คอนเสิร์ตเกาหลี-ต่างประเทศ แห่จัดทุกวีค 'เงินไหลออก ผู้จัดไทยถูกแบ่งเค้ก'

คอนเสิร์ตเกาหลี-ต่างประเทศ แห่จัดทุกวีค 'เงินไหลออก ผู้จัดไทยถูกแบ่งเค้ก'

อุตสาหกรรมการจัดคอนเสิร์ตในประเทศไทยมีการประเมินมูลค่าระดับ 6,000-8,000 ล้านบาทต่อปี ทว่า ปี 2566 คอนเสิร์ตเกาหลี คอนเสิร์ตระดับโลกแห่มาจัดที่ไทยจำนวนมากทุกสัปดาห์จนถูกตั้งคำถาม ถี่ขนาดนี้ซื้อบัตรไหวไหม? อีกด้านยังแย่งขุมทรัพย์ไป 60% ทำผู้จัดไทยเหนื่อย!

ท่ามกลางการรัฐบาล-คนไทย โหยหาอีเวนต์ คอนเสิร์ตระดับโลก มาแสดงที่ไทยเพื่อใช้ปลุกเศรษฐกิจ ผ่านการดึงนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายใช้สอย แต่อีกด้าน “ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบันเทิงของไทย” กำลังเผชิญการแข่งขันแย่งเม็ดเงินที่นับวันมากขึ้นเรื่อยๆ

คอนเสิร์ตศิลปินระดับโลก อย่าง “เทย์เลอร์ สวิฟต์”(Taylor Swift) ที่จัดทั่วโลก รวมถึงในอาเซียนคือประเทศสิงคโปร์ กลายเป็นบทเรียนทางเศรษฐกิจหรือ Taylor Swigt ที่ “รัฐบาล” หลายประเทศต้องนำไปทำการบ้าน เพื่อหาทางดึงดูดงานใหญ่ให้มาจัดในประเทศไทย เนื่องจากสามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาล จากการที่มีแฟนคลับซื้อตั๋วคอนเสิร์ต เมื่อต้องเดินทางไปดูอีเวนต์สำคัญทำให้ต้องจองโรงแรมที่พัก มีการกินใช้ และท่องเที่ยวในประเทศจุดหมายปลายทาง ช่วยผันเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างคึกคัก

บทเรียนเศรษฐกิจ “เทย์เลอร์ สวิฟต์”

ยิ่งกว่านั้น แต่ละประเทศมีความหวัง เมื่อศิลปินตัวท็อปของโลกมาเยือน ต้องไปกิน เที่ยว แวะเวียนร้านดัง ทำกิจกรรมต่างๆ ให้แฟนคลับ หรือนักเดินทางได้มีโอกาสตามรอย

คอนเสิร์ตเกาหลี-ต่างประเทศ แห่จัดทุกวีค \'เงินไหลออก ผู้จัดไทยถูกแบ่งเค้ก\'

กรุงเทพธุรกิจ ได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการอีเวนต์ ถึงรายละเอียดการจัดคอนเสิร์ตระดับโลก จะต้องมีการทุ่มเม็ดเงินจำนวนมาก เพื่อประมูลให้เจ้าของงานมาจัด โดยเฉพาะรูปแบบเอ็กซ์คลูสีพ เพื่อสกัดการแข่งขัน และจับกลุ่มเป้าหมายให้อยู่หมัดเพียงจุดหมายปลายทางเดียวของภูมิภาค อย่างที่ประเทศสิงคโปร์คว้าคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ไปจัดเพียงแห่งเดียวในอาเซียน

เมื่อตกลงมาจัดงาน ยังมีเงื่อนไขมากมายตามมา ทั้งการจัดหาโรงแรมที่พักว่าเป็นกี่ดาว หรือต้องไปพักโรงแรมที่มี “คนดังไหนบ้าง” เข้าพักมาแล้ว การมีผู้ติดตามกี่มากน้อย การเดินทางจะต้องเป็นแบบไหน เครื่องบินส่วนตัวหรือไม่อย่างไร เป็นต้น

ส่วนค่าตัว แน่นอนว่านอกจากจ่ายแพง การจ่าย “ภาษี” ให้กับประเทศไทย ใครเป็นคนรับภาระ หรือรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายต่างๆอย่างไร เรียกว่ารายละเอียดยิบย่อยให้เรียนรู้และทำความเข้าใจ

 

ไม่มี “สวิฟต์” แต่ไทยมีบิ๊กอีเวนต์ดึงนักท่องเที่ยว

เพราะเศรษฐกิจ เทย์เลอร์ สวิฟต์ทำเงินมากมาย และส่งผลต่อการเติบโตของ “จีดีพี” ในบางประเทศอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ประชาชน อยากได้บิ๊กอีเวนต์ระดับโลกมาจัดมากขึ้น

แม้ไทยจะไม่มีคอนเสิร์ตของสวิฟต์ แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมา คอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลก ระดับเอเชียหลายรายที่ตบเท้าเข้ามาแสดงในไทย รวมถึงนักกีฬาดังจากหลากหลายวงการมาเที่ยวไทย ช่วยปลุกกระแสอำนาจละมุนหรือ Soft Power ได้เป็นอย่างดี แต่ไม่มีการ “ต่อยอด” นอกจากนำเสนอประเด็นข่าวให้แฟนๆรับรู้เท่านั้น

คอนเสิร์ตเกาหลี-ต่างประเทศ แห่จัดทุกวีค \'เงินไหลออก ผู้จัดไทยถูกแบ่งเค้ก\'

ตัวอย่าง คอนเสิร์ต Coldplay Music Of The Spheres World Tour Bangkok จัดขึ้นที่สนามราชมังคลากีฬาสถานเมื่อวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2567 คอนเสิร์ต Ed Sheeran ‘+ - = ÷ x’ Mathematics Tour Bangkok 2024 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สนามราชมังคลาฯ เช่นกัน และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ยูโอบี ไลฟ์

ทั้ง 2 ศิลปินมีการไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยเฉพาะ Ed Sheeran ที่ทำกิจกรรมอื่นๆ ทั้งไปกินอาหารร้านดัง การทัวร์กับเชฟชาวอินเดีย Gaggan Anand และไฮไลต์เด็ดคือการไปสักยันต์กับอาจารย์เหน่ง อ่อนนุช เป็นต้น

นอกจากนี้ แรปเปอร์ดังอย่าง Central Cee ซึ่งมาเที่ยวภูเก็ต ที่มีการนำชื่อเมืองท่องเที่ยวของไทยไปอยู่ในเพลงแล้ว ยังเป็นคนที่ชื่นชอบ “ยาดมหงส์ไทย” ขั้นสุด มีการบอกต่อให้เพื่อนรับรู้ถึงของดี และเป็นตัวช่วยสำหรับการเดินทางบนเครื่องบินที่ยาวนาน รวมถึงบอกช่องทางจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย ล่าสุดคือคิวของ “บรูโน มาร์ส”(Bruno Mars) ที่จัดคอนเสิร์ต “BRUNO MARS LIVE IN BANGKOK” 2 รอบในไทย วันที่ 30 และ 31 มีนาคม 2567

แม้กระทั่งนักเทนนิสอดีตมือ 1 ของโลก “โรเจอร์ เฟเดอเรอร์” มาเที่ยวไทยพร้อมกับครอบครัว เยือนแหล่งท่องเที่ยวดัง รับประทานอาหารขึ้นชื่อของไทย นั่งรถตุ๊กๆ และอีกหลายกิจกรรม ถือเป็นสิ่งที่สร้างอิทธิพลให้กับนักท่องเที่ยวอื่นๆได้ด้วย อยู่ที่หน่วยงานต่างๆจะเห็นโอกาสในการต่อยอดแบบไหน

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะไม่มีสวิฟต์ ทว่า ซัมเมอร์นี้ ซึ่งมีเทศกาลใหญ่ “สงกรานต์” ที่รัฐต้องการบูมเป็นอีเวนต์และซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก ยังมีสารพัดคอนเสิร์ต และศิลปินตัวพ่อตัวแม่เดินทางมาไทย ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลดนตรีฮิปฮอปใหญ่สุดในโลก “Rolling Loud Thailand 2024” อีวนต์สัญชาติไทย S2O Songkran Music Festival เป็นต้น

 

ประเทศไทย เมืองแห่งคอนเสิร์ต

ท่ามกลางการกลับมาเบ่งบานของคอนเสิร์ตต่างประเทศ ผู้จัดในไทยก็ไม่น้อยหน้า ต่างพยายามงัดทุกคอนเสิร์ตเก่า-ใหม่ มาดึงเงินในกระเป๋าของผู้บริโภค โดยเฉพาะยุค 90 ที่บรรดาฐานแฟน ต่างเติบโตมีงานทำ และมีรายได้ระดับหนึ่ง พอที่จะจับจ่ายเงินซื้อบัตรโดยไม่ต้องขอผู้ปกครอง

คอนเสิร์ตเกาหลี-ต่างประเทศ แห่จัดทุกวีค \'เงินไหลออก ผู้จัดไทยถูกแบ่งเค้ก\'

“จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมบันเทิง ค่ายเพลง ที่มี ธุรกิจคอนเสิร์ต โชว์บิส ประกาศตั้งตนให้ไทยเป็น “เมืองแห่งคอนเสิร์ต” มีการดึงศิลปินดังมารวมตัวขึ้นเวทีเกดียวกัน เพื่อมอบความสุขให้แฟนๆ

เช่นเดียวกับค่าย “อาร์เอส” ที่มีกรุเพลง ศิลปินจำนวนมาก ต่างตบเท้าจัดงานอย่างคึกคัก มีหลากคอนเสิร์ต เพื่อชวนแฟนๆไปสัมผัสบทเพลง และความทรงจำเก่าๆ

มิติทางธุรกิจ ค่ายใหญ่มีคอนเสิร์ตเป็นของตัวเอง แต่อีกด้าน ก็เห็นการรวมพลังกันเพื่อ “สร้างปรากฏการณ์” ซึ่งถือว่าครบขวบปีแล้วที่ลงขันตั้งกิจการร่วมค้า “อะครอสเดอะยูนิเวิร์ส” เทงบ “ร้อยล้าน” ลุยดึงศิลปินดังยุค 90 ยุค 2000 ขึ้นเวทีด้วยกัน เช่น รวมร้อยเพลงฮิตแห่งชาติมาจัดแบบอลังการงานสร้าง จนได้ผลตอบรับจากแฟนๆอย่างคับคั่ง

 

อุตสาหกรรมบันเทิง-คอนเสิร์ตไทยกำลังถูกแบ่งเค้ก

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัล บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แต่ละปีธุรกิจคอนเสิร์ตมีมูลค่าราว 6,000-8,000 ล้านบาท แต่ปีที่ผ่านมา “คอนเสิร์ต่างประเทศ” ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งตะวันตก รวมถึงฝั่งเอเชียจาก “เกาหลี” เข้ามาแบ่งขุมทรัพย์ตลาดถึง 60% และคอนเสิร์ตไทยได้เงินสัดส่วน 40% สถานการณ์ดังกล่าวถือว่าพลิกขั้ว จากเดิมคอนเสิร์ตไทยจะครองสัดส่วนตลาดถึง 70%

คอนเสิร์ตเกาหลี-ต่างประเทศ แห่จัดทุกวีค \'เงินไหลออก ผู้จัดไทยถูกแบ่งเค้ก\'

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม

“เป็นสถานการณ์ที่น่าห่วง คอนเสิร์ตต่างประเทศมาจัดที่ไทย บัตรราคาแพง ทำให้ทุกค่ายต้องบาลานซ์ต้นทุน เพราะการจัดคอนเสิร์ตใหญ่อลังการจะลามถึงต้นทุนโปรดักชัน ซึ่งยอมรับว่าไทยยังทำเท่าคอนเสิร์ตต่างประเทศไม่ได้ เพราะการทำใหญ่ต้นทุนและราคาบัตรต้องแพง จึงต้องค่อยๆจัดการ”

การเพื่องฟูของคอนเสิร์ตต่างประเทศ ไม่เพียงผู้จัดคนไทยที่อยากได้งานและ “รายได้” แต่ “ภาครัฐ” เป็นอีกตัวแปรสำคัญ เพราะมีนโยบายในการใช้คอนเสิร์ต อีเวนต์ระดับโลก มาดึงนักท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

บริบทของอุตสหากรรมอีเวนต์ คอนเสิร์ตช่วง 2-3 ปีจึงเป็นช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของผู้จัดไทยในการแข่งขันกับผู้จัดและงานระดับอินเตอร์เนชันแนล ด้าน “เวิร์คพอยท์” ที่มี “กรุงเทพ เอ็กซิบิชั่น” หรือ BEX ในเครือทำหน้าที่จัดอีเวนต์ คอนเสิร์ตต่างประเทศอย่างงาน 2022 WORLD TOUR JAY B TAPE: PRESS PAUSE ENCORE IN BANGKOK ผลตอบรับดีบัตรขายหมดเกลี้ยง

อีกด้านยังมีการปั้น “ที-ป๊อป” สร้างสรรค์ศิลปินไทย เพื่อตอบโจทย์แฟนไทย รวมถึงหวังเบียดพื้นที่ให้ Soft Power ของไทยมีที่ยืนด้วย

“ที-ป๊อป เรามาถูกทางไหม..ของพี่แค่อยากทำให้ฐานธุรกิจ ศิลปินในบ้านเราแข็งแรงก่อน ให้แฟนๆชาวไทยชอบของเราก่อน เพราะตอนนี้คอนเสิร์ตจากต่างประเทศมีเข้ามาจัดในไทยทุกอาทิตย์ ซื้อบัตรกันไหวไหม อีกด้านเป็นการดึงเม็ดเงินไหลออกไปมหาศาล จึงอยากให้ข้างในประเทศได้เงินบ้างก็ยังดี ที่สำคัญตอนนี้ไม่ใช่แค่คอนเสิร์ตมาแบ่งเค้ก แต่ยังรวมถึงพรีเซ็นเตอร์ด้วย ซึ่งล้วนดึงลูกค้า ดึงเงินไหลออกจากประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม ความยากของการปั้นซอฟต์พาวเวอร์ “ที-ป๊อป” เป็นเรื่อง “เงินทุน” ที่จะส่งผลให้การผลิตผลงาน โดยเฉพาะด้านโปรดักชันไม่สามารถก้าวเข้าใกล้กับของต่างประเทศ ที่ทุนหนา จัดคอนเสิร์ต อีเวนต์ต่างๆแต่ละครั้งจึงจัดเต็มแสง สี เสียง ฯ