การท่องเที่ยวแบบ Luxury + Experience Style

การท่องเที่ยวแบบ Luxury + Experience Style

รายงาน Future Traveller Tribes 2030 : Understanding Tomorrow’s Traveller highlights ของ Amadeus ระบุว่า ตอนนี้โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่เทรนด์การท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์หรูหรา (Luxury Travel) เนื่องจากประชากรที่มีฐานะมั่งคั่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก

การท่องเที่ยวแบบ Luxury Style นั้นเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยที่กลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เศรษฐีหรือคนรวยแค่นั้น แต่ยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เมื่อมีฐานรายได้เพิ่มขึ้น จึงอยากให้ของขวัญกับตัวเองหรือครอบครัวบ้างด้วยการตั้งเป้าหมายท่องเที่ยวอย่างหรูหราในทุกๆ ปี

ยืนยันด้วยสถิติของสถาบันวิจัยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่น่าเชื่อถือแห่งหนึ่งว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y หรือคนรุ่นใหม่ ที่มีกำลังจ่ายเนื่องจากรายได้สูงขึ้นและใช้เงินซื้อความพอใจให้กับตัวเองตลอดเวลา หรือที่มักได้ยินกันบ่อยๆ ว่า Work Hard, Play harder นั่นเอง

การท่องเที่ยวแบบ Luxury + Experience Style

สำหรับประเทศไทย โจทย์วันนี้คงไม่ได้มุ่งเน้นที่ปริมาณของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องวิเคราะห์แยก Segmentation ของนักท่องเที่ยวออกมาเป็นส่วนๆ

แล้วเลือกว่าส่วนไหนคือกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพสามารถสร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืนและยังสอดคล้องกับ Positioning หลักของประเทศในการมุ่งที่จะส่งมอบ Value for Experience

การท่องเที่ยว Luxury + Experience Style เป็นแนวทางที่ถูกทิศถูกทางแล้ว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาด้าน Supply เรามีความพร้อมสมบูรณ์อย่างเต็มที่ ทั้งคน ทั้งสถานที่ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก กระบวนการเหล่านี้ประเทศไทยทำได้ดีมากอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่สามารถเติมเต็มความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว ก็คือ ราคาสินค้ายังไม่สามารถนำมาสู่การด้านเปรียบทางการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียได้

นับแต่นี้ไป เราต้องโฟกัสไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็น Luxury + Experience Style มาเป็นตลาดหลักของการท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะมาช่วยส่งเสริมเป้าหมายการเปลี่ยนมุมมองของประเทศให้เป็นสถานที่ที่มอบประสบการณ์แบบสุดพิเศษ ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มจะเป็นพวกที่มีกำลังซื้อสูง และจะมาเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นการจับจ่ายให้เพิ่มมากมากขึ้น แต่ก็คงได้ไม่เต็มที่ ทั้งนี้ “นักท่องเที่ยวที่เข้ามามีข้อจำกัดในเรื่องของการซื้อสินค้า เลยทำให้การเติบโตในเรื่องของค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไม่สูงมากนัก

ตลาดสินค้า Luxury Lifestyle ต่อเนื่อง

จากรายงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า แม้สถานการณ์ในตลาดโลกจะมีความไม่แน่นอน แต่สินค้าแบรนด์ Luxury Lifestyle ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง (กรณีแย่ที่สุดคาดว่าจะเติบโต 8% ในปี 2566) และจะเติบโตไปเรื่อยๆ จากปัจจุบันจนถึงปี 2573 ด้วยแนวโน้มการใช้จ่ายที่ไม่ธรรมดาของกลุ่มผู้บริโภคที่ร่ำรวยที่สุด (+40% ในปี 2567)

การเติบโตของกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความเด็ดขาดในการตัดสินใจเป็นผู้มีกำลังซื้อสูง มีอายุน้อยลง และมีจำนวนมากขึ้น ได้แก่ คนรุ่น Gen Z และรุ่น Millennials (ซึ่งมีจำนวนราว 2.10 พันล้านคน) และเป็นครั้งแรกที่แซงหน้าคนรุ่น Gen X และ Baby Boomers (ราว 1.90 พันล้านคน)

ขณะที่วิจัยเรื่อง True-Luxury Global Consumer Insight โดยบริษัท Boston Consulting Group ด้วยการสัมภาษณ์ผู้ที่มีกำลังใช้จ่ายสูง 12,000 คน (ใช้จ่ายเฉลี่ย 39,000 ยูโรสำหรับเสื้อผ้าและเครื่องประดับแฟชั่น) ใน 11 ประเทศ ระบุว่า มีแนวโน้มการใช้จ่ายในสินค้าแฟชั่นหรูมีมูลค่าสูงสุดใน 3 ประเทศหลัก จีน ซาอุดีอาระเบีย และ สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนถึง 65% ของมูลค่าการซื้อ-ขายทั่วโลกในปี 2566 ซึ่งคาดว่า ตลาดสินค้าไลฟ์สต์แบรนด์หรูจะขยายตัวเป็นสองเท่าภายในปี 2573

การยกเว้นภาษีนำเข้า : ถูกเรื่องถูกเวลา

เมื่อต้นเดือนตุลาคมกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กำลังหารือเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการชอปปิงเพิ่มเติม โดยเฉพาะหนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลกำลังศึกษาคือ “การลดหรือยกเว้นภาษีกลุ่มสินค้าลักชัวรีไลฟ์สไตล์” จะเป็นการกระตุ้นที่ช่วยเพิ่มทั้งในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวและดันให้ยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปเพิ่มขึ้นด้วย โดยที่ผ่านมาประเทศไทยเสียภาษีนำเข้าเฉลี่ย 20-30% ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆ การ “ลดอัตราภาษีนำเข้า” สินค้าสำหรับนักท่องเที่ยวเหลือ 0% นอกจากจะกระตุ้นการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ยังสามารถจูงใจให้บรรดาขาช้อปชาวไทยที่นิยมชอปปิงในต่างประเทศหันกลับมาซื้อสินค้าเหล่านี้ในไทยแทน รวมไปถึงตลาดฝากหิ้ว Grey Market ก็จะลดลง

หากไทยทำเรื่องภาษีเพื่อดึงคนมาชอปปิงสำเร็จ จะเป็นการเติมเต็มจิ๊กซอชิ้นส่วนที่สำคัญที่ขาดหายไป จะทำให้เรามีครบทุกอย่างที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เพราะตอนนี้เราสู้คู่แข่งในอาเซียนไม่ได้ในด้านชอปปิงอย่างเดียวเท่านั้น หากทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ ก็เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของการท่องเที่ยวของประเทศได้อีกมาก