'วิธีคิด' สำคัญกว่า 'กำไร' 'ภานุวัจน์ ทองร่มโพธิ์'

'วิธีคิด' สำคัญกว่า 'กำไร' 'ภานุวัจน์ ทองร่มโพธิ์'

บางครั้งกำไรหุ้น ก็ไม่ใช่สูตรแห่งความสำเร็จ เท่ากับการซึมซับวิธีคิดเจ้าของหุ้นตัวจริง 'ภานุวัจน์ ทองร่มโพธิ์'

มุมหนึ่ง 'บอส-ภานุวัจน์ ทองร่มโพธิ์' ดีกรีปริญญาโท สาขาการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะบุตรชายคนโต จากพี่น้องจำนวน 2 คน (น้องชายคนเล็ก 'ธีรวัฒน์ ทองร่มโพธิ์' อายุห่างกัน 4 ปี กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีที่บอสตันประเทศสหรัฐอเมริกา) ของ 'สุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์' เจ้าของ บมจ.เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ ภายใต้แบรนด์ เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ กำลังขะมักเขม้นกับการทำหน้าที่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการเงิน ที่ผู้เป็นพ่อมอบหมายให้เมื่อต้นปี 2559

ขณะที่อีกฟากหนึ่ง 'ชายหนุ่มวัย 26 ปี' ยังสวมบทบาท 'นักลงทุนระยะยาว' หรือ Long Term Investments โดยมี 'วอร์เรน บัฟเฟตต์' บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า และ 'เบนจามิน เกรแฮม' ปรมาจารย์ด้านการลงทุน เป็นบุคคลต้นแบบในการลงทุนมาตั้งแต่วัยเรียน

หนึ่งในหลากหลายเรื่องที่ 'หนุ่มบอส' อดชื่นชมในตัว 'วอร์เรน' ไม่ได้ นอกจากจะมีความใจเย็นในการลงทุนเป็นที่ตั้งแล้ว ยังเป็นคนที่มีเงินมหาศาลแต่ไม่เคยแสดงออก ถือเป็นนักลงทุนที่สามารถยับยั้งชั่งใจไม่อวดมั่งอวดมี ที่สำคัญยังมีจิตสาธารณะ สะท้อนผ่านการบริจาคหุ้น เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ มูลค่า 2,840 ล้านดอลลาร์ เป็นการกุศล

ทว่าเมื่อทายาทเอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ มีความเชื่อที่ว่า ตลาดหุ้นเป็น 'แหล่งลงทุนชั้นยอด' เมื่อเทียบกับการนำเงินไปออมผ่านแบงก์ หรือลงทุนในพันธบัตรที่สร้างผลตอบแทนในอัตราต่ำ เขาตัดสินใจควักเงินลงทุนก้อนแรกหลักแสน เพื่อลงทุนในตลาดหุ้นอย่างจริงจังทันทีที่ เหยียบแผ่นดินไทยในปี 2551 หลังใช้ชีวิตในต่างแดนมาตั้งแต่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

ผลการลงทุนในปีแรก เขาฟันกำไรเหนาะๆ เฉลี่ย 15% หลังหุ้นหลายตัวมีฐานค่อนข้างต่ำ จากผลกระทบวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2551 หุ้นเด่นสุดประจำพอร์ตคงต้องยกให้ หุ้น โซลาร์ตรอน SOLAR หลังช้อนที่ระดับ 2-3 บาท ก่อนขายออก 7 บาท ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน

'ภานุวัจน์ ทองร่มโพธิ์' ปิดห้องประชุมเล็กเล่าเรื่องการลงทุนให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ชื่นชอบการลงทุนระยะยาวมากกว่าเล่นสั้นตามเส้นเทคนิค หลังค่าเงินทุกวันนี้เริ่มด้อยค่ามากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ฉะนั้นเมื่อต้องการรักษาเงินต้นให้อยู่รอดปลอดภัยจำเป็นต้องหาวิธีสร้างการเติบโตให้เงินในกระเป๋า

ลำพังจะนำเงินไปฝากแบงก์ เพื่อกินดอกเบี้ยดูจะไม่คุ้ม จะไปซื้อพันธบัตรในประเทศ หรือฟิวเจอร์ยิ่งไม่คุ้มใหญ่ เพราะผลตอบแทนบางเหลือเกิน ดังนั้นตลาดหุ้นถือเป็นแหล่งต่อยอดเงินที่ดีที่สุด พิสูจน์ได้จากผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยในปีก่อนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% ถือเป็นเบอร์หนึ่งในภูมิภาค

'ตลาดหุ้นไทยปีนี้คงวิ่งแถว 1,500-1,600 จุด ตราบใดที่ผลตอบแทนพันธบัตรภายในประเทศยังต่ำเช่นนี้ เพราะสุดท้ายทุกคนต้องมองหาการลงทุนที่สร้าง ผลตอบแทนที่ดีสุดหนึ่งในนั้น คือ ตลาดหุ้น'

เมื่อถามถึงกลุยุทธ์การลงทุน เขา เล่าว่า ช่วงแรกของการลงทุนนิยม 'หุ้นซิ่ง' ซื้อตามเพื่อนลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ แต่เมื่อการลงทุนเดินทางมาถึงจุดหนึ่งค้นพบว่า ข่าวอินไซด์จากคนใกล้ตัวที่อยู่ใกล้ข้อมูล บางครั้งก็ไว้ใจไม่ได้ ยิ่งหมดช่วงฮันนีมูนพีเรียด ยิ่งต้องใช้ความรอบคอบในการลงทุนอย่างมาก

เป้าหมายการลงทุนของหนุ่มบอส ไม่ได้มี 'ตัวเงิน' เป็นเส้นชัย แต่การได้เรียนรู้วิธีคิด และกลยุทธ์การทำงานของเจ้าของตัวจริงต่างหาก คือ เรื่องที่ต้องการมากที่สุด นักลงทุนรุ่นใหม่ บอกว่า นักลงทุนบางคนเลือกซื้อหุ้นเพียงเพราะบริษัทนั้นมีข้อมูลทางการเงินที่ดี แต่ผมไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องตัวเลขเป็นอันดับหนึ่ง สุดท้ายก็แค่กระดาษใบหนึ่ง งบการเงินใครก็ดูได้เด็กมัธยมก็ดูได้

ทว่าความยากของตลาดหุ้น คือ ทุกคนรู้ในสิ่งที่มี แต่ไม่รู้ในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ใครคาดเดาได้ก่อนคนนั้นจะเป็นสุดยอดของสุดยอด ไม่ต่างอะไรจาก 'ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร' นักลงทุนแนวเน้นคุณค่าชื่อดังของเมืองไทย หรือแม้กระทั่ง 'วอร์เรน บัฟเฟตต์' ที่อ่านเกมในบางธุรกิจในช่วงสิบปีข้างหน้าออกก่อนคนอื่นเสมอ

ส่วนตัวจะให้ความสำคัญกับ 'คำพูดมากกว่า 50%' อธิบายง่ายๆ ก่อนจะคัดหุ้นสักตัวเข้าพอร์ตต้องย้อนกลับไปอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารหรือเจ้าของตัวจริงว่า พูดแล้วทำได้หรือไม่ บางคนพูด 5 ทำได้ 1 ขณะที่บางคนพูด 1 ทำได้ 5 เรื่องเหล่านี้ต่างหากจะสะท้อนความสวยของหุ้นตัวนั้น เพราะเมื่อทำได้ตามที่พูด 'ฐานะการเงินที่ดี' ก็จะตามมาเอง

ทุกคนต่างมีสไตล์การลงทุนไม่เหมือนกันอย่างตัวเองเลือกมองมูลค่าของหุ้นมากกว่าการลงทุนด้วยเส้นเทคนิค พูดเช่นนี้ใช่ว่าไม่เคารพ แต่ท้ายที่สุดทุกคนย่อมมองหาคุณค่าไม่ได้มองหาจังหวะในการลงทุน จริงอยู่จังหวะเข้าลงทุนจะทำให้เรามี Safety Factor ถ้าซื้อถูก แต่ในระยะยาวมูลค่าหุ้น ก็จะวิ่งไปตามแวลูของบริษัทที่เปลี่ยนไป ความยากในการเข้าลงทุนมันอยู่ตรงนี้ต่างหาก

'ผมโชคดีมีเพื่อนอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทำให้รับรู้ข่าวสารและความเคลื่อนไหวได้ในหลายวงการ ถือเป็นการกรองข้อมูลระดับหนึ่ง'

หุ้นตัวไหนสร้างกำไรเด่นสุดในปีก่อน “นักลงทุนรุ่นเล็ก” ตอบว่า หุ้นตัวไหนสร้างกำไรมากสุดคงไม่สำคัญ บอกอย่างนี้ดีกว่า แม้ตลาดหุ้นจะผันผวนในปีก่อน แต่พอร์ตยังสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า 30% ส่วนใหญ่ได้กำไรจากหุ้นหลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มแฟนชั่น กลุ่มอาหาร และกลุ่มค้าปลีก เป็นต้น

'เราต้องเปลี่ยนวิธีการลงทุนไปตามภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างปีก่อนตลาดสวิงอย่าไปถือนานเต็มที่แค่ 3-6 เดือน ก็พอแล้ว แม้จะเป็นความคิดที่ผิดในบางครั้ง เพราะหุ้นบางตัวมีพื้นฐานที่ดีไม่มีวันเจ๊งก็ตาม' 

ปัจจุบันแทบไม่มีหุ้นอยู่ในมือ หลังล้างพอร์ตไปช่วงเดือนต.ค.ที่ผ่านมา และยังไม่คิดซื้อตัวไหนเข้าพอร์ต เพราะเท่าที่ดูตอนนี้ราคาหุ้นหลายตัวแพงเกินไป สะท้อนผ่านค่า P/E ของหุ้นบางกลุ่มที่อยู่ระดับ 19-20 เท่า

หลังรายย่อยเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น ทำให้หุ้นบางตัวมีราคาเกินพื้นฐาน ถามว่าจะเข้าลงทุนอีกครั้งช่วงไหน ตอบไม่ได้เหมือนกัน รู้เพียงว่า ซื้อตอนนี้ไม่คุ้มเสี่ยง ไม่แน่อาจเห็นโดดเข้าตลาดหุ้นหนักๆ อีกครั้ง ตอนเกิดวิกฤตอะไรสักเรื่องก็ได้นะ เขาพูดติดตลก

เคยขาดทุนหนักสุดกี่เปอร์เซ็นต์ เขาตอบคำถามนี้ว่า เจ็บตัวจากหุ้นซิ่งมากสุด 60-70% เพราะซื้อตามชาวบ้าน เหตุที่ยอมปล่อยให้ขาดทุนหนัก เพราะไม่ได้มองเงินเป็นเรื่องใหญ่ แต่ต้องการเรียนรู้จากการลงทุนมากกว่า เล่นหุ้นซิ่งเหมือนเล่นพนันบางครั้งคุณต้องเสี่ยงถึงจะรู้ว่าคิดผิดหรือคิดถูกอย่างตัวนี้ราคาลดลง เพราะมีดีลบางอย่างไม่จบ เราในฐานะนักลงทุนก็เรียนรู้กันไป

ข้อดีของการเป็นนักลงทุนรายย่อย คือ ได้เรียนรู้ธุรกิจ โดยไม่ต้องลงมือทำเอง ที่สำคัญได้รู้ถึงคีย์ซักเซสแฟกเตอร์ของบริษัทว่าคืออะไร การได้เห็นวิธีคิดของคนอื่น อย่างน้อยก็นำมาปรับปรุงแนวคิดของตัวเองได้

'ผมชอบวิชาคณิตศาสตร์มากกว่าศิลปะ เพราะเลขมีส่วนสำคัญในการใช้ชีวิต แต่ไม่มีความเชื่อในการเล่นหุ้นด้วยเส้นเทคนิค ตราบใดที่ไม่มีเหตุและผลมาสนับสนุนการลงทุน' นายน้อยแห่งโรงภาพยนตร์เอสเอฟ ทิ้งท้ายเช่นนั้น

ปั้นองค์กรสู่ตลาดหุ้น 'สตอรี่ปี 61'

'ภานุวัจน์ ทองร่มโพธิ์' เริ่มต้นสัมผัสชีวิตพนักงานในกิจการของครอบครัว ตั้งแต่อายุเพียง 20 ต้นๆ เขาเลือกชิมลางงานชิ้นแรกในตำแหน่งพนักงานขายตั๋วหนัง หลังเรียนรู้งานได้เพียง 3 เดือน ตัดสินใจขยับตัวเองไปสู่ตำแหน่งอื่นๆ เฉลี่ยเก้าอี้ละ 3-6 เดือน หวังเรียนรู้งานให้ได้มากที่สุด ก่อนองค์กรแห่งนี้จะเข้าสู่ฤดูผลัดใบ

นักธุรกิจวัย 26 ปี ยอมรับว่า ตำแหน่งพนักงานขายตั๋วหนัง ไม่ใช่งานง่ายๆ อย่างที่ใครหลายคนคิดมันยากมาก (ลากเสียงยาว) แต่จุดเด่นของงานชิ้นนี้ คือ ได้สัมผัสเอ็นยูสเซอร์โดยตรง ภายใน 30 วินาที พนักงานจะเห็นทั้งรอยยิ้มและความต้องการของลูกค้า ไม่มีงานตำแหน่งไหนได้ใกล้ลูกค้าเท่านี้อีกแล้ว

เมื่อเรียนรู้งานระดับปฎิบัติได้ไม่นาน ผู้เป็นพ่อตัดสินใจส่งต่อตำแหน่งผู้บริหารฝ่ายการตลาดอาวุโสให้ช่วยดูแลในปี 2553 ก่อนจะถูกยกระดับสู่ตำแหน่งผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารในปี 2556 ผ่านมา 6 ปี ผู้ให้กำเนิดโปรโมทขึ้นสู่เก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการเงิน หลังผลงานหลากหลายชิ้นสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า อายุเป็นเพียงตัวเลข

หนุ่มบอส บอกว่า แม้องค์กรแห่งนี้จะขยับตัวช้ากว่าองค์กรอื่นๆ เพราะคุณพ่อเป็นคนใจเย็น แต่รับรองว่า เด็ดทุกมัด หนึ่งในจุดเด่นของโรงหนังเอสเอฟ คือ รู้ลึกรู้จริงของคุณพ่อในฐานะเจนเนอเรชั่นหนึ่ง เพราะชั่วโมงบินที่สูง ทำให้มีอำนาจต้องรองคู่ค้าที่มาจากทุกมุมโลกได้ไม่ยาก เรามีสิทธิเลือกไพ่ใบที่ดีที่สุด

เป้าหมายระยะสั้นของเอสเอฟ เจ้าของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 750 ล้านบาท คือ เดินหน้าผลักดันบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2561 แม้จะเดินช้ากว่าแผนที่คาดว่าจะนั่งเป็นสมาชิกได้ภายในปี 2560 ก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทขยายตัวรวดเร็ว ทำให้ต้องหันกลับมาปรับระบบหลังบ้านใหม่ เรื่องงานระบบใช่ว่าจะทำวันนี้แล้วพรุ่งนี้เสร็จ ทุกอย่างต้องใช้เวลา

ส่วนแผนการขยายสาขาใหม่ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ ตลาดภาพยนตร์ยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด สวนทางกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่มักชื่นชอบการทำกิจกรรมประเภทนี้ เพราะราคาไม่แพงและใช้เวลาไม่นาน
สำหรับเป้าหมายการเปิดสาขาใหม่ ขอพูดเหมือนคุณพ่อเป๊ะ คือ เราไม่เคยมีเป้าหมาย เพราะพร้อมจะไปในทุกๆทำเล เรียกว่า มีศูนย์การค้าที่ไหนต้องมีเอสเอฟที่นั่น ส่วนแผนบุกตลาดต่างประเทศพวกเราไม่เคยละเลย แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา เพราะการโกอินเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพต้องมีพันธมิตรที่ดี

ปัจจุบันบริษัทมีโรงภาพยนตร์จำนวน 52 สาขา 346 โรงภาพยนตร์ 77,042 ที่นั่ง แบ่งเป็น โซนกรุงเทพและปริมณฑล 20 สาขา 140 โรงภาพยนตร์ 37,420 ที่นั่ง และโซนต่างจังหวัด 23 จังหวัด 32 สาขา 140 โรงภาพยนตร์ 39,622 ที่นั่ง

หลายปีที่ผ่านมา เรามีจำนวนโรงหนังเติบโตปีละ 10% บนสมมุติฐานการขยายสาขาใหม่เฉลี่ยปีละ 3-6 สาขา ข้อดีของธุรกิจโรงหนัง คือ เศรษฐกิจเหวี่ยงหรือนิ่งผลประกอบการของเราไม่สวิง เพราะเกิดวิกฤตผู้บริโภคก็ยังต้องการดูหนัง

ทายาทคนโตแห่งโรงหนังเอสเอฟ ทิ้งท้ายว่า 'พ่อไม่เคยบังคับให้เข้ามาสานต่อกิจการครอบครัว แต่ผมคิดว่ามันเป็นความรับผิดชอบ สุดท้ายเราหนีความรับผิดชอบไม่ได้ ฉะนั้นขอคิดในมุมกลับว่า ยินดีที่จะรับแล้วทำให้ดีที่สุด ที่สำคัญต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว แตกต่างจากหมวกการลงทุนที่ต้องทำด้วยความใจเย็น'