'อิเกีย' ปี 2568 ขยายโลว์คอสต์ สโตร์ - สู่ยุคจ่ายเงินแบบไร้เงินสด

อิเกีย (IKEA) ประเทศไทยปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ในปี 2568 รับตลาดที่ไม่มีวันเหมือนเดิม ปรับสู่ 'โลว์คอสต์ สโตร์' สู่ยุคไร้เงินสดใน 4 สาขา
อิเกีย (IKEA) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้านขนาดใหญ่จากสวีเดน โดยปัจจุบันมีจำนวน 5 สาขาในประเทศไทย ได้แก่ บางนา ภูเก็ต บางใหญ่ สุขุมวิท และเชียงใหม่ ซึ่งเมื่อประเมินแต่ต้นปี 2568 ที่ผ่านมา แบรนด์ได้มีการปรับธุรกิจครั้งใหญ่หลายด้าน เพื่อรับมือกับโจทย์ความท้าทายในเรื่องเศรษฐกิจ และกำลังซื้อในประเทศไทย
ทั้งการขยายไปสู่การเปิดสโตร์ขนาดเล็ก หรือเรียกว่า โลว์คอสต์ สโตร์ โดยสาขาใหม่สาขาสุดอยู่ใน “ไลฟ์ เอ็กซ์เพรส” (Life Xpress) แฟลกชิปคอนวีเนียนซ์รีเทล ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บริษัท ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด , ซีพี ออลล์, ทรู และ ดีแคทลอน นำร่องในพื้นที่ทำเลเชียงใหม่ ได้เปิดให้บริการแล้วช่วงเดือนก.พ.2568 ที่ผ่านมา
สำหรับ “อิเกีย เชียงใหม่” (IKEA Chiang Mai Order Point) หรือจุดสั่งซื้อสินค้า มีขนาดพื้นที่ประมาณ 708 ตร.ม. ถือเป็นสาขาเล็กสุดในไทย ด้วยการนำเสนอสินค้ากว่า 300 รายการที่สามารถซื้อกลับบ้านได้ทันที พร้อมบริการ Click & Collect สั่งออนไลน์ และมารับสินค้าที่หน้าร้านได้
การปรับแผนขยายสโตร์ขนาดเล็ก ลงทุนน้อยกว่าปกติ
อีกทั้งสาขาแห่งนี้ได้ใช้งบลงทุนประมาณ 15 ล้านบาท น้อยกว่าปกติ 30-35% มาจากสาขาขนาดเล็ก และใช้วัสดุในการออกแบบที่มีความยั่งยืน และวัสดุรีไซเคิล สัดส่วน 25-30%
ทั้งนี้อิเกียได้วางนโยบายไว้ว่า โลว์คอสต์ สโตร์ อาจขยายเพิ่มเติมร่วมกับ กลุ่มซีพี ทั้งการขยายไปในทำเลเดียวกับร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น รวมถึงแม็คโคร และโลตัสได้เช่นกัน ซึ่งการเปิดสาขาขนาดเล็ก ถือว่ามีความสอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมเลือกซื้อสินค้าใกล้บ้าน ทำให้ร้านสะดวกซื้อมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และวางแผนเปิดเพิ่มประมาณ 6 เดือนต่อสาขา
การลดราคาสินค้าลงมา 25-30% รวม 1,000 รายการ
ขณะเดียวกันเพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจไทยที่มีการชะลอตัวลง ด้วยการปรับราคาสินค้าลงประมาณ 25-30% รวม 1,000 รายการ
สำหรับการปรับลดราคาสินค้าถือว่าได้ดำเนินการต่อเนื่องจากในปีก่อน เพื่อทำให้กลุ่มลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้อย่างสะดวกขึ้น
ปรับสู่การระบบชำระเงินในรูปแบบไร้เงินสด
ต่อมา อิเกีย ในไทยได้ประกาศแผนธุรกิจครั้งใหม่ ในการปรับระบบชำระเงินในรูปแบบ ไร้เงินสด ใน 4 สาขา ได้แก่ อิเกีย บางนา อิเกีย บางใหญ่ และ อิเกีย เชียงใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.2568
สำหรับ อิเกีย บางนา อิเกีย บางใหญ่ และ อิเกีย เชียงใหม่ จะรับเฉพาะบัตรเครดิต, การชำระเงินด้วย QR code, บัตรของขวัญอิเกีย และคะแนน IKEA Family ทั้งนี้ จึงทำให้มีอิเกียเพียง 1 สาขาที่รับชำระเงินแบบเงินสดได้ คือ อิเกีย ภูเก็ต
ทางด้าน ลีโอนี่ ฮอสกิ้น ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก อิเกีย ประเทศไทย และเวียดนาม กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า อิเกีย ได้มีการปรับแผนธุรกิจใหม่ สู่การปรับมาสู่การรับชำระเงินแบบไร้เงินสด เนื่องจากรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ส่วนใหญ่ไม่ชื่นชอบในการพกธนบัตร มั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าอีกด้าน
ทางด้านแผนการขยายสาขาขนาดใหญ่ในไทย ที่มีขนาดพื้นที่ 1.2 หมื่น ตร.ม. ยังไม่มีแผนขยายสาขาเพิ่ม เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมอาจยังไม่เหมาะสม และมีสาขาใหญ่ในเมืองที่ครอบคลุม ทำให้วางแนวทางการเปิดสาขาใหม่เพิ่มในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ ต้องประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ กำลังซื้อ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศไทย รวมถึงสถานการณ์ในโลก ดังนั้นการกลับมาขยายสาขาใหญ่อีกครั้งต้องดูที่ภาพรวมเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทในปี 2567 (ปีงบประมาณเดือนก.ย.2566 - 31 ส.ค.2567) สร้างรายได้รวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท (ราว 286 ล้านยูโร) เติบโต 3.9% อีกทั้งในปีก่อน ได้มีการลดราคาสินค้าลงมา จำนวนกว่า 2,400 รายการ ซึ่งมีสัดส่วน 85% เป็นสินค้าจำเป็นหรือสินค้าขายดี รวมถึงได้มีการลดค่าบริการขนส่งสินค้าโดยรถบรรทุก
ส่วนผลประกอบการของ อิคาโน่ รีเทล ผู้ถือแฟรนไชส์อิเกีย ทั้งประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เม็กซิโก และฟิลิปปินส์ ในปีงบประมาณ 2567 มีรายได้รวมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท (1.09 พันล้านยูโร) เพิ่มขึ้น 1.3%
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์