กูรูการตลาดเผยเทคนิค 4C social trend ดันยอดขายธุรกิจโอทอปไทยให้สุดปัง

กูรูการตลาดเผยเทคนิค 4C social trend ดันยอดขายธุรกิจโอทอปไทยให้สุดปัง

พลังแห่ง ‘วิดีโอสั้น’ เพิ่มยอดขาย กูรูการตลาดออนไลน์เผยเทคนิค ‘4C social trend’ ผ่านเวที OTOP Creative Ignitions จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชี้กลยุทธ์ทำแบรนดิ้งให้สินค้าโอทอปไทยไปไกลสุดปัง

KEY

POINTS

  • การขายสินค้าโอทอปแบบเดิมๆ ตามหน้าร้าน ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนี้แล้ว แต่ต้องขายผ่านออนไลน์ด้วย ดังนั้น การสื่อสารและการสร้างแบรนดิ้งในโซเชียลจึงมีความสำคัญ
  • ธัญญ์นิธิ กูรูด้านการตลาดและการทำแบรนดิ้งออนไลน์ แนะนำเทคนิค “4C social trend” เพื่อสื่อสารสินค้าไปยังผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายในโลกออนไลน์ให้กว้างขวางมากขึ้น มีส่วนกระตุ้นยอดขายได้ดี
  • โดยมีหลักการสี่ข้อคือ สื่อสารด้วยวิดีโอแนวตั้งแบบสั้นๆ, รู้จักลูกค้ารอบด้าน, ไลฟ์ขายของดันยอดขายได้สุดปัง, ทำการตลาด AFFILIATE ป้ายยาด้วยคนดังหรืออินฟลูฯ

ในแวดวงของผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ OTOP ของไทย มีหลายแบรนด์ที่เติบโตพุ่งแรง สร้างยอดขายและรายได้ถล่มทลาย แต่สำหรับผู้ประกอบการโอทอปมือใหม่อาจจะยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ยิ่งในโลกของการตลาดออนไลน์ในปัจจุบันที่ต้องใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างและมีความซับซ้อนมากขึ้น แบบนี้จะสามารถแนะนำสินค้าในมือไปถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร และควรเริ่มต้นจากตรงไหนดี?

กรุงเทพธุรกิจ ชวนหาคำตอบไปกับกูรูด้านการตลาดอย่าง “หนึ่ง-ธัญญ์นิธิ อภิชัยโชติรัตน์” ซีอีโอแห่งบริษัท สมอลเวิลด์ฟอร์คิดส์ จำกัด ที่ได้บอกเล่าเทคนิคด้านแบรนดิ้งและการตลาดต่างๆ แบบเจาะลึก ผ่านเวทีเสวนา “OTOP Creative Ignitions” จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ซึ่งผู้ประกอบการหน้าใหม่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้พัฒนาในธุรกิจของตนเองได้อย่างเป็นขั้นตอน

อยากขายของออนไลน์ ต้องเรียนรู้การสื่อสารในโซเชียลมีเดีย และเลือกแพลตฟอร์มที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ธัญญ์นิธิ บอกว่าไม่ว่าจะทำธุรกิจสินค้าโอทอปหรือธุรกิจอื่นๆ ก็ตาม การขายสินค้าแบบเดิมๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนี้ได้อีกต่อไป เมื่อสมัยนี้ช่องทางการจับจ่ายของผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่ที่ออนไลน์ ดังนั้น การเข้าไปสื่อสาร นำเสนอ รวมถึงการสร้างแบรนดิ้งในโซเชียลจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะยิ่งตะโกนออกไปให้คนในโลก (โซเชียล) ได้ยินมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้รับความนิยมมากกว่าคนที่ไม่ทำ

กูรูการตลาดเผยเทคนิค 4C social trend ดันยอดขายธุรกิจโอทอปไทยให้สุดปัง  ธัญญ์นิธิ อภิชัยโชติรัตน์ ซีอีโอบริษัท สมอลเวิลด์ฟอร์คิดส์ จำกัด วิทยากรจากเวที OTOP Creative Ignitions 2024

แต่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของสินค้าบางราย อาจจะยังไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นทำดิจิทัลแบรนดิ้งให้สินค้าตัวเองอย่างไร ถึงจะสื่อสารกับลูกค้าในโลกออนไลน์ได้อย่างกว้างขวาง และเพิ่มยอดขาดให้เติบโตสุดปัง

ธัญญ์นิธิ มีข้อแนะนำให้เริ่มต้นจากการดูเทรนด์และสถานการณ์ในแต่ละวัน ยิ่งสามารถนำคำฮิต วลีดัง ที่เป็นไวรัลหรือดราม่าในแต่ละช่วงเวลา เอามาผูกเชื่อมโยงกับสินค้าของเราได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสเชื่อมโยงถึงผู้คนในโลกออนไลน์ได้มากขึ้นเท่านั้น โดยเทรนด์เหล่านั้นค้นเจอได้ทุกวันผ่านแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์) โดยมีข้อมูลพบว่า หลังจากตื่นนอนคนไทยส่วนใหญ่จะเปิดดู X (ทวิตเตอร์) เป็นแอปฯ แรก เพื่ออัปเดตข่าวสารและเทรนด์ประจำวัน

ไม่เพียงเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักนำเสนอเรื่องราวของสินค้าเผยแพร่สื่อโซเชียลต่างๆ ด้วย เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ทั้งนี้ โซเชียลมีเดียในปัจจุบันมีอยู่หลายแพลตฟอร์ม แต่ละแพลตฟอร์มกลุ่มผู้ใช้งานก็มีอายุต่างกัน บทบาทหน้าที่ต่างกัน กำลังซื้อต่างกัน ฯลฯ ผู้ประกอบการจึงต้องรู้ว่าสินค้าของตัวเองจับกลุ่มเป้าหมายใดเป็นหลัก 

กูรูการตลาดเผยเทคนิค 4C social trend ดันยอดขายธุรกิจโอทอปไทยให้สุดปัง

หากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นวัยรุ่นวันเรียน หรือคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน ก็ควรเน้นเผยแพร่สินค้าของตนเองผ่าน Tiktok, IG (Story และ Reel) เนื่องจากมีข้อมูลพบว่าคนรุ่นใหม่อายุน้อยกว่า 35 ปีลงมา มักจะเปิดแอปฯ อินสตาแกรมหรือไอจีก่อนแอปฯ อื่นๆ รวมถึงนิยมดูคลิปสั้นบนติ๊กต็อกอีกด้วย ขณะที่หากกลุ่มเป้าหมายเป็นคนวัยทำงานอายุ 35 ปีขึ้นไป จะนิยมใช้งานแพลตฟอร์มเอ็กซ์ เฟซบุ๊ก ยูทูป ดังนั้นจึงต้องเน้นเผยแพร่สินค้าในช่องทางเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะต้องการเผยแพร่สินค้าของตนเองออกไปยังโซเชียลมีเดียในทุกช่องทางอย่างกว้างขวาง (แต่จะเน้นส่วนไหนมากน้อยกว่ากันค่อยว่ากันไปอีกเรื่อง) คำถามต่อมาก็คือ จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการสามารถสื่อสารแบรนด์สินค้าไปยังลูกค้าบนโลกออนไลน์ได้มากที่สุด ประหยัดเวลา และเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มอย่างกว้างขวางตามต้องการ

เปิดเทคนิคทำแบรนดิ้งออนไลน์ ให้ยอดขายสินค้าเติบโตสุดปัง

เรื่องนี้ ธัญญ์นิธิ แนะนำให้ใช้หลักการทำการตลาดและกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่สรุปออกมาให้ โดยเรียกว่า “4C social trend” ซึ่งประกอบไปด้วย

1. Content: Short Vertical VDO สื่อสารด้วยวิดีโอแนวตั้งแบบสั้นๆ

สิ่งแรกที่ธัญญ์นิธิแนะนำให้ผู้ประกอบการยุคนี้ต้องทำ คือ ถ่ายวิดีโอเป็นแนวตั้งแบบสั้นๆ เพราะว่าการสื่องสารในแอปฯ โซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นเทรนด์ที่มาแรงในปัจจุบัน และมาแรงทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Tiktok, Facebook, IG,  youtube Short, LINE Voom อีกทั้งเมื่อทำแล้วเพียงครั้งเดียว สามารถเอาไปอัปโหลดเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียได้ทุกช่องทาง ทำให้ประหยัดเวลา แต่สื่อสารสินค้าของผู้ประกอบการโอทอปออกไปถึงลูกค้าในวงกว้าง ทั้งนี้ มีเทคนิค 4 ข้อสำคัญในการสื่อสารผ่านวิดีโอสั้นได้สุดปัง จนมียอดผู้ติดตามที่สูงขึ้นกว่าวิดีโอสั้นทั่วไป ได้แก่ 

Real : ต้องสื่อสารความจริงด้วยความจริงใจ จริงจัง แต่ไม่ต้องปั้นแต่งมากนัก ไม่ต้องมีสคริปเยอะ ให้พูดให้เป็นธรรมชาติที่สุด เน้นสื่อสารด้วยความจริงใจ อย่ายึดติดกับความสมบูรณ์แบบ เน้นปริมาณการสื่อสารมากกว่าคุณภาพ ทำคลิปออกมาเยอะๆ ก่อน ไม่ต้องมีโปรดักชันดีเลิศ เพียงแต่เน้นความเรียลให้มากเข้าไว้ โชว์เบื้องลึกเบื้องหลังของผลิตภัณฑ์ 

การสื่อสารแบบง่ายๆ เรียลๆ ใส่ภาพสินค้าจริง มองเห็นชัดเจน ภาพคมชัด จะทำให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้ง่ายกว่า เช่น เวลาเรานำสินค้าไปจัดบูธ ไปออกงานแฟร์ ก็ถ่ายรูปสินค้าในสถานที่จริงๆ นั่นแหละเอามาโปรโมทผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งทำให้ลูกค้าซื้อผ่านออนไลน์ได้เลย อย่าไปรอคำว่าพร้อม หรือเสียเวลากับการทำสคริป เพราะคำว่าพร้อมอาจไม่มีอยู่จริง อย่าเตรียมตัวเยอะเพราะอาจจะยิ่งทำให้พูดไม่ไหลลื่น เวลาพูดบรรยายในคลิปสั้น ไม่ต้องพูดยาวๆ เราจะพูดผิดวิธีการคือ กดอัดเสียงแล้วให้พูดสั้นๆ แล้วกดหยุด แล้วค่อยกดอัดเสียงเพื่อพูดบทต่อไป แล้วค่อยเอาแต่ละบทมาตัดชนกัน ใช้แอปฯ ตัดต่อมาใช้งาน ซึ่งบางแอปฯ อย่าง Capcut ใช้งานฟรีๆ ได้เลย 

authentic : มีความเป็นเนื้อแท้ จงเป็นตัวของตัวเอง มีเอกลักษณ์ชัดเจน ไม่เลียนแบบใคร ต้องทำตัวเป็นแกะดำในฝูง เพื่อให้สินค้าของเราโดดเด่นที่สุด สร้างเอกลักษณ์ให้เราโดดเด่นกว่าคนอื่นให้ได้ เพื่อให้ลูกค้าจดจำเรามากกว่าคนอื่น เทคนิคการสร้างการจดจำ เริ่มต้นจากการแต่งกาย ใช้พร็อพ ใช้อุปกรณ์เพิ่ม ท่าทาง สร้างคาแรกเตอร์ให้โดดเด่น และใช้มันเป็นประจำในทุกๆ คลิปที่เผยแพร่ออกไป ตามสโลแกนที่ว่า “เห็นย้ำ เห็นซ้ำ จะจำได้” 

นอกจากนี้ หากไม่ต้องการเปิดหน้าตัวเองในคลิป ก็สามารถสร้างการจดจำด้วยเสียงก็ได้ ให้พากษ์เสียงตัวเองในทุกคลิปโปรโมตสินค้า โดยอาจใช้เทคนิคเสียงมาช่วย เพื่อทำให้เป็นเสียงตลก ก็สร้างการจดจำได้เช่นกัน หรืออาจจะใช้เทคนิคมุมกล้องที่จดจำได้ เช่น เพจกับข้าวกับปลาโอ ถ่ายมุมเดิมๆ เป็นประจำ ก็สร้างการจดจำได้ หรือสร้างการจดจำด้วยเสียงเพลง เช่น ไอศกรีมวอล ที่มีเพลงเปิดเวลาขับรถขายตามซอยบ้าน หรือเสียงดนตรีจากช่องเน็ตฟลิกซ์เมื่อเปิดขึ้นมาครั้งแรกพร้อมสัญลักษณ์ตัว N ใหญ่สีแดง เป็นต้น เวลาได้ยินเพลงหรือเสียงเหล่านี้บ่อยๆ เราก็จดจำได้ 

ข้อควรระวังคือ อย่าเอาโลโก้ เบอร์โทรศัพท์ มาแปะไว้ในภาพปกวิดีโอ หรือแปะไว้ช่วงแรกของคลิป เพราะทำให้คลิปดูรกสายตา เกะกะ และตัวแพลตฟอร์มจะลดการมองเห็นของคลิปนั้นๆ แล้วบังคับให้เรายิงแอด ดังนั้น แนะนำว่าให้เอาโลโก้แบรนด์ เบอร์โทรศัพท์ ไปแปะไว้ที่ท้ายคลิปจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะคุณจะได้ลูกค้าที่ดูวิดีโอคุณจนจบคลิป ซึ่งส่งผลดีต่อแบรนด์

dynamic : ต้องพูดให้เข้าประเด็นภายใน 3-5 วินาทีแรกของวิดีโอ การทำคลิปวิดีโอแนวตั้งสั้นๆ ไม่ต้องยืดเยื้อ ไม่ต้องสวัสดีหรือแนะนำตัว ให้พูดเข้าเรื่องเลยตั้งแต่ต้น เน้นกระชับฉับไว เข้าใจง่าย ใช้นำเสียงหลายระดับ เสียงทุ่ม เสียงแหลม เสียงหนัก เสียงเบา สลับกันไปตลอดคลิป เพื่อให้มีความน่าสนใจและดึงดูดใจ ทั้งนี้ แอปฯ โซเชียลแต่ละแอปฯ  พฤติกรรมคนเล่นไม่เหมือนกัน ถ้าจะเอาลงติ๊กต็อก ต้องเน้นสั้นๆ กระชับ ไปเลย รวมไปถึงการเปลี่ยนฉากทุกๆ 6 วินาทีด้วย ต้องเปลี่ยนมุมกล้องหลายๆ มุม เปลี่ยนฉากหลังหลายฉาก แล้วเอามาต่อๆ กันให้เป็นเรื่องราว ไม่ใช่ถ่ายวิดีโอแช่ไว้ฉากเดียวมุมเดียวซึ่งจะไม่น่าสนใจ

กฎ 15/60 วินาที : ถ้าจะยิงแอดต้องเป็นคลิปสั้นที่ห้ามเกิน 15 วินาที แต่ถ้าทำคลิปถ่ายโปรโมตสินค้าหรือสื่อสารเรื่องราวของแบรนด์ให้ทำคลิปสั้นที่ห้ามเกิน 60 วินาที ในการเผยแพร่ลงตามช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ 

กูรูการตลาดเผยเทคนิค 4C social trend ดันยอดขายธุรกิจโอทอปไทยให้สุดปัง

2. Customer 360 degree CRM CDP CEP รักษาสัมพันธ์ เก็บทุกรายละเอียด เรียกลูกค้ากลับมา

นอกจากการทำคอนเทนต์วิดีโอแนวตั้งสั้นๆ เพื่อสื่อสารกับลูกค้าในโลกออนไลน์แล้ว ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องรู้จักลูกค้าของตัวเองในทุกๆ มุมอย่างรอบด้าน ต้องมี “ฐานข้อมูลลูกค้า” เช่น ชื่อ วันเกิด เบอร์โทร ไอดีไลน์ ฯลฯ อาจทำผ่านการแจกบัตรสะสมแต้ม บัตรสมาชิก บัตรรับประกันสินค้า เพื่อเก็บข้อมูลเหล่านั้น การทำธุรกิจบนโลกออนไลน์นั้น การได้เบอร์โทรลูกค้ามา คือสิ่งมีค่า เพราะผู้ประกอบการสามารถยิงแอดนำเสนอสินค้าให้แก่ลูกค้าได้ตลอดไป ตรงนี้มีเทคนิคคือให้เก็บฐานข้อมูลในกูเกิ้ลชีต เพราะเปิดผ่านออนไลน์ได้เลย ใช้ฟรี และเอ็กซ์พอร์ตข้อมูลออกมาเพื่อยิงแอดได้เลย 

CRM รักษาสัมพันธ์กับลูกค้า : ทำผ่านการแจกบัตรสะสมแต้ม บัตรสมาชิกผ่านระบบออนไลน์ โดยทำผ่านไลน์ไว้ที่ reach menu การทำระบบนี้ลูกค้าจะต้องแอดเราเป็นเพื่อนก่อน ก็จะทำให้เรามีช่องทางในการติดต่อลูกค้าโดยตรง ลูกค้าจะได้รับโปรโมชันหรือสะสมแต้ม ส่วนผู้ประกอบการก็จะได้ฐานข้อมูลเบอร์มือถือและวันเดือนปีเกิดของลูกค้า เพื่อนำมาวิเคราะห์อินไซด์อายุของลูกค้า ทำให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังสื่อสารสินค้าและโปรโมชันต่างๆ ให้ถึงลูกค้าได้โดยตรง

ข้อแนะนำคือให้ทำระบบ OTP เพื่อความปลอดภัยของเบอร์โทรศัพท์ด้วย อีกทั้งควรทำ QR code เพื่อให้ลูกค้าสแกนสมัครสมาชิกออนไลน์ได้ง่ายๆ และอาจมีการเชิญชวนให้สมัครสมาชิกด้วยการมอบผลประโยชน์ให้ลูกค้า เช่น ให้ของขวัญหรือของแถมเพิ่มเติม ให้ส่วนลดเพิ่มพิเศษ ให้บัตรกำนัลเงินสด ให้แต้มสะสมเพิ่มพิเศษ หรือเมื่อเป็นสมาชิกแล้วสามารถสั่งชื้อเมนูพิเศษของร้านได้ เป็นต้น ลูกค้าที่เป็นสมาชิกจะรู้สึกว่าเขาพิเศษกว่าคนอื่นทั่วไป เราต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกพิเศษแล้วลูกค้าจะอยากสมัครสมาชิกกับทางแบรนด์ ยิ่งเก็บข้อมูลลูกค้าได้เยอะก็ยิ่งออกแบบทำแบรนดดิ้งได้ดี

CDP รู้ลึกทุกมิติของลูกค้า : ในการซื้อทุกครั้ง ผู้ประกอบการต้องจัดเก็บประวัติการซื้อของลูกค้าเอาไว้ด้วย เพื่อจะได้รู้ลึกถึงพฤติกรรมของลูกค้า การรู้ชื่อหรือชื่อเล่นเล่นของเขา รู้ว่าเค้าเคยซื้อสินค้าอะไรไปบ้าง ก็จะทำใหเราสร้างความคุ้นเคยกับลูกค้าได้ สามารถพูดคุยกับลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดสนิทกันเหมือนเป็นเพื่อน-ผู้ช่วย ช่วยเช็กข้อมูลให้ลูกค้าได้ว่าเคยซื้ออะไรไปบ้าง จะได้แนะนำสินค้าใหม่ๆ ได้ หรืออำนวยความสะดวกเล็กๆ น้อยๆ ก็จะได้ใจลูกค้ามากขึ้น ที่สำคัญต้องเอาข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ด้วย เพื่อพัฒนาต่อยอดสินค้าและบริการได้มากขึ้นไปอีก

CEP การเรียกลูกค้ากลับมาหาเราได้เรื่อยๆ : เช่น การยิงแอดหาลูกค้า ส่งโปรโมชันไปให้ลูกค้าผ่านช่องทางไลน์ต่างๆ บรอดแคสโปรโมชั่นต่างๆ ไปหาลูกค้าได้ในวงกว้าง แต่มีข้อควรระวัง คือ อย่าส่งโปรโมชันผิดๆ ไปให้ลูกค้า เช่น โปรโมชันสำหรับลูกค้าใหม่ แต่ลูกค้าคนนั้นเป็นลูกค้าเก่า ซึ่งอาจทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่ดีหรือรำคาญและบล็อกไลน์ของผู้ประกอบการได้ ดังนั้น ต้องติดแท็กไว้ว่าลูกค้าไหนเคยซื้อสินค้าไปแล้ว คนไหนยังไม่ซื้อ อีกอย่างคือ ควรเปลี่ยนวิธีการสื่อสารบ้าง โดยทำคอนเทนต์ให้ความรู้ต่างๆ ควบคู่ไปด้วย อย่าเน้นแต่ขายสินค้าแบบฮาร์ดเซลล์อย่างเดียว 

3. Live Commerce ไลฟ์ขายของ ให้ลูกค้าเลือกหยิบสินค้าลงตะกร้าได้ทันที

การขายของในโลกออนไลน์ ไม่ใช่แค่วางสินค้าบนแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์แล้วรอคนมากดซื้อ หรือการขายของผ่านวิดีโอแนวตั้งสั้นๆ บนโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่จุดสูงสุดของการขายของออนไลน์ คือ “การไลฟ์ขายของ” ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องฝึกไลฟ์กันแล้ว เพราะมันทำยอดขายได้อย่างถล่มทลาย

กูรูการตลาดเผยเทคนิค 4C social trend ดันยอดขายธุรกิจโอทอปไทยให้สุดปัง

ทั้งนี้ เทคนิคไลฟ์ขายของคือการเช็ตฉากและการแต่งกายให้สอดคล้องกับสินค้าของคุณ เช่น ไลฟ์ขายข้าวสาร ควรไลฟ์ในฉากทุ่งนา, ไลฟ์ขายทุเรียน ควรใช้ฉากในสวนทุเรียน ฯลฯ  ต้องให้ลูกค้าเห็นความเชื่อมโยง เห็นว่ามีสินค้าเยอะ เอาของมากองข้างหลังเยอะๆ เพราะคนดูจะรู้สึกว่าสินค้านี้ขายดี ต้องกระตุ้นความรู้สึกของลูกค้า คนซื้อสินค้าในออนไลน์จะซื้อด้วยอารมณ์เป็นหลัก ดังนั้นต้องเอ็นเตอร์เทนอารมณ์คนดูให้ได้ ให้เขาสนใจ แล้วจะมีโอกาสซื้อสินค้าเรามากขึ้น

เทคนิคการไลฟ์ คือ มีสคริป มีบทพูด ที่ถูกกลั่นกรองตามหลักจิตวิทยา ผ่านกลยุทธการสร้างศัตรูคู่แข่งขึ้นมา สร้างความลิมิเต็ด ชี้ว่าสินค้ามีจำนวนจำกัด ได้มาแค่จำนวนน้อย เช่น ใครที่เคยซื้อเแล้วอย่าซื้อ ขอจำกัดให้คนที่ยังไม่เคยซื้อ หรือซื้อได้แค่คนละหนึ่งถุงเท่านั้น หรือผู้ซื้อสิบออร์เดอร์แรกให้ฟรีหนึ่งแถมหนึ่ง ฯลฯ ชุดคำพูดเหล่านี้จะบีบความรู้สึกลูกค้าที่ดูอยู่ให้กลายเป็นผู้ซื้อ ทำให้ปิดการขายได้เร็ว เป็นกลยุทธ์สำหรับการดันยอดขายในโลกของการไลฟ์ขายของ อีกหนึ่งเทคนิคคือ ไม่ควรไลฟ์คนเดียว ควรมีแอดมินคอยตอบแชท หรือมีลูกคู่เชียร์สินค้า เพื่อให้ไลฟ์สนุกสนานบรรยากาศไม่เงียบเหงา

4. Collaboration with AFFILIATE Marketing การตลาดแบบป้ายยา

ผู้ประกอบการสามารถทำการตลาดแบบ Collab ร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังบนโลกโซเชียล หรือกับกลุ่มลูกค้าของตัวเองได้ โดยเปลี่ยนให้อินฟลูฯ หรือลูกค้าของเรา มาเป็นนายหน้า ช่วยขายสินค้าให้เราได้ แล้วแบ่งรายได้ให้กับพวกเค้าในทุกๆ ออร์เดอร์ที่ขายได้ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนำสินค้าเราไปฝากวางในช่องของร้านค้าออนไลน์เจ้าดังๆ ที่มียอดคนดูในไลฟ์เยอะๆ เราขอเอาตะกร้าสินค้าเราไปแปะไว้ในไลฟ์ของแม่ค้าหรือร้านค้าเจ้านั้น หากสินค้าเราขายได้ก็ให้ส่วนแบ่งค่าคอมมิสชันแก่ร้านนั้นไป

อีกหนึ่งวิธีคือ การส่งสินค้าไปให้คนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังในโลกออนไลน์ แล้วขอให้เขาช่วยใช้สินค้าหรือโปรโมตสินค้าให้เรา โดยเราให้ส่วนแบ่งค่าคอมมิสชันเขาไป อีกทั้งอาจให้ “โค้ดลับส่วนลด” ให้คนดังหรืออินฟลูฯ เอาไปโปรโมตในช่องทางโซเชียลมีเดียของพวกเขาด้วย โดยให้เขาโพสต์รูปการใช้งานสินค้าของเรา แล้วเอาโค้ดส่วนลดพิเศษนี้ไปแจกเฉพาะการซื้อผ่านช่องทางของพวกเขา ลูกค้าที่เห็นโพสต์นั้นแล้วมาซื้อตาม ก็จะได้ส่วนลดจากโค้ด ส่วนอินฟลูฯ ก็ได้ส่วนแบ่งไปด้วย  

อย่างไรก็ตาม เทคนิค “4C social trend” ที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการทำแบรนดิ้งและการตลาดบนโลกออนไลน์เท่านั้น ยังมีกลยุทธ์อื่นๆ อีกมากมายที่ผู้ประกอบการสามารถศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมให้มากขึ้น โดยอาจเรียนรู้เพิ่มเติมจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่มีคลังความรู้ให้ศึกษามากมาย ส่วนเทคนิคนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มต้นขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งอาจยังไม่รู้ว่าจะเริ่มทำแบรนดิ้งออนไลน์จากตรงไหน ก็เชื่อว่าสามารถนำข้อมูลความรู้ชุดนี้ไปฝึกทำและปรับใช้งานได้อย่างเข้าใจโลกออนไลน์มากกว่าที่เคย