Airbnb หนุนไทย ‘โฮมสเตย์’ โลก! เปิดตัวไกด์บุ๊กเที่ยวกรุงเทพ 4 ย่านสร้างสรรค์
'ต้นทุนทางวัฒนธรรม' สินทรัพย์สำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทย ดึงดูดผู้คนทั่วโลกเข้ามาสัมผัสเสน่ห์ หนุน 'ไทย' รั้งอันดับ 1 ใน 'เอเชียตะวันออกเฉียงใต้' ที่นักเดินทางจองผ่านแพลตฟอร์มที่พักระดับโลก 'Airbnb' (แอร์บีเอ็นบี) มาเยือนมากที่สุดในปี 2566
อมันพรีท บาจาจ ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย ฮ่องกง และไต้หวัน ของ Airbnb กล่าวว่า การจัดอันดับดังกล่าวมาจากข้อมูลล่าสุดของ Airbnb และพบด้วยว่า “จำนวนคืนของการจองที่พัก” (Nights Booked) ผ่าน Airbnb ในประเทศไทย เพิ่มขึ้นประมาณ 60% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยนักเดินทางจาก “สหรัฐ” เป็นประเทศต้นทางที่มาเยือนไทยมากอันดับ 1 ตามด้วยจีน เยอรมนี สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้
ด้าน “กรุงเทพฯ” ยังคงเป็นเมืองยอดนิยมอันดับ 1 ในประเทศไทยที่มีนักเดินทาง Airbnb ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วโลกมาเยือนมากที่สุดในปี 2566 และมากเป็นอันดับ 2 ของเมืองยอดนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว ยังพบว่า “เชียงใหม่” และ “กระบี่” เป็นเมืองที่ได้รับความนิยมจากนักเดินทาง Airbnb ติด 10 อันดับแรกของภูมิภาคนี้อีกด้วย
โดยนักเดินทางแบบกลุ่มที่เดินทางมาประเทศไทย เพิ่มขึ้นเกือบ 80% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนนักเดินทางเดี่ยว (Solo Traveller) เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน และพบว่ากว่า 4 ใน 5 ของยอดจองที่พักบน Airbnb ในไทยปีที่แล้ว เป็นนักเดินทาง “กลุ่มเล็ก” (Small Group) เดินทางเป็นคู่ และเดินทางเดี่ยว สอดรับกับเทรนด์ท่องเที่ยวโลกที่เห็นการเติบโตของนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กมากขึ้น
นอกจากนี้ Airbnb ยังพบสัญญาณการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากนักเดินทางชาวจีนและอินเดีย โดยประเทศไทยรั้งอันดับที่ 1 จุดหมายปลายทางนอกประเทศที่นักเดินทาง Airbnb “ชาวจีน” ค้นหามากที่สุดในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา ขณะที่นักเดินทาง Airbnb “ชาวอินเดีย” เสิร์ชหาประเทศไทยมากที่สุดในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวโฮลี (เทศกาลสาดสี) และช่วงวันหยุดยาวอีสเตอร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 200% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า
อมันพรีท กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด Airbnb ประกาศเปิดตัว “Airbnb’s Creative Guide to Bangkok” ซิตี้ไกด์บุ๊กเล่มแรกที่นำเสนอ 4 ย่านสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ ได้แก่ ตลาดน้อย วังเดิม ตลาดพลู และกุฎีจีน ถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน “ผู้สร้างเทรนด์” (Tastemakers หรือ เทสต์เมกเกอร์) และเจ้าของที่พัก Airbnb ในแต่ละชุมชน สอดคล้องกับนโยบายของ “กรุงเทพมหานคร” (กทม.) สนับสนุน “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” และยกระดับ “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) ของไทย
เนื้อหาภายใน Airbnb’s Creative Guide to Bangkok ประกอบไปด้วยข้อมูลของสถานที่แฮงเอาท์ ร้านอาหารท้องถิ่น ที่พักแบบดั้งเดิม และสถานที่ที่ไม่ควรพลาดในแต่ละย่าน ครอบคลุมตั้งแต่สตรีทอาร์ต ตลาดท้องถิ่น ไปจนถึงเรื่องราวของสถาปัตยกรรม อาหาร และงานฝีมือของคนในท้องถิ่น ไกด์บุ๊กจัดพิมพ์ขึ้นทั้งหมด 3 ภาษา ไทย อังกฤษ และจีน โดยจะเผยแพร่ทั่วเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศที่เป็นตลาดท่องเที่ยวหลักอย่างประเทศจีนและอินเดีย เพื่อกระตุ้นท่องเที่ยวในช่วง “เทศกาลสงกรานต์”
สำหรับพฤติกรรมของนักเดินทาง Airbnb แตกต่างจากนักเดินทางทั่วไป โดยจะชอบสำรวจสถานที่ใหม่ๆ และกระตือรือร้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ได้ไปพักและเยี่ยมเยือน ซึ่ง Airbnb’s Creative Guide to Bangkok จะทำให้นักเดินทางได้รู้จักกับ “เสน่ห์เฉพาะตัว” ของชุมชนที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ตั้งแต่ประวัติศาสตร์เก่าแก่ในย่านวังเดิม กลิ่นอายของชุมชนในย่านตลาดพลูและกุฎีจีน ไปจนถึงความหลากหลายทางมรดกและวัฒนธรรมในย่านตลาดน้อย
“ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนโครงการของภาครัฐ เรามีความมุ่งมั่นในการสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้การท่องเที่ยว ชูความเป็นชุมชน ความคิดสร้างสรรค์ และทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกๆ ฝ่ายมากยิ่งขึ้น ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นโฮมสเตย์ชั้นนำระดับโลก”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็น Airbnb นำเสนอย่านสร้างสรรค์ในกรุงเทพฯ สู่สายตานักเดินทางทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาก่อนสงกรานต์ ซึ่งเป็นเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย”
สำหรับกรุงเทพฯ นั้นเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่งหลายๆ แห่งนักเดินทางอาจจะยังไม่เคยมาเยือน โดยในปี 2565 ทาง กทม. ได้เปิดตัว “โครงการย่านสร้างสรรค์” นำร่อง 20 ย่าน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชุมชนที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั่วกรุงเทพฯ โดยแต่ละย่านประกอบไปด้วยร้านอาหารและร้านค้าดั้งเดิม แกเลอรี่ คลอง และวัดวาอารามต่างๆ ที่น่าสนใจ
“เราหวังว่า Airbnb’s Creative Guide to Bangkok จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเดินทางอีกหลายคนได้มาสำรวจย่านสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ได้เชื่อมต่อกับคนในพื้นที่ และค้นพบความพิเศษหรือเสน่ห์ที่แตกต่างกันไปของย่านต่างๆ”