ปัญหาที่ โบอิ้ง และผลกระทบต่อธุรกิจการบิน | พสุ เดชะรินทร์

ปัญหาที่ โบอิ้ง และผลกระทบต่อธุรกิจการบิน | พสุ เดชะรินทร์

ธุรกิจผลิตเครื่องบินเพื่อการพาณิชย์เป็นที่รับรู้กันว่าเป็นธุรกิจที่มีลักษณะ Duopoly ที่มีผู้เล่นรายใหญ่ครองตลาดส่วนอยู่ ได้แก่ Boeing จากอเมริกา และ Airbus จากทางฝั่งยุโรป

อย่างไรก็ดีในช่วงนี้ดูเหมือนทางโบอิ้งจะเพลี่ยงพล้ำมากขึ้น ซึ่งไม่ได้มาจากความด้อยกว่าในกลยุทธ์หรือการแข่งขัน แต่มาจากปัญหาภายในของโบอิ้งเอง

ตั้งแต่ก่อนโควิดแล้วที่จะได้ยินข่าวไม่ดีเกี่ยวกับเครื่องรุ่น 737 Max ของโบอิ้ง ตั้งแต่เครื่องตก จนกระทั่งประตูหลุดออกมากลางอากาศ ซึ่งจากการสอบสวนของทั้งโบอิ้งและภาครัฐ ก็พบว่ามาจากเรื่องคุณภาพในการผลิตของโบอิ้ง ทำให้โบอิ้งจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเครื่องบินนานขึ้นเพื่อให้มั่นใจในเรื่องของคุณภาพ และส่งผลต่อความล้าช้าในการผลิต

คาดว่าในต้นปี 2024 นี้โบอิ้งสามารถส่งมอบเครื่อง 737 ได้จำนวน 15 เครื่องต่อเดือน ซึ่งน้อยกว่าครึ่งของกำลังการผลิตที่ทำได้เมื่อตอนสิ้นปีที่แล้ว และผลของความล่าช้าดังกล่าวส่งผลกระทบผลการดำเนินงานของทั้งโบอิ้งเองและลูกค้าซึ่งก็คือสายการบินต่างๆ

ทั้งสายการบินแบบ Full-Service และสายการบินต้นทุนต่ำ ต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาของโบอิ้งโดยถ้วนหน้า เนื่องจากเครื่องรุ่น 737 เป็นรุ่นยอดนิยมที่สามารถบินได้ทั้งระยะสั้นและระยะกลาง ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ทำให้หลายสายการบินจะต้องปรับลดเที่ยวบินลง ชะลอการรับนักบินใหม่ ปรับแผนการบิน รวมทั้งปรับประมาณการทางการเงินของปีนี้ใหม่ เนื่องจากโบอิ้งไม่สามารถส่งมอบเครื่องบินได้ตามกำหนด

ล่าสุดซีอีโอของสายการบินที่เป็นลูกค้าของโบอิ้งถึงขั้นนัดหมายกัน เพื่อเข้าพบคณะกรรมการของโบอิ้ง เพื่อทั้งกดดันและคุยกันถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติและแสดงถึงความไม่ไว้วางใจต่อฝ่ายบริหารของโบอิ้ง

สุดท้าย Dave Calhoun ซีอีโอของโบอิ้งก็ได้ประกาศที่จะลงจากตำแหน่งภายในสิ้นปีนี้หรือเมื่อสามารถหาคนมาแทนได้ และรวมทั้งการลาออกของผู้บริหารระดับสูง และมีการเปลี่ยนตัวประธานกรรมการบริษัทใหม่ อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนซีอีโอใหม่อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในระยะสั้น เพราะปัญหาของโบอิ้งนั้นเหมือนจะถูกหมักหมมมานานพอสมควร 

สังเกตจากกระบวนการหาซีอีโอใหม่ ที่อาจจะลากยาวและใช้เวลาไปถึงสิ้นปีนี้ แสดงให้เห็นว่าบริษัทเองไม่ได้มีแผนในการสืบทอดตำแหน่งหรือเตรียมพร้อมคนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ อีกทั้งตัว Calhoun เองก็เพิ่งได้รับการต่ออายุให้ทำงานออกไปหลังจากอายุเลยอายุเกษียณที่ 65 ปีไปแล้ว

นอกจากนี้รากของปัญหาที่เกิดขึ้นที่โบอิ้ง มาจากการออกแบบกระบวนการในการผลิตเครื่องบิน ที่เป็นการผลิตคล้ายๆ สายพานในโรงงานที่เครื่องบินจะเคลื่อนจากสถานีหนึ่งไปยังอีกสถานี แต่ละสถานีก็จะมีช่างและอุปกรณ์ในการทำงานและประกอบเครื่องบิน

อย่างไรก็ดีเนื่องจากเครื่องบินมีชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากและมีความซับซ้อน ดังนั้นถ้าที่สถานีใดที่ชิ้นส่วนขาดไป เครื่องบินก็ต้องถูกเคลื่อนไปยังสถานีต่อไปตามเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า

ส่วนชิ้นส่วนที่ขาดไปนั้น ก็จะถูกนำมาประกอบภายหลังในจุดอื่นที่ไม่ใช่สถานีที่กำหนดไว้ ซึ่งโบอิ้งก็เรียกการทำแบบนี้ว่า Traveled Work และปัญหาของ Traveled Work คือการประกอบชิ้นส่วนนอกสถานีที่ได้รับการออกแบบไว้ ทำให้อาจจะทำได้ไม่สมบูรณ์แบบ

พนักงานก็ยอมรับว่า Traveled Work ทำให้ทำงานยากขึ้นและมีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย ทางโบอิ้งเองก็ทราบถึงปัญหานี้และตั้งเป้าที่จะลด Travled Work ลง แต่สุดท้ายก็ต้องแลกระหว่างเวลากับคุณภาพ เนื่องจากถ้าจะลด Traveled Work ก็จะต้องรอให้ชิ้นส่วนที่ขาดไปมาครบ ซึ่งก็ทำให้กระบวนการหยุดชะงัก และส่งผลต่อการส่งมอบเครื่องบิน

ในอดีตโบอิ้งเน้นการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบให้ทัน โดยเฉพาะเมื่อสายการบินต้องการเครื่องบินมากขึ้นจากการฟื้นตัวของธุรกิจภายหลังโควิด แต่ก็แลกมาซึ่งคุณภาพ ชื่อเสียง และผลประกอบการที่ตกต่ำลง

ผู้นำคนใหม่ของโบอิ้งจะต้องทั้งกอบกู้ชื่อเสียง การปรับวัฒนธรรมการทำงาน และการปรับกระบวนการผลิต ซึ่งดูแล้วเป็นงานที่ท้าทายมากทีเดียว