Gen Z ไม่กล้าซื้อบ้านเป็นของตัวเอง วิจัยชี้ คนรุ่นพ่อแม่ มีบ้านง่ายกว่า

Gen Z ไม่กล้าซื้อบ้านเป็นของตัวเอง วิจัยชี้ คนรุ่นพ่อแม่ มีบ้านง่ายกว่า

อยากมีบ้านแต่เอื้อมไม่ถึง! 1 ใน 3 ของ “Gen Z” หวังครอบครัวช่วยออกเงินดาวน์บ้าน วิจัยชี้ คนรุ่นใหม่เผชิญวิกฤติหนักกว่าพ่อแม่ บางส่วนดิ้นรนเก็บเงินดาวน์ แต่เจอแบงก์สกัด “กู้ไม่ผ่าน” รายได้เฉลี่ยครัวเรือนสหรัฐ ต่ำกว่าเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนดขั้นต่ำเพื่อกู้ซื้อบ้าน

ข่าวคราวเรื่องวิกฤติที่อยู่อาศัยในประเทศไทยถูกพูดถึงมาพักใหญ่แล้ว โดยเฉพาะเกณฑ์การปล่อยกู้ของสถาบันทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น จนทำให้หลายคนกู้ไม่ผ่าน-ถูกธนาคารปฏิเสธให้สินเชื่อ กระทบเป็นโดมิโน่ถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะบ้านแนวราบ และโครงการ “บ้านต่ำ 3 ล้าน” ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้น้อย

เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบ้านเราเท่านั้น แต่ที่สหรัฐเองก็กำลังเผชิญกับวิกฤติในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่วัยทำงานอย่าง “Gen Z” สำนักข่าวบิซิเนส อินไซเดอร์ (Business Insider) รายงานผลการสำรวจจาก “Redfin” เว็บไซต์ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของสหรัฐ ทำการเก็บผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 3,000 คน โดยพบว่า 1 ใน 3 ของ Gen Z วางแผนที่จะใช้เงินของพ่อแม่เพื่อการดาวน์บ้าน พวกเขาคาดหวังว่า ครอบครัวจะช่วยสนับสนุนเงินก้อนในส่วนนี้ ท่ามกลางราคาบ้านที่สูงลิ่วเพิ่มขึ้นทุกวัน

นอกจากวางแผนใช้เงินของครอบครัวแล้ว กว่า 13% ยังระบุว่า พวกเขาวางแผนที่จะอาศัยใต้ชายคาเดียวกับพ่อแม่หรือสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ไปก่อน ซึ่งภายใต้รายละเอียดของผลสำรวจนี้ยังพบอีกว่า “ครึ่งหนึ่ง” ของกลุ่ม Gen Z หรือกลุ่มมิลเลนเนียลบอกว่า พวกเขาไม่มีความกระตือรือร้นที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเองในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากราคาบ้านที่สูงเกินเอื้อม หลายคนต้องใช้ความพยายามในการเก็บเงินก้อนหลายต่อหลายครั้ง โดยตั้งเป้าเป็นการเก็บเงินเพื่อดาวน์บ้าน และบางส่วนมองว่า ตนเองกำลังถูกกีดกันออกจากระบบ เนื่องจากเกณฑ์เรื่องรายได้ขั้นต่ำในการขอกู้แบงก์

“ดาริล แฟร์เวเธอร์” (Daryl Fairweather) นักเศรษฐศาสตร์จาก “Redfin” อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับ Gen Z ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “Nepo Baby” คำศัพท์สแลงที่ย่อมาจาก “Nepotism Baby” หมายถึง คนที่พ่อแม่มีฐานะทางการเงินดี จนสามารถ “ล้มบนฟูก” ได้ มีข้อได้เปรียบอย่างมากในสภาวะทางเศรษฐกิจเช่นนี้ วัยรุ่นจำนวนมากที่ครอบครัวมีทรัพย์สินเพียบพร้อมจึงได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้โดยง่าย แม้ว่าพวกเขาจะมีรายได้ของตนเองที่สมบูรณ์แบบแล้วก็ตาม

“แฟร์เวเธอร์” ระบุว่า ปัญหาที่ใหญ่กว่า คือคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันที่ไม่ใช่ “Nepo Baby” มักถูกกีดกันจากการเป็นเจ้าของบ้าน แม้หลายคนจะมีรายได้ที่ดีแล้วแต่พวกเขาก็ไม่สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้ เนื่องจากไม่มีเงินเก็บก้อนโตของครอบครัวไว้พิงหลัง ฉะนั้น เมื่อคนเหล่านี้เก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง พวกเขาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มากกว่านำมาวางเป็นเงินดาวน์บ้านที่จะสร้างภาระผูกพันไปอีก 30 ปี

วิกฤติที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นทำให้ช่องว่างเรื่องรายได้ในสังคมอเมริกันขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ หนุ่มสาวหลายคนต้องดิ้นรนเพื่อให้ตนเองก้าวทันเพื่อนคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน หากยังไม่มีสถานะที่ดีเพียงพอ พวกเขาอาจสูญเสียสิทธิพิเศษบางอย่าง และอาจโดนปิดกั้นจากช่องทางเพื่อการแสวงหาความมั่งคั่งในอนาคตไปในที่สุด

“ความฝันแบบ American Dream ให้ความสำคัญกับการขยับสถานะทางสังคมพอๆ กับการมีที่อยู่อาศัยตามแบบฉบับคนอเมริกัน รายได้และความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยที่ลดหลั่นลงไป ทำให้คนรุ่นใหม่บรรลุองค์ประกอบทั้งสองได้ยากขึ้น” แฟร์เวเธอร์กล่าว

เพื่อที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองได้ คนอเมริกันต้องมีรายได้เฉลี่ยราว 114,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทยราว “4 ล้านบาท” ขณะที่ทุกวันนี้รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอเมริกาอยู่ที่ 84,072 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว “3 ล้านบาท”

 

อ้างอิง: Business Insider