อดีตผู้ว่าการ ททท. แนะ ‘ฮาวทู’ หยุดวิกฤติ! เมื่อ ‘ท่องเที่ยวไทย’ ตกอยู่ในภาวะ Freefall

หากย้อนกลับไปในปี 2562 ก่อนโควิดระบาด ประเทศไทยมี “นักท่องเที่ยวจีน” จำนวนมากถึง 11 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 39.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 27% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด เฉลี่ยเดือนละ 900,000 คน วันละ 30,000 คน
แต่ในปี 2568 ตั้งแต่เดือนม.ค. จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงตามลำดับ จากเดือนละ 22,000 คนในเดือนม.ค. เหลือประมาณ 10,000 คนเมื่อสิ้นเดือนเม.ย. หรือในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยเฉลี่ยวันละ 13,000 กว่าคน
ยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)และอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรม “ท่องเที่ยวไทย” กำลังเผชิญภาวะ “Freefall” หรือ การตกแบบอิสระ จากการลดลงอย่างรวดเร็วของ “นักท่องเที่ยวจีน” หลังจำนวนนักท่องเที่ยวจีนต่ำกว่า 10,000 คน ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค. โดยวันที่ 4 พ.ค.68 มีจำนวน 7,770 คน วันที่ 5 พ.ค.68 มีจำนวน 7,288 คน วันที่ 6 พ.ค.68 มีจำนวน 8,628 คน ล่าสุดวันที่ 11 พ.ค.68 มีจำนวน 8,612 คน วันที่ 12 พ.ค.68 มีจำนวน 9,059 คน และวันที่ 13 พ.ค.68 มีจำนวน 8,379 คน
“การหดหายไปของนักท่องเที่ยวจีน ส่งผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั้งหมดที่เดินทางเข้าประเทศไทยลดลง จนต่ำกว่า 60,000 คนต่อวันไปแล้ว เช่น วันที่ 12 พ.ค.68 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 59,696 คน และวันที่ 13 พ.ค.68 จำนวน 57,211 คน”
อดีตผู้ว่าการ ททท. แนะนำว่า ให้เร่ง “Stop the Freefall” หยุดวิกฤติท่องเที่ยวไทย! ดึงนักท่องเที่ยวกลับมา และถือโอกาสนี้ปรับโครงสร้างนักท่องเที่ยวไปสู่กลุ่มคุณภาพเพิ่มขึ้น เริ่มด้วยการ “Rebrand” เพื่อที่จะ “Rebuild” ความเชื่อมั่น ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในฐานะ “ประเทศแห่งรอยยิ้มของคุณภาพ และความปลอดภัย”
ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงสร้างภาพลักษณ์ใหม่ แต่ต้องเน้นสร้างมั่นใจ ความรู้สึกปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐานบริการนักท่องเที่ยวเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการของ “Thai Hospitality” และไม่ใช่แค่ “Free Visa” หรือ การยกเว้นวีซ่า แต่รวมถึงปัจจัยที่เอื้อต่อการเดินทางอย่างสะดวก และปลอดภัย (Ease & Safe of Traveling) เพื่อสร้างความทรงจำที่ประทับใจตั้งแต่ก้าวแรกที่มาถึง และตลอดระยะเวลาที่เดินทางท่องเที่ยว “สร้างความปลอดภัย” แก่นักท่องเที่ยวในทุกมิติ
โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานด้านความปลอดภัย และสุขอนามัย ปัญหาอาชญากรรมต่อทรัพย์สินส่วนบุคคลของนักท่องเที่ยว อุบัติเหตุ ตลอดจนปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ และหลอกลวงนักท่องเที่ยว ในขณะที่แก้ปัญหาการคมนาคมยังไม่เป็นที่พึงพอใจของนักท่องเที่ยวมากนัก ทั้งด้านความพร้อมของสาธารณูปโภค คมนาคม (ถนน รถไฟ) และด้านคุณภาพการบริการ (แท็กซี่) พัฒนาระบบเตือนอุบัติเหตุ และอุบัติภัย มีหลากหลายภาษา
ขณะเดียวกัน สามารถชู “ซอฟต์พาวเวอร์” ของประเทศไทย และ “เมืองรอง” (เมืองน่าเที่ยว) เป็นจุดขายใหม่ สร้างภาพจำใหม่ โดยให้สะท้อนถึงความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และเป็นส่วนตัว ลบภาพเดิม และแบบแผนเดิมๆ ที่เน้น “เกาะ” และ “อาหาร” โดยสร้างเสริมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเมืองน่าเที่ยวบนพื้นฐานของอัตลักษณ์ท้องถิ่น ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต มาสร้างเป็นจุดหมายปลายทางที่สดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือการสร้างสรรค์กิจกรรมด้านดนตรี กีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม อาหารถิ่น งานประเพณี และความเชื่อศรัทธา
อีกกลยุทธ์ในการสื่อสารการตลาด เน้นความสนุก เพราะ “สนุก” ไม่ใช่แค่ความสุขชั่วคราว แต่เป็นหลักการที่เน้นย้ำถึงการนำความสุข และความเพลิดเพลินมาเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ต้องเร่ง “Reboot” เพื่อที่จะ “Revive” อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้กลับมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเหมือนในช่วงที่ผ่านมา โดยเน้นการเพิ่มรายได้จำนวนนักท่องเที่ยว ความถี่ และจำนวนที่นั่งของเที่ยวบินเข้าสู่ประเทศไทย เพิ่มการทำตลาดกับนักท่องเที่ยวกลุ่ม “Quality Mass” เช่น กลุ่มไมซ์ (MICE: ประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในระยะสั้น ขณะเดียวกันต้องเร่งส่งเสริมการขายในการนำเข้านักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง (Big Spender) ด้วย
รวมไปถึง “Reform” เพื่อที่จะ “Restructure” อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน ปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนา และส่งเสริมการท่องเที่ยวจาก “Demand-driven” ไปสู่ “Supply-driven” ด้วยการพัฒนาสินค้า และบริการที่ดีมีคุณภาพ และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์