ทำไม 'เซ็นทรัลพัฒนา' ลุยหนักโมเดลฟู้ดคอร์ทพรีเมียม ชิงตลาดบน

ทำไม 'เซ็นทรัลพัฒนา' ลุยหนักโมเดลฟู้ดคอร์ทพรีเมียม ชิงตลาดบน

ตลาดฟู้ดคอร์ท หรือศูนย์อาหารทำเลที่กำลังโต เซ็นทรัลพัฒนา ส่ง 'ฟู้ดพาทิโอ' ลงทำเลสำคัญ ศูนย์การค้าเมกา บางนา ขยายอาณาจักรรีเทลกลุ่มฟู้ดให้แข็งแกร่ง หลัง ฟู้ด รีพับบลิค เตรียมปิดสาขาในศูนย์การค้า เมกา บางนา ด้าน โลตัส รุกหนัก Lotus’s Eatery” ศูนย์อาหารแบบ Stand Alone

สยายปีกธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่องกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) โดยนอกจากดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยในรูปแบบ “Retail-led mixed use” ประกอบด้วยธุรกิจศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรมทั่วประเทศ เพื่อร่วมเติมเต็มพอร์ตของธุรกิจให้แข็งแกร่งมากขึ้น

เซ็นทรัลพัฒนา ยังมีธุรกิจศูนย์อาหาร หรือ ฟู้ดคอร์ท ภายในศูนย์การค้าต่างๆ ที่ทำมาหลายปีแล้วเช่นกัน เป็นอีกทำเลทองของการเช่าพื้นที่รวบรวมร้านดังต่างๆ  ทั้ง เซ็นทรัลฟู้ดพาร์ค (CentralFoodPark) และ ฟู้ด พาทิโอ (Food Patio) รวมถึง ฟู้ด เวิลด์ (Food wOrd) ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

โมเดลธุรกิจศูนย์อาหาร หรือ ฟู้ดคอร์ท ของเซ็นทรัลพัฒนา วางตำแหน่งแตกต่างกัน โดย เซ็นทรัลฟู้ดพาร์ค เจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดแมส เน้นดึงร้านดังในแต่ละพื้นที่ และเปิดในศูนย์การค้าเซ็นทรัล ส่วนฟู้ด พาทิโอ (Food Patio) เจาะกลุ่มลูกค้าในระดับบน หรือกลุ่มพรีเมียมในหลากหลายทำเล และมีราคาที่สูงกว่า เซ็นทรัลฟู้ดพาร์ค ส่วน Food wOrld เจาะกลุ่มลูกค้าทั้งคนทำงานและนักท่องเที่ยว

 

โมเดลฟู้ดคอร์ทของเซ็นทรัลพัฒนา เป็นอีกธุรกิจที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไม่ว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร คนไทยยังต้องบริโภคอาหารเสมอ และชื่นชอบอาหารที่มีความหลากหลาย ซึ่งมีการประเมินจาก เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป กับธุรกิจอาหารในไทย ที่มีขนาดกว่า 4.20 แสนล้านบาทในปี 2566 มีการเติบโตประมาณ 5-6% 

ทั้งนี้ในปัจจุบัน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา มีธุรกิจศูนย์อาหารภายใต้การบริหารงานมากกว่า 33 แห่งในศูนย์การค้าทั่วประเทศ ที่รวมแบรนด์ดังจากพื้นที่ต่างๆ ไว้จำนวนมาก 

ล่าสุดได้ต่อยอด ขยายธุรกิจศูนย์อาหารใหม่ไปในทำเล ศูนย์การค้าบางนา ด้วยส่งแบรนด์ ฟู้ด พาทิโอ เข้าไปทำตลาด ซึ่งเข้ามา "เปิด" แทน ฟู้ด รีพับบลิค (Food Republic) ที่จะ "ปิด" ให้บริการในสาขา เมกาบาง นา วันสุดท้าย 17 มี.ค.2567 นี้ ทำให้ ฟู้ด รีพับบลิค มีสาขาเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่เซ็นทรัลพระราม 9

 

อย่างไรก็ตาม การรุกตลาดในกลุ่มฟู้ด เจาะตลาดพรีเมียมมากขึ้น เป็นตามแผนของกลุ่ม เซ็นทรัลพัฒนา ที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายในตลาดระดับกลางและระดับบน โดย “นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ระบุไว้ว่า แม้ว่าภาพรวมกำลังซื้อของกลุ่มฐานรากยังไม่ดีนัก แต่การจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มลูกค้ากลางและบนยังมีความแข็งแรง ซึ่งเซ็นทรัลพัฒนา ได้มีการมุ่งเจาะตลาดระดับกลางและระดับบน เป็นหลัก จึงไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องกำลังซื้อในประเทศ

เซ็นทรัลพัฒนา ปักหมุด 30 เมืองในไทย - อาเซียนในปี 2570

การขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องของเซ็นทรัลพัฒนา สอดคล้องกับแผนของบริษัทที่วางไว้ในช่วง 5 ปี นับจากปี 2566 - 2570 ที่เตรียมงบลงทุน 1.35 แสนล้านบาท ขยายการลงทุนไปใน 30 เมืองในตลาดไทยและอาเซียน โดยมีโครงการ มิกซ์ยูส ที่วางไว้ 18 โครงการ จะเพิ่มขึ้นเป็น 25 โครงการ ภายในปี 2570

พร้อมจะมี 5 เมกะโปรเจ็กต์ ที่จะลงทุนครั้งใหญ่ในอีก 5-10 ปีนับจากนี้ โดยวางเป้าหมายในปี 2570 จะสร้างรายได้ 75-80% มาจากรีเทล และธุรกิจ นอนรีเทล มีสัดส่วน 20-25%

ทำไม \'เซ็นทรัลพัฒนา\' ลุยหนักโมเดลฟู้ดคอร์ทพรีเมียม ชิงตลาดบน

ฟู้ด รีพับบลิค สาขาหลักแห่งเดียวเซ็นทรัลพระราม9

อย่างไรก็ตาม การจ่อปิดสาขาของ ฟู้ด รีพับบลิค (Food Republic) ที่ศูนย์การค้า เมกาบางนา ที่จะเปิดให้บริการวันที่ 17 มี.ค.2567 เป็นวันสุดท้ายแล้ว ทำให้จะมีสาขาเปิดให้บริการหลัก ที่เซ็นทรัลพระราม 9 เพียงแห่งเดียว

หากไปทำความรู้จัก ฟู้ด รีพับบลิค เป็นแบรนด์จากประเทศสิงคโปร์ ภายใต้เชนธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่กับ BreadTalk Group Limited  ได้เข้ามาเปิดธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2555 โดยที่ผ่านมามีสาขาในไทยทั้ง สยามเซ็นเตอร์, ไอคอนสยาม, สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต, เมกาบางนา และเซ็นทรัลพระราม 9 ทว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ทยอยปิดสาขาหลายแห่งมาโดยตลอด

ทำไม \'เซ็นทรัลพัฒนา\' ลุยหนักโมเดลฟู้ดคอร์ทพรีเมียม ชิงตลาดบน

สำหรับ BreadTalk Group Limited หากเปรียบเทียบในตลาดไทยอาจมีขนาดธุรกิจฟู้ดที่ไม่ใหญ่นัก แต่ถือเป็นบริษัทด้านฟู้ดที่ใหญ่ในตลาดอาเซียน โดยมีการจัดตั้งบริษัท และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสิงคโปร์ พร้อมมีธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ดังในพอร์ตที่หลากหลายทั้ง  BreadTalk, Toast Box, Food Republic, Bread Society, Din Tai Fung เป็นต้น รวมถึงมีธุรกิจใน 15 ประเทศ ภายใต้การมีสาขามากว่า 700 แห่ง

ธุรกิจศูนย์อาหาร ทำเลที่กำลังโต

นับได้ว่า ธุรกิจศูนย์อาหารนับเป็นอีกทำเลการค้าที่กำลังเติบโต และผู้ประกอบการค้าปลีกจะเข้ามาบริหารพื้นที่นี้เอง โดยที่ผ่านมา นอกจากเซ็นทรัลพัฒนา ที่มีการขยายธุรกิจฟู้ดคอร์ทมาตลอด ในกลุ่มห้างค้าปลีก โลตัส ได้มีการปรับโฉมพื้นที่ฟู้ดคอร์ทใหม่เช่นกัน กับ "Lotus’s Eatery” ศูนย์อาหารแบบ Stand Alone นอกพื้นที่โลตัส วางคอนเซ็ปต์ให้เป็น มากกว่าศูนย์รวมร้านอาหาร แต่วางเป็นแหล่งแฮงก์เอ้าต์ ร่วมรองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตกิน-ดื่ม-แฮงก์เอ้าต์ ของกลุ่มลูกค้าในย่านนี้ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ

สาขาแรกแห่งแรกที่โครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค  มีขนาดพื้นที่กว่า 1,500 ตร.ม. มีร้านค้ากว่า 50 ร้านค้า รวบรวมทั้งสตรีทฟู้ดชื่อดังและร้านมิชลินไกด์  และ Lotus’s Eatery แห่งที่ 2 ที่โลตัส สาขาปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา รวมร้านอาหารจำนวนกว่า 50 ร้านค้า มาไว้ในที่เดียว เพื่อให้เป็นแหล่งแฮงก์เอ้าต์แห่งใหม่