นใจได้ว่าจะมีไม่ลำบากหลังเกษียณอายุจริง ส่วนข้อด้อยก็คืออาจจะยังวางมือจากการหารายได้เพิ่มไม่ได้ ยังต้องทำงานพาร์ทไทม์ควบคู่ หรือถ้าหากไม่เป็นไปตามแผน อาจต้องกลับมาทำงานประจำ แต่อย่างน้อยก็พอจะสบายใจได้ว่า เขาจะไม่ลำบากในวัยเกษียณที่อายุ 60 ปีแล้วนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่า FIRE คือไลฟ์สไตล์การเงินรูปแบบหนึ่งเท่านั้น อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน ทว่าใครที่ชอบความท้าทายและอยากทะลุเป้าอิสรภาพทางการเงินแบบไฟลุก FIRE ก็น่าจะเป็นทางเลือกในการวางแผนการเงินสำหรับตัวเองในอนาคตได้

--------------------------------------------------

อ้างอิง: bankoncube, thepoorswis, businessinsidermendetails