คนไทยใช้ ‘เครื่องบินส่วนตัว’ มากขึ้น ประหยัดเวลา รอขึ้นเครื่องไม่เกิน 7 นาที

คนไทยใช้ ‘เครื่องบินส่วนตัว’ มากขึ้น ประหยัดเวลา รอขึ้นเครื่องไม่เกิน 7 นาที

“เครื่องบินส่วนตัว” โตแรง! “MJets” เผย คนไทยหันใช้ไพรเวทเจ็ทมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อความหรูหราสะดวกสบาย แต่จะทำอย่างไรให้เวลาอันน้อยนิดมีประสิทธิภาพที่สุด มองอนาคตหากอีโคซิสเทมเกิด ราคาจะต่ำลง-คนเข้าถึงเพิ่มขึ้น ปีล่าสุดโกยพันล้านบาทแล้ว!

ปี 2562 ถึงปี 2565 นับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของธุรกิจทุกภาคส่วน ความปกติใหม่จากการแพร่ระบาดใหญ่ทำให้การเดินทางทั่วโลกต้องหยุดชะงัก ธุรกิจสายการบินเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ได้รับแรงกระแทกจากเรื่องนี้ ทว่า สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับเครื่องบินพาณิชย์เท่านั้น ธุรกิจเครื่องบินส่วนตัว หรือเครื่องบินเช่าเหมาลำ เป็นข้อยกเว้นให้กับผู้ที่มีความต้องการสามารถเข้ามาใช้บริการได้ตามปกติ “ไพรเวทเจ็ท” จึงเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ ที่ทำให้การติดต่อสื่อสารของภาคธุรกิจยังดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

“ณัฏฐภัทร สีบุญเรือง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด ผู้ให้บริการเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ระบุว่า เครื่องบินส่วนตัวยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ในปี 2562 ทำให้ “เอ็มเจ็ท” กลับมาปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น

ขณะที่สายการบินพาณิชย์หยุดให้บริการทั้งหมด กลุ่มลูกค้าที่สามารถเข้าถึงบริการไพรเวทเจ็ทได้ก็เริ่มหันมาให้ความสนใจเพราะนี่เป็นเพียงตัวเลือกเดียวในตลาด แต่ขณะเดียวกันก็พบว่า เมื่อได้ลองใช้บริการแล้วหลายคนก็มองเห็นถึงข้อดีว่า เครื่องบินส่วนตัวช่วยให้การบริหารเวลาอันน้อยนิดต่อวันทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่เกื้อหนุนให้ธุรกิจเติบโตเร็วขึ้น

“สิ่งที่เราชอบบอกกับลูกค้าของเรา คือไพรเวทเจ็ทอาจจะดูแพง แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่แพงที่สุดคือเวลา เพราะมีเงินเท่าไรก็ซื้อเวลาไม่ได้ ไพรเวทเจ็ทสามารถทำให้นักธุรกิจหลายๆ คนบริหารธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วขึ้น ใช้เวลาได้คุ้มค่ามากขึ้น”

คนไทยใช้ ‘เครื่องบินส่วนตัว’ มากขึ้น ประหยัดเวลา รอขึ้นเครื่องไม่เกิน 7 นาที -“ณัฏฐภัทร สีบุญเรือง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด-

“เวลา” ที่ณัฏฐภัทรกล่าวถึง นับตั้งแต่ทันทีที่ผู้โดยสารมาถึงสนามบิน ก้าวเท้าลงจากรถ และเทคออฟออกจากสนามบินไปยังจุดหมายปลายทาง เขาระบุว่า เวลาโดยเฉลี่ยที่ “เอ็มเจ็ท” ทำได้ หากเป็นเที่ยวบินในประเทศจะอยู่ที่ 5 นาที ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศเฉลี่ยที่ 7 นาที ซึ่งเวลา 2 นาทีที่เพิ่มขึ้น มาจากส่วนของฝ่ายตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และด่านศุลกากร หากเปรียบเทียบกับสนามบินทั่วไปที่ต้องมาถึงล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เครื่องบินส่วนตัวช่วยประหยัดเวลาตรงนี้ได้

สำหรับเลานจ์รองรับผู้โดยสาร หลายคนอาจคิดว่า บริการเครื่องบินส่วนตัวต้องมีการตกแต่งที่หรูหรามากกว่าสนามบินทั่วไป ทว่า เรื่องนี้อาจไม่ใช่โจทย์หลักของไพรเวทเจ็ท “ณัฏฐภัทร” อธิบายว่า “Core Business” ของธุรกิจนี้ไม่ใช่ความลักชัวรี-สะดวกสบาย แต่เป็นเรื่องของเวลา ทำอย่างไรให้ผู้โดยสารลงจากรถแล้วไปถึงเครื่องบินได้ภายในระยะเวลาที่เร็วที่สุด

นั่นคือเหตุผลที่เลานจ์ในสนามบินทั่วไปมีขนาดใหญ่พร้อมด้วยบริการนานาชนิด เนื่องจากทุกคนต้องรอเวลาในการขึ้นเครื่องบิน ส่วนเลานจ์ของ “เอ็มเจ็ท” ไม่ต้องมีขนาดใหญ่โต เพราะผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องรอ “ถ้ารอแปลว่าเรายังทำเซอร์วิสได้ไม่ดีพอ” ผู้บริหารเอ็มเจ็ทกล่าว

คนไทยใช้ ‘เครื่องบินส่วนตัว’ มากขึ้น ประหยัดเวลา รอขึ้นเครื่องไม่เกิน 7 นาที -เลานจ์รองรับผู้โดยสารของ “เอ็มเจ็ท”-

อย่างไรก็ตาม “ณัฏฐภัทร” เปิดเผยว่า ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้า 90% ใช้บริการในนามองค์กรและธุรกิจ ส่วนอีก 10% ใช้บริการในโอกาสพิเศษ หรือเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ แม้ไพรเวทเจ็ทจะเป็นเทรนด์ที่มีการเติบโตมากขึ้น แต่ไม่อยากให้มองว่า นี่คือส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างลักชัวรี ไลฟ์สไตล์ หากแต่เป็นเครื่องมือในการต่อยอดเพื่อดำเนินธุรกิจมากกว่า มองว่า การใช้เครื่องบินส่วนตัวช่วยประหยัดเวลา ทำให้เวลาอันมีค่าที่มีเพียงน้อยนิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่คือธรรมชาติของการใช้ไพรเวทเจ็ท

“หลายคนอาจมองว่า ไพรเวทเจ็ทราคาค่อนข้างสูง แต่ถ้าเทียบกับดีลที่นักธุรกิจไปลงทุนพอร์ชันส่วนนี้ต่ำมาก หากจะมองในมุมการใช้งานเพื่อไลฟ์สไตล์ ผมมองว่า เป็น “มิกซ์ไลฟ์สไตล์” มากกว่า คือไปเที่ยวด้วย ไปทำงานด้วย ก่อนเกิดโควิด-19 ลูกค้าแทบจะเป็นลูกค้าองค์กรเกือบ 100% ใช้เพื่อไลฟ์สไตล์น้อยมาก และส่วนใหญ่จะเป็นต่างชาติ แต่พอได้มาใช้แล้วก็เริ่มเห็นประโยชน์ สัดส่วนที่ใช้บริการในโอกาสพิเศษอาจจะเพิ่มขึ้น แต่เรายังไม่เห็นการเติบโตที่ชัดเจนในมุมนั้น”

คนไทยใช้ ‘เครื่องบินส่วนตัว’ มากขึ้น ประหยัดเวลา รอขึ้นเครื่องไม่เกิน 7 นาที

สำหรับสัดส่วนลูกค้าพบว่า เป็นคนไทย 40% ต่างชาติ 60% คนไทยใช้บริการมากขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ที่สัดส่วนคนไทยมีเพียง 20% และต่างชาติ 80% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคนจีนเสียส่วนมาก ทว่า ภายหลังเปิดประเทศนักท่องเที่ยวชาวจีนยังไม่ได้กลับมามีสัดส่วนเท่าเดิม เป็นไปได้ว่า ในอนาคตหากชาวจีนกลับมามากขึ้น พอร์ชันใของต่างชาติก็มีแนวโน้มจะดีดกลับสู่ 80% เช่นเดิม

ส่วนตัวเลขค่าบริการต่อครั้ง ผู้บริหารเอ็มเจ็ทระบุเพียงว่า ขึ้นอยู่กับระยะทางที่ลูกค้าเดินทาง ขณะนี้ราคาอาจอยู่ในระดับที่เข้าถึงได้เพียงบางกลุ่ม แต่หากในอนาคตโครงสร้างพื้นฐานและการวางอีโคซิสเทมเกิดขึ้นอย่างครอบคลุม เชื่อว่า ราคาจะต่ำลง อุตสาหกรรมนี้จะเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น 

เมื่อแง้มดูผลประกอบการ บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด ที่มี “ไมเนอร์ แอร์คราฟ โฮลดิ้ง” เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 49% พบว่า มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2565 ที่ผ่านมา และเป็นปีแรกที่ “เอ็มเจ็ท” พลิกทำกำไรได้สำเร็จ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ปี 2565: รายได้ 1,137 ล้านบาท กำไรสุทธิ 184 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้ 659 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 83 ล้านบาท
ปี 2563: รายได้ 601 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 26 ล้านบาท
ปี 2562: รายได้ 863 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 51 ล้านบาท