ทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่ยาว | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

ทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่ยาว | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

ทุกสิ่งโลกล้วนเป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดอยู่คงทนถาวร บริษัทน้อยใหญ่เกิดขึ้นและล้มหายตายจากตลอดเวลา มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับอายุขัยของบริษัทในโลก

พบว่า แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ติดอันดับ 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของนิตยสารฟอร์จูน ส่วนมากอยู่ได้เพียงสี่สิบถึงห้าสิบปีก็ต้องปิดกิจการหรือไม่ก็ถูกบริษัทอื่นกลืนไป สำหรับบริษัทตั้งใหม่มีช่วงชีวิตโดยเฉลี่ยประมาณสิบสองปีเท่านั้น

 บริษัทเหล่านี้มีอายุยืนนับร้อยปีได้อย่างไร? จากการศึกษา ของ Arie de Geus ที่ตีพิมพ์บทความชื่อ The Living Company ใน Harvard Business Review ในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) แม้จะเป็นงานที่ตีพิมพ์มานานแล้ว แต่ข้อค้นพบยังทันสมัยอยู่ de Geus พบว่า  บริษัทแทบทั้งหมดที่อยู่กันมาได้ยาว ๆ มีลักษณะสำคัญเหมือนกัน 4 ประการ

    ประการแรก พวกเขารู้จักปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรอบตัว ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เป็นอยู่ รู้จักยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อการตัดสินใจ 

 

นอกจากนี้แล้ว ผู้บริหารของบริษัทมีมุมมองต่อความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับสภาพแวดล้อมรอบตัวที่น่าสนใจ พวกเขามองว่าธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล หรือที่เราเรียกกันว่า ESG

ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และเข้าใจดีว่า การปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงคือกุญแจสำคัญของการอยู่รอด ต้องรู้จักเปิดกว้าง มองการเปลี่ยนแปลงอย่างที่มันเป็น มิใช่อย่างที่ตัวเองต้องการให้เป็น  

   ประการที่สอง บริษัทเหล่านี้มีจุดยืนชัดเจน พนักงานของบริษัททุกคนรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ถึงแม้บริษัทจะเติบโตและให้กำเนิดบริษัทลูกมากมายก็ไม่ได้ทำให้พนักงานในบริษัทลูกรู้สึกแปลกแยกเลย

สำหรับพวกเขาบริษัทไม่ได้เป็นเพียงที่ทำงาน แต่เป็นชุมชน ทุกคนมีอิสระในการแสดงความสามารถภายใต้กติกาที่กำหนดไว้อย่างยุติธรรม

สมาชิกของชุมชนมีโอกาสก้าวหน้าตามสายงานของตนเอง ทายาททางธุรกิจที่เป็น “ลูกหม้อ” ของบริษัทรุ่นแล้วรุ่นเล่ามีโอกาสได้เติบโตไปพร้อมกับบริษัท ผู้ที่ก้าวหน้ามาตามลำดับขั้นย่อมเข้าใจธรรมชาติของบริษัทเป็นอย่างดี รู้ถึงจุดอ่อนจุดแข็งของบริษัทอย่างลึกซึ้ง จึงสามารถนำพาบริษัทผ่านร้อนผ่านหนาวได้ดีกว่า    

    ในขณะที่บริษัทสมัยใหม่บางแห่งหวังจะโตทางลัด จึงจ้างมืออาชีพจากภายนอกเข้ามาบริหาร ตราบใดที่ทำงานได้ตามเป้าก็ต่อสัญญาไปเรื่อย ๆ เมื่อใดทำงานไม่ได้ตามเป้าก็เปลี่ยนใหม่

ส่วนลูกน้องซึ่งเป็นพนักงานประจำทำงานสายตัวแทบขาดน้อยคนนักจะมีโอกาสก้าวหน้าไปตามสายงานของตน จึงขาดความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท

    ประการที่สาม บริษัทเหล่านี้ไม่รวบอำนาจการตัดสินใจไว้กับผู้บริหารระดับสูงตลอดเวลา ผู้บริหารไม่ได้เป็นคนชี้นิ้วสั่งการเพียงอย่างเดียว พวกเขายังเป็นผู้ให้คำปรึกษาและขอรับคำปรึกษาจากสมาชิกคนอื่นของบริษัทอีกด้วย

พวกเขาให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น  ทดลองสิ่งใหม่ ยอมรับความเสี่ยงจากการทดลองเหล่านั้น และพร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับทุกคน เพราะรู้ว่าการลองผิดลองถูกนี้ แท้จริงแล้วเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทได้เกิดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า 

    ประการสุดท้าย บริษัทเหล่านี้รู้จักประมาณตน ไม่ถูกยั่วยวนด้วยผลตอบแทนระยะสั้น  การเติบโตของบริษัทเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้ผลกำไรที่เก็บเล็กผสมน้อยมาลงทุน  อัตราการเติบโตมิใช่เรื่องคอขาดบาดตาย บางครั้งแม้มีโอกาสทางการตลาดที่ดี หากเกินกำลังของตนบริษัทก็จะทำเท่าที่ทำได้เท่านั้น ไม่ทุรนทุรายทำอะไรจนเกินตัว

มีไม่บ่อยนักที่บริษัทเหล่านี้จะพึ่งพาเงินทุนจากภายนอก เพราะพวกเขาทราบดีว่า การทำเช่นนั้นจะทำให้ขาดอิสระในการตัดสินใจ ความยืดหยุ่นคล่องตัวที่เคยมีย่อมลดน้อยถอยลงไป

    กลยุทธ์แบบ “พอเพียงเพื่อยั่งยืน” นี้ ดูเหมือนจะค้านกับสิ่งที่เขียนไว้ในตำราด้านการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ ที่เน้นการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ช่วงชิงโอกาสทางการตลาดให้ได้มากที่สุด หากเห็นโอกาสอยู่ตรงหน้าก็ไม่ควรปล่อยให้หลุดมือไป

แนวคิดแบบนี้ส่งเสริมให้เกิดการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือไม่ก็ขยายกิจการด้วยการเชิญคนอื่นเข้าร่วมลงทุน โดยลืมไปว่าการยืมเงินคนอื่นมา คนเป็นเจ้าหนี้ของเราพูดอะไรเราก็ต้องฟัง อะไรที่เคยทำได้ก็อาจทำไม่ได้ แถมยังต้องมาคอยกังวลกับการหาเงินมาใช้หนี้อีก  

จริงอยู่ หลายคนมองว่าการโตแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นแนวคิดของพวกหัวโบราณ แต่อย่าลืมว่า แนวคิดนี้ได้พิสูจน์ตัวมันเองแล้วว่า ช่วยให้บริษัทนับร้อยอยู่ยงคงกระพันมาได้เป็นศตวรรษ มองในทางกลับกัน บริษัทสมัยใหม่ซึ่งใช้แนวคิดการบริหารธุรกิจแบบทำอะไรเกินตัวกลับมีอายุขัยเพียงห้าสิบปีเท่านั้น แค่นี้ก็น่าจะรู้แล้วว่าใครกันแน่ที่เป็นของจริง.