ทัพธุรกิจ 'ไทย-อิตาลี' บูสต์การค้าทะยาน 1.9 แสนล้าน เร่ง‘เอฟทีเอ’หนุนไทยฮับ
เวทีประชุม “อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม” (Italian-Thai Business Forum-ITBF) เกือบ 1 ทศวรรษ สะท้อนโมเมนตัมที่ดีในการขยายศักยภาพทางการค้าและการลงทุนร่วมกันระหว่างประเทศไทยและอิตาลีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ไทยและอิตาลี มีมูลค่าการค้าในปี 2566 รวม 5,062.15 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 1.9 แสนล้านบาท! ขยายตัว 3.32% เป็นการส่งออกมูลค่า 2,098.42 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้า มูลค่า 2,963.73 ล้านดอลลาร์ นับเป็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
โดยล่าสุด หอการค้าไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย จึงเดินหน้าจัด ประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ต่อเนื่องปีที่ 9 ณ Palazzo Vecchio เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ร่วมกัน
โดยมี นักธุรกิจชั้นนำจากประเทศอิตาลีและประเทศไทยเข้าร่วมทั้งหมด 29 บริษัท จากอิตาลี 13 บริษัท ไทย 16 บริษัท ครอบคลุมอุตสาหกรรมสำคัญตั้งแต่ อุตสาหกรรมยานยนต์, การธนาคาร, โครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง, อาหาร, ประกันภัย, เฟอร์นิเจอร์, ไลฟ์สไตล์, น้ำมันและก๊าซ, พลังงานหมุนเวียน, เครื่องจักร, น้ำตาล, ค้าปลีก, ยาง, ปิโตรเคมี และการท่องเที่ยว
การประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ครั้งที่ 9 (ITBF) เป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 156 ปี โดยเฉพาะในฐานะคู่ค้าคนสำคัญ โดยก่อนหน้านี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้เยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้หารือกับนางจอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลีเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนร่วมกัน โดย นางจอร์เจีย เมโลนี มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568 อีกด้วย
บุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานร่วมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม และที่ปรึกษากลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า “การประชุม Italian-Thai Business Forum จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 9 เพื่อสานสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยและอิตาลี รวมทั้งเป็นเวทีที่รวบรวมเหล่าซีอีโอและผู้นำของภาคเอกชนทั้งไทยและอิตาลีได้แสดงศักยภาพและความโดดเด่นของแต่ละบริษัท เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายหลากหลายแขนง อำนวยประโยชน์ด้านการค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศให้ขยายความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยอิตาลีถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 24 ของไทยและอันดับที่ 3 จากอียู
ด้านประธานร่วมฝั่งอิตาลี คาร์โล เปเซ็นติ ประธานร่วมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิตาโมบิลิอาเร กล่าวว่า อิตาโมบิลิอาเร ให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพการในการเติบโตสูง รวมถึงมีแนวคิดด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการบูรณาการ ESG ในทุกขั้นตอนของการลงทุน ดังนั้นการมีความเข้าใจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับข้อบังคับของยุโรปด้านความยั่งยืน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนในการเติบโตร่วมกันต่อไป
เกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวถึง จีดีพีไทยไทยไตรมาสแรกขยายตัว 1.5% เทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยว นอกจากนี้ภาครัฐยังชูวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ผลักดัน 8 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้ไทยเป็นฮับของภูมิภาค เร่งส่งเสริมการเจรจาเขตการค้าเสรี (Free Trade Area – FTA) ไทย-อียู ให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนในไทยผ่านหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI (Board of Investment) ออกมาตรการการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% นาน 5 ปี การยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น
ดร.ฟิลิปโป คอร์ซินี ศาสตราจารย์ด้านการจัดการความยั่งยืนจากสถาบัน Scuola Superiore Sant'Anna ให้ความเห็นว่าภาคธุรกิจมีความสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืน โดยนโยบายสำคัญของสหภาพยุโรป ได้แก่ European Green Deal ที่ตั้งเป้าบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 และลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิอย่างน้อย 55% ภายในปี 2030 นอกจากนี้ยังตระหนักถึงความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมุ่งเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์และการผลิตที่ยั่งยืน อาทิ สิ่งทอ, บรรจุภัณฑ์, อาหาร เป็นต้น
ธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานหอการค้าไทย ให้ข้อมูลว่าสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เน้นย้ำถึงการสานต่อ MOU ระหว่างสภาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าอิตาลี (Unioncamere: the Italian Union of Chambers of Commerce, Industry, Crafts and Agriculture) เพื่อผลักดันธุรกิจระดับ SME โดยเฉพาะด้านอาหาร, แฟชั่น (ผ้าไหม), ไลฟ์สไตล์ (เซรามิกและเฟอร์นิเจอร์) สู่ตลาดสากล
ในปีนี้ธุรกิจไทยและอิตาลีมุ่งต่อยอดโอกาสการค้าการลงทุนร่วมกัน บิ๊กคอร์ป “กลุ่มเซ็นทรัล” เจ้าของห้างรีนาเชนเต ประเทศอิตาลี โดยสาขาฟลอเรนซ์ ติดอันท็อปเทน ห้างสรรพสินค้าไฮเอนด์ที่ดีที่สุดในโลกในปี 2565 ปัจจุบันรีนาเชนเตมีทั้งหมด 9 สาขา ใน 8 เมือง อาทิ โรม มิลาน ฟลอเรนซ์ ตูริน ฯลฯ และยังครองอันดับ 1 ด้าน Online Store และ On Demand Chat & Shop มีผู้ใช้บริการมากกว่า 20 ล้านคน มีแบรนด์สินค้าภายในห้างกว่า 3,600 แบรนด์
นอกจากนี้ยังส่งเสริมสินค้าภูมิปัญญาไทยด้วยการนำกระเป๋า เครื่องแต่งกายที่ผลิตจากผ้าขาวม้าไทยมาจำหน่ายในห้างรีนาเชนเตอีกด้วย ส่วนในไทย เตรียมเผยโฉมใหม่ห้างเซ็นทรัล สาขาชิดลม ประเทศไทย อย่างเต็มรูปแบบปลายปีนี้ ในคอนเซปต์ The Store of Bangkok ด้วยงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท
กลุ่มเซ็นทรัลยังมุ่งส่งเสริมงานศิลปะด้วยการนำผลงานของศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดแสดงในงาน “เวนิส เบียนนาเล่” ครั้งที่ 60 เทศกาลศิลปะที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย
ทางด้าน “ธนาคารกรุงเทพ” ธนาคารใหญ่อันดับ 6 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่เปิดสาขาในต่างประเทศรวม 14 ประเทศทั่วโลก ในปี 2566-2567 มีแผนพัฒนาการบริการให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น อาทิ New Regional iCash, Domestic Blockchain Payment
"อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์" ผลิตและส่งออกเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นดีไซน์ด้านความยั่งยืน (Sustainable Design) และดำเนินธุรกิจโรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ระดับโลก Salone del Mobile หรือ Milan Design Week เมืองมิลาน เมื่อเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์ผลงานในอนาคต
ขณะที่ "โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่" บริษัทในเครือของกลุ่ม ปตท.ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ เน้นกลยุทธ์ปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยมลพิษ มุ่งพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียน, เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน (ESS - Energy Storage System) เป็นต้น
“กราฟีน ครีเอชั่นส์” กราฟีน เป็นวัสดุคาร์บอนที่ใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ปิโตรเคมี โพลิเมอร์ อิเล็กทรกนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ โดยตลาดกราฟีนทั่วโลกในปี 2565 มีมูลค่า 864.92 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 3,548.96 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีเช่น AI ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และมุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคต
"เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์" ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ให้บริการขนส่งที่หลากหลาย เช่น ทางรางผ่านรถไฟความเร็วสูง, ทางอากาศที่สนามบินอู่ตะเภาและสุวรรณภูมิ,ทางรถผ่านมอเตอร์เวย์, ทางทะเลผ่านท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด โดยมีบริการทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนและจีน อีกทั้ง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีแห่งอนาคตมาใช้ในคลังสินค้า อาทิ ASRS , AI, หุ่นยนต์ เป็นต้น
“ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี” ผู้นำด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในเอเชีย โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า มีฐานการผลิตทั้งในไทยและต่างประเทศครอบคลุมเขตอุตสาหกรรมหลัก เช่น แหลมฉบัง, ระยอง, นครนายก และสมุทรปราการ รวมถึงจีน อินเดีย ญี่ปุ่น อเมริกา และเวียดนาม และล่าสุดบริษัทคู่ค้าอย่างดูคาติ (Ducati) ได้ลงทุนตั้งฐานการผลิตที่จังหวัดระยองเมื่อเดือนเมษายน 2567
"วัฒนไพศาล เอ็นยิเนียริ่ง" ประกอบธุรกิจผลิตโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ อาทิ โรงไฟฟ้า, โรงกลั่นน้ำมัน, โรงปิโตรเคมี, ถังความดัน, และการติดตั้งเครื่องจักร เพื่อส่งออกตะวันออกกลางและสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างความสำเร็จของบริษัท เช่น การผลิตโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของไทย (Thai Sugar Mill) โดยปัจจุบันได้ทำงานร่วมกับบริษัทด้านน้ำมันและก๊าซที่มีชื่อเสียง เช่น Exxon, Ineos, Thai Oil เป็นต้น
สำหรับการประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่มในครั้งนี้ คณะกรรมการฝ่ายอิตาลีที่ได้เข้าร่วม 13 บริษัท ได้แก่ อิตาโมบิลิอาเร, อินเตซา ซานเปาโล, ซีไอเอส ซิซิลี, ซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล, เอเชีย แปซิฟิก เฟอเรโร่, คาวันญ่า กรุ๊ป, อินัลก้า ฟู้ด แอนด์ เบเวอเรจ- คีโมนีนี กรุ๊ป, ไซเปม, วิตตอเรีย, ดาเนียลี, พีเรลรี และ ลีโอนาโด
ผู้เข้าร่วมจากประเทศไทย 16 บริษัท ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล, กลุ่มมิตรผล, ไทยวิวัฒน์ประกันภัย, วัฒนไพศาล เอ็นยิเนียริ่ง, ธนาคารกรุงเทพ, หลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์, เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์, พิณสยาม, ไทยฮั้วยางพารา, บริษัท แอ็ลไลด์ เม็ททัลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด, ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป, บุญรอดบริวเวอรี่, กราฟีน ครีเอชั่นส์, ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี, โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ และ อุตสาหกรรม ดีสวัสดิ์ นอกจากนี้ยังมีผู้แทนภาครัฐ ได้แก่ เปาโล ดีโอนีซี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย และ เฟเดริโก้ คาร์ดินี่ ประธานหอการค้าไทย-อิตาเลียน เข้าร่วมด้วย