‘ซับเวย์’ เปลี่ยนมืออีกแล้ว! ‘พีทีจี’ ทุ่ม 35 ล้านบาท คว้าสิทธิบริหารร้าน

‘ซับเวย์’ เปลี่ยนมืออีกแล้ว!  ‘พีทีจี’ ทุ่ม 35 ล้านบาท คว้าสิทธิบริหารร้าน

ร้านแซนด์วิชดังระดับโลก 'ซับเวย์' ในไทย เปลี่ยนมือ "มาสเตอร์ แฟรนไชส์" อีกครั้ง เมื่อ "พีทีจี" อาณาจักรพลังงานของ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ส่งบริษัทในเครือทุ่มเงิน 35 ล้านบาท คว้าสิทธิบริหารร้านมาครอง จับตาเส้นทางการต่อสู้บนสังเวียน QSR และก้าวการเติบโตของ "ซับเวย์"

บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด(มหาชน) ได้ส่งบริษัทลูกอย่าง บริษัท จีเอฟเอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นผ่านบริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เพื่อเข้าร่วมลงทุนธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม โดยตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ “โกลัค” พร้อมทุ่มเงิน 35 ล้านบาท ในการคว้าสิทธิเป็นเจ้าของ “มาสเตอร์ แฟรนไชส์” ร้านอาหารประเภทแซนด์วิช แบรนด์ “ซับเวย์”(Subway) รวมถึงบริหารจัดการร้านอาหารในระบบแฟรนไชส์ภายใต้ชื่อ และเครื่องหมายการค้าอื่นๆ ทั้งในส่วนที่เป็นชื่อ และเครื่องหมายการค้าของไทย และของต่างประเทศ รวมถึงการดำเนินงานในเรื่องอื่นทั้งหมดที่เกี่ยวกับธุรกิจดังกล่าว

สำหรับบริษัท โกลัค จำกัด โครงสร้างการถือหุ้นนั้น จีเอฟเอ ถือ 70% บริษัท ไลฟ์สไตล์ ฟู้ด จำกัด ถือ 25% และ “เพชรรัตน์ อุทัยสาง” มือบริหารธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน(QSR)หลายแบรนด์ รวมถึง “ซับเวย์” ด้วย

ก่อนหน้านี้ ร้าน "ซับเวย์" แซนด์วิชดังของโลก ถูกบริหารโดย “อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป” ของ"ธนากร ธนวริทธิ์" ซึ่งเป็นนักพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง “ออล อินสไปร์” ที่ภายหลังเผชิญมรสุมธุรกิจ 

สำหรับ “ซับเวย์” ถือเป็นร้านแซนด์วิชที่ทำตลาดในประเทศไทยมาราว 2 ทศวรรษ ก่อนหน้าที่ “ธนากร” จะมารับไม้ต่อ ร้านถูกบริหารโดยแฟรนไชส์จำนวนมากถึง 20 ราย และเมื่อมาอยู่ใต้ชายคา “อะเบาท์ แพสชั่น” ได้ประกาศแผน 3 ปีขึ้นจะขึ้น Top3 ในธุรกิจร้านQSR และวางหมากรบในการเปิดร้าน 10 ปีจะมี 1,000 สาขา 

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การกลับมาของ “ซับเวย์” ได้พลิกกระบวนท่าในการทำตลาดใหม่ อย่างโมเดลร้านที่มีขนาด “เล็กลง” เช่น เน้นร้านขนาด 50 ตารางเมตร(ตร.ม.) ลงทุนราว 4 ล้านบาท และเลือก “ทำเลทอง” เช่น ยึดปั๊มน้ำมัน คอมมูนิตี้มอลล์ กลับไปรุกห้างค้าปลีก ทั้งหมดเพื่อเพิ่ม “สปีด” การเติบโตและ “คืนทุนเร็ว”

ร้านเล็กเพื่อขยายกิจการได้เร็ว แต่ต้องมีร้านที่เป็นหน้าเป็นตาให้แบรนด์ หรือ Flagship Store สร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า และร้านไดรฟ์ทรู ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภครักสะดวก และมีร้านให้บริการ 24 ชั่วโมง

ด้านกลยุทธ์การทำตลาด มุ่งสร้างแบรนด์มากขึ้นผ่านสื่อออนไลน์ ที่สำคัญคือเมนูอาหารมีการจัดเป็นเซ็ทให้ “สั่งง่าย” จากปมใหญ่(Pain Point) ผู้บริโภคไม่กล้าสั่ง แซนด์วิชเพราะกลัวสั่งผิดๆถูกๆ จึงมีการรังสรรค์สิ่งใหม่ รวมถึงการใช้กลยุทธ์ด้าน“ราคา”เพื่อให้ลูกค้าซื้อง่าย ซื้อซ้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม “ซับเวย์” อยู่ในไทยมายาวนาน แต่การทำเงินกลับอยู่ระดับไม่กี่ร้อยล้านบาท ผู้บริหารยังเคยให้มุมมองว่า “แบรนด์เราเคยเป็นลูกเป็ดขี้เหร่มาตลอด แต่กลยุทธ์การทำตลาด เปิดสาขาของเราไม่ทำเหมือนเดิม เพราะนั่นทำให้แบรนด์ยิ่งขี้เหร่”

ดังนั้น การเปลี่ยนมือครั้งนี้มาอยู่ในอาณาจักรพลังงานของ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ที่มีศักยภาพทั้งเงินทุน สถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จะเห็นการ "ซีเนอร์ยี” กับร้าน “ซับเวย์” สร้างการเติบโตในทิศทางใด ต้องจับตา!

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์