‘คนไทย’ ซื้อบ้านไม่ไหว ส่วนใหญ่รายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน

‘คนไทย’ ซื้อบ้านไม่ไหว ส่วนใหญ่รายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน

อยากซื้อแต่ราคาทำเอื้อมไม่ถึง! ผลสำรวจ “SCB EIC” ชี้ คนส่วนใหญ่อยากซื้อบ้านมากกว่าเช่า แต่เจอแรงกดดันหลายด้าน มีหนี้เยอะ-บ้านแพง-ดอกเบี้ยสูง ทำคนไทยเป็นเจ้าของบ้านน้อยลง แนะผู้ประกอบการทำตลาดที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท หนุนกลุ่มรายได้ปานกลางมีบ้านเป็นของตัวเอง

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยยังอยู่ในระดับน่ากังวล ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า “คนไทย” เป็นหนี้เพิ่มขึ้น โดยส่วนที่น่ากังวลคือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จำพวกหนี้เพื่อการอุปโภค-บริโภค หนี้จากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะทางเลือกชำระเงินแบบ “BuyNowPayLater” ที่ทำให้ปัจเจกบุคคลมีการก่อหนี้ในระยะยาว ขณะที่หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ อาทิ “หนี้บ้าน” กลับมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย ซึ่งพบว่า ไม่ได้เกิดจากความต้องการเป็นเจ้าของบ้านลดลง หากแต่เป็นปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อที่จำเป็นของคนไทย

ผลสำรวจล่าสุดจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า สัดส่วนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของคนไทยลดลง เนื่องจากเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน อาทิ ราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนที่ยังสูงต่อเนื่อง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยบ้านก็ด้วย แม้ว่าที่ผ่านมาตลาดที่อยู่อาศัยจะเริ่มกระจายตัวไปยังเขตชานเมือง-ปริมณฑลมากขึ้น รองรับการขยายตัวด้วยไปยังโซนอื่นๆ แต่ถึงอย่างนั้นสัดส่วนการครอบครองบ้านก็ยังชะลอตัวอยู่ดี

สาเหตุสำคัญมาจากราคาที่อยู่อาศัยที่ยังปรับตัวสูงต่อเนื่อง ทั้งราคาที่ดินและต้นทุนการก่อสร้างดันราคาบ้าน-คอนโดฯ พุ่ง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยบ้านที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้ผู้ซื้อที่มีระดับรายได้ปานกลางและกลุ่มเปราะบางทบทวนอย่างหนักก่อนที่จะซื้อบ้าน-เข้าเป็นเจ้าของ โดย “SCB EIC” พบว่า อันที่จริงแล้วกลุ่มคนส่วนใหญ่ยังอยากซื้อบ้านมากกว่าเช่าอยู่ หากแต่พวกเขามีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับการซื้อ ส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน มักมองหาที่พักที่มีค่าเช่าไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ขาดความพร้อมในการขยับขยายมาเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ยังมีเงินดาวน์ไม่พอไม่เพียงพอ ทั้งยังกังวลเรื่องรายได้และค่าใช้จ่ายที่จะมาถึงในอนาคตร่วมด้วย

ข้อมูลจาก “SCB EIC” ระบุว่า สัดส่วน “บ้านเช่า” ในปี 2565 อยู่ที่ 42% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (ปี 2564) ราว 4% ทั้งยังพบว่า แม้จะมีโครงการบ้านจัดสรรแถบชานเมือง-ปริมณฑล แต่ราคาขายก็ยังสูงเกินเอื้อมอยู่ดี เนื่องจากปัจจุบันที่ดินผืนใหญ่เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยหาได้ยากขึ้น บวกกับการมาถึงของการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า ดันพื้นที่นอกเมืองราคาสูงขึ้นจากความเป็นเมืองที่ขยายตัวครอบคลุม

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบอีกว่า “Gen Y” และ “Gen Z” วางแผนที่จะเช่าที่อยู่อาศัยมากกว่าคนเจเนอเรชันอื่นๆ ด้วยเหตุผลเรื่องความพร้อมและข้อจำกัดด้านสถานภาพทางการเงิน ทั้งยังต้องการย้ายที่อยู่อาศัยตามที่ทำงานใหม่ รวมถึงทัศนคติเรื่องไม่ต้องการครอบครองบ้าน ไม่ได้อยากมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ทาวน์เฮาส์และคอนโดมิเนียมระดับปานกลางยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง ผู้ประกอบการอาจหันมาทำตลาดเพื่อเร่งระบายโครงการบ้านทาวน์เฮาส์และกลุ่มคอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท อาจช่วยให้ส่วนที่เหลือขายสะสมปรับตัวลดลง นอกจากนี้ “บ้านมือสอง” ก็เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจในขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยใหม่ยังปรับตัวสูงต่อเนื่อง

 

อ้างอิง: SCB EIC