'ผู้บริโภคสีเขียว' กับธุรกิจเอสเอ็มอี

'ผู้บริโภคสีเขียว' กับธุรกิจเอสเอ็มอี

เมกะเทรนด์ธุรกิจโลกในปัจจุบันชี้ไปที่เรื่องใหญ่อย่างน้อย 2 เรื่อง ก็คือ เรื่องของเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ และเรื่องของความยั่งยืนของโลกหรือธุรกิจสีเขียว ที่จะมาชี้นำทิศทางของธุรกิจในอนาคต ไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี

สำหรับเอสเอ็มอีไทยโดยทั่วไป เมื่อเทียบความยากง่ายในการปรับธุรกิจเข้าสู่กระแสสีเขียว ดูจะง่ายกว่าการปรับเข้าสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยทำธุรกิจ ซึ่งต้องใช้ความรู้รอบรู้ใช้เกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงพอสมควร

ดังนั้น การเตรียมตัวปรับเอสเอ็มอีเข้าสู่ทิศทางของการเป็นธุรกิจสีเขียวจึงเป็นเรื่องที่เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ

ในการทำธุรกิจ ผู้บริหารจะทราบเป็นอย่างดีว่า ธุรกิจจะเติบโตได้ต้องอาศัยการสร้างลูกค้าและผู้บริโภคให้เติบโตก่อนในลำดับแรก ดังนั้น ธุรกิจสีเขียว จำเป็นที่จะต้องไขว่คว้าหา “ลูกค้าหรือผู้บริโภคสีเขียว” มาเป็นฐานของธุรกิจให้ได้เสียก่อน

โดยคำนิยามเชิงกว้าง 'ผู้บริโภคสีเขียว' จะหมายถึงคนที่ให้ความสำคัญกับการบริโภคและจะตัดสินใจเลือกซื้อหรือเลือกใช้งานผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาดที่เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นที่คิดหรือเข้าใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่ให้ความสำคัญหรือใส่ใจต่อผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ

ผู้บริโภคสีเขียว มักจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ค่อนข้างมีความรู้และตระหนักถึงผลกระทบที่จะรุนแรงขึ้นต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีเจตนารมณ์ที่จะแสดงความรับผิดชอบส่วนตัวต่อการอนุรักษ์และการพัฒนาความยั่งยืนชองโลกเพื่อให้คนรุ่นหลังสามารถอาศัยอยู่บนโลกนี้ได้อย่างปลอดภัยและมีความสงบสุขในชีวิตตลอดไป

ธุรกิจเอสเอ็มอีอาจมีวิธีการกระตุ้นความสนใจและครองใจผู้บริโภคได้หลายวิธี เช่น

1) นำเสนอสินค้าหรือการบริการที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจรวมถึง การเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้กระบวนการผลิตที่ไม่สร้างมลพิษหรือปล่อยของเสียสู่ธรรมชาติ การใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน หรือใช้แนวคิดของการหมุนเวียนหรือการรีไซเคิลในกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจตลอดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ฯลฯ เป็นต้น

2) นำกระบวนการหรือกลยุทธ์การทำธุรกิจที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมีธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบ (CSR – Corporate Social Responsibility) การใช้แนวทางการบริหารแบบ 3 มิติ (ESG – Environment, Social, and Governance) การนำแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนมาประยุกค์ใช้กับธุรกิจ (SD – Sustainability Development) หรือ การกำหนดและปฏิบัติตามเป้าหมายความยั่งยืน (SDG – Sustainability Development Goals) ฯลฯ เป็นต้น

3) การสื่อสารทางการตลาดที่ชัดเจนไปยังกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย เช่น การเปิดเผยเจตนารมณ์สีเขียวของธุรกิจ การเข้าสู่การรับรองอย่างเป็นทางการ เช่น การได้รับการรับรองฉลากเขียว หรือฉลากเบอร์ 5 การได้รับรางวัลยาย่อง เช่น รางวับอุตสาหกรรมสีเขียว รางวัลธรรมาภิบาลธุรกิจ ฯลฯ เป็นต้น

4) ทำกิจกรรมการให้ความรู้พื้นฐานและสร้างความตระหนักให้แก่ชุมชนและสังคม เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ การบริการ และจุดเด่นด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ แก่ลูกค้าหรือผู้บริโภค ให้ความรู้ว่าเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทแล้ว ผู้ใช้หรือผู้บริโภคจะมีส่วนในการแสดงความรักและอนุรักษ์โลกได้อย่างไร การใช้สื่อสังคมเพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้บริโภคสีเขียว ฯลฯ เป็นต้น

5) ต้องไม่ลืมว่า ผู้บริโภคสีเขียว มีแนวโน้มที่จะยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ตรงกับเจตนารมณ์และความต้องการในการอนุรักษ์โลกอยู่แล้ว ธุรกิจอาจต้องปรับปรุงรูปแบบและภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนให้มีมาตรฐาน และเหมาะสมกับราคาที่ปรับให้สูงขึ้น ตรงตามความคาดหวังของกลุ่มผู้บริโภคสีเขียว

การนำเสนอคุณค่าของการเป็น 'ธุรกิจสีเขียว' สำหรับดึงดูดและรองรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็น “ผู้บริโภคสีเขียว” อาจเป็นทางหนึ่งที่ธุรกิจเอสเอ็มอีจะสร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของตนได้ก่อนคู่แข่งในตลาดที่ยังไม่ได้เตรียมการปรับตัวให้สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ของอนาคตที่กำลังมาแรง!!??!!