กลัวเลย์ออฟ ตกงานระยะยาว คนรุ่นใหม่เลือก 'เงินเดือน-ความมั่นคง' ร่วมองค์กร

กลัวเลย์ออฟ ตกงานระยะยาว คนรุ่นใหม่เลือก 'เงินเดือน-ความมั่นคง' ร่วมองค์กร

“เวิร์คเวนเจอร์” ทำการสำรวจความเห็นคนรุ่นใหม่ถึงองค์กรที่อยากร่วมหรือทำงานด้วยมา 6 ปี พบพฤติกรรม ความต้องการที่เปลี่ยนไป รวมถึงมีเสียงสะท้อนอยากให้ “นายจ้าง” รับรู้มากขึ้นหลากมิติ

ในงานประกาศผลสุดยอด 50 บริษัท ที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุดประจำปี 2024
ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของโลกและไทยเข้าวิน รวมถึงองค์กรใหญ่และเล็กติดโผด้วย เช่น กูเกิล ปตท. เอสซีจี ยูนิลีเวอร์ และไทยเบฟเวอเรจ เป็นต้น 


มร.เยนส์ โพลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวิร์คเวนเจอร์ เทคโนโลจีส์ จำกัด เปิดเผยว่า ตัวแปรของคนรุ่นใหม่ที่เฟ้นหาองค์กรในฝันเพื่อเข้าไปทำงาน แตกต่างจากอดีต 5 ปีก่อน โดยเฉพาะการผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ระบาด การพิจารณาองค์กรที่สามารถพากิจการผ่านห้วงเวลาทุลักทุเลดังกล่าว สร้างความเปรี้ยงปร้างรุ่งเรืองให้น่าสนใจ และมีอนาคตเติบโตต่อสะท้อนความมั่นคงกลายเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการตัดสินใจมากขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจัย “เงินเดือน” ผลตอบแทนยังเป็นสิ่งที่คนทำงานต้องการเป็นอันดับแรกๆ หลังโควิด-19 ระบาด “เงิน” ยิ่งต้องชัวร์มากขึ้น แต่ดีกรีความสำคัญลดลง เพราะมีองค์ประกอบอื่นตีคู่มา ได้แก่ ชีวิต สังคมในการทำงาน นายจ้างเป็นอย่างไร การทำงานเป็นแบบไหน ทำงานในองค์กรนี้จะยกระดับทักษะ ความรู้ความสามารถ เป็นคนเก่งขึ้นได้หรือไม่ ทำงานแล้วมีคุณค่า ได้ปล่อยของหรือไม่ รวมถึงพิจารณาว่าองค์กรจะดูแลสุขภาพกายใจ

กลัวเลย์ออฟ ตกงานระยะยาว คนรุ่นใหม่เลือก \'เงินเดือน-ความมั่นคง\' ร่วมองค์กร

“ความมั่นคงกลายเป็นปัจจัยที่คนไทยให้ความสำคัญมาก เพราะชื่อเสียงกินไม่ได้ ไม่ใช่ทำงานไป 3 ปีแล้วเกิดการปลดพนักงานหรือเลย์ออฟ องค์กรผลงานดี พิจารณาธุรกิจเติบโต เป็นสิ่งที่คนมีพรสวรรค์ คนทำงานมองระยะยาว คิดถึงตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่คิดระยะสั้น เงินเดือนสูง สวัสดิการหวือหวา อีกเสียงสะท้อนคือคนทำงานต้องการเงิน หาเลี้ยงชีพ แต่ปีนี้เรื่องที่ทำให้คนไม่อยู่ในองค์กรคือปัญหาด้านคน วัฒนธรรมองคกร”

นอกจากนี้ คนรุ่ใหม่ยังคำนึงในการเลือก “องค์กรที่มีความโปร่งใส” หรือ transparency มากขึ้น ตอกย้ำการเป็นธรรมาภิบาลสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจหรือ ESG เปรียบเสมือนการเปิดบ้านให้คนภายนอกเห็นว่าบริษัทนั้นน่าอยู่มากน้อยเพียงใด ที่สำคัญยังเป็นโอกาสของคนที่มีพรสวรรค์ในการตัดสินใจเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าไปอยู่ในองค์กรแบบผิดที่ผิดทาง อีกมิติองค์กรไม่ต้องเสียเวลา เนื่องจากยุคนี้ประชากรศาสตร์หรือเพศ อายุ การศึกษาฯ ของคนทำงานเปลี่ยนไป คนเกิดน้อยลง สังคมสูงวัยทำให้มีคนทำงานน้อยลง เป็นต้น

ท่ามกลางองค์กรเทคโนโลยีหรือเทคคัมปะนีระดับโลกเลย์ออฟพนักงานจำนวนมาก บริษัทดังยังเซ็กซี่ดึงคนรุ่นใหม่ทำงานหรือไม่ มร.เยนส์ ให้มุมมองว่า จากบริษทเศรษฐกิจไทยที่ไม่ได้น่าเป็นห่วง และยังเป็นกิจการดั้งเดิมหรือ Traditional หลายหมวดยังมีแฟนคลับคนเก่งอยากเข้าทำงานเป็นของตนเอง เช่น คนชอบริษัทเทคคัมปะนีที่เติบโตเร็ว ก็จะมุ่งไปสมัครงานองค์กรดังกล่าว ชุดการเลือกไม่เหมือนกัน

ด้านจีรวัฒน์ ตั้งบวรพิเชฐ ที่ปรึกษาอาวุโสทางด้านการสร้างแบรนด์นายจ้าง กล่าวผ่านหัวข้อ Thailand Performance 2024 Best Place To Work Companies และ Supertrends 2024 : Rethinking Employer Branding เป็นการสำรวจกลุ่มตัวอย่างคนทำงานรุ่นใหม่จำนวน 1,345 คน ในฐานสมาชิกของเวิร์คเวนเจอร์ที่มีอยู่มากกว่า 8 แสนราย สอบถามถึงแรงจูงใจและพฤติกรรมการสมัครงานและการเปลี่ยนงานเพื่อเข้าใจถึงปัจจัยและความต้องการจากคนทำงานที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากสภาวะสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ช่วงอายุและยุคสมัย จะส่งผลอย่างไรกับทาเลนต์ไทยในปัจจุบัน

กลัวเลย์ออฟ ตกงานระยะยาว คนรุ่นใหม่เลือก \'เงินเดือน-ความมั่นคง\' ร่วมองค์กร

พบว่า เหตุผลที่คนอยากเข้าร่วมงานกับองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับ “เงินเดือนที่สามารถแข่งขันได้” เป็นอันดับ 1 สัดส่วน 66% ตามสวัสดิการและสิทธิพิเศษ 65% ความมั่นคงในการจ้างงาน 59% ความก้าวหน้าในสายอาชีพ 58% ความสมดุลระหว่างงานและใช้ชีวิตส่วนตัวหรือ work life balance 54% เป็นต้น

ปัจจุบันแบรนด์นายจ้างหรือ Employer Branding สำคัญมากขึ้น หลายบริษัท เบอร์ 1หรือผู้นำองค์กรลงมาสานภารกิจโปรโมท ทุ่มงบสร้างแบรนด์จริงจัง ซึ่งปี 2567 คาดการณ์จะมีเงินสะพัดหลักพันล้านบาท

“การปรับตัวของผู้นำองค์กร คือลงมาสั่งการ จัดการทุ่มเม็ดเงิน จัดทัพเพื่อสร้าง Employer Branding จริงจัง เพราะในฐานะนายจ้าง หากดึงคนเก่งมาร่วมทีม ทำงานไม่ได้ องค์กรก็ไม่อยู่รอด ซึ่งสิ่งที่องค์กรนายจ้างจะมีคนเก่งมาทำงานต้องมีความจริงแท้ แตกต่าง เพื่อให้คนอยากมาร่วมงาน โดย 4 สิ่งสำคัญ งาน เงิน คน องค์กร เป็นคำตอบที่จะทำคนให้อยู่หรือไม่อยู่ทำงานด้วย”