คนไทย ‘ผ่อนรถไม่ไหว’ ปล่อยแบงก์ยึดคืน ต่อไปจะขายยาก ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าสร้างหนี้เพิ่ม

คนไทย ‘ผ่อนรถไม่ไหว’ ปล่อยแบงก์ยึดคืน ต่อไปจะขายยาก ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าสร้างหนี้เพิ่ม

โดมิโน่ “รถโดนยึด” สะเทือนตลาด “รถมือสอง” หนี้เน่าปูด-ซื้อแล้วผ่อนต่อไม่ไหว ด้าน “รถโดนใจ” เชื่อ เศรษฐกิจชะลอตัวดัน “รถมือสอง” ขึ้นแท่นสินค้าทดแทน “รถมือหนึ่ง” ส่วนกระแส “รถอีวี” ยังกระจุกแค่กรุงเทพฯ-เมืองใหญ่ พบ “เมืองรอง” มีประชากรใช้รถไฟฟ้าเพียงหลักร้อยเท่านั้น

Key Points:

  • เอฟเฟ็กต์จากเศรษฐกิจชะลอตัวและภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น กระทบถึง “ตลาดรถยนต์” โดยเฉพาะ “รถยนต์มือสอง” ที่ถูกยึดจนล้นลานประมูล มี “ซัพพลาย” มากกว่า “ดีมานด์” ทำราคาดิ่งหนัก
  • สถานการณ์ “รถโดนยึด” ปี 2566 มีแนวโน้มตัวเลขใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดใหญ่ เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นดีนัก หนี้ครัวเรือนยังสูง ทั้งยังมีหนี้เสียที่สะสมมากขึ้นจาก “หนี้สินเชื่อรถยนต์”
  • ภาพรวมตลาดรถยนต์ในปี 2567 ยังคาดการณ์ได้ยากเพราะมีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง ทั้งภาวะสงครามที่ยังยืดเยื้อ และเศรษฐกิจในประเทศที่ทำให้คนตัดสินใจซื้อของชิ้นใหญ่ยากขึ้น คนไม่อยากเป็นหนี้ก้อนโตในช่วงนี้


ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น-เศรษฐกิจชะลอตัวไม่ได้กระทบเพียงตลาดอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ซื้อรถยนต์ จนทำให้ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณของ “หนี้เน่า” ที่ก่อตัวขึ้นจากกลุ่มผู้ซื้อที่ “ไปต่อไม่ไหว” ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการสิ้นสุดลงของมาตรการพักหนี้ในช่วงวิกฤติแพร่ระบาดใหญ่ เมื่อข้อกำหนดเดิมเริ่มเดินเครื่องต่อในช่วงเวลาที่สถานะทางการเงินยังคงเปราะบาง ธนาคารซึ่งเป็นผู้ออกสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ก็ต้องทำตามกฏในการ “ยึดรถ” ทันที

ผลสะเทือนต่อมาจากการผ่อนไม่ไหวของผู้ซื้อเหล่านี้ ทำให้ “หนี้เสีย” จากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ปรับตัวสูงขึ้น แบงก์ทยอยปรับเกณฑ์การพิจารณาปล่อยกู้ที่เข้มข้นกว่าเดิม คล้ายกันกับกรณี “บ้านต่ำ 3 ล้าน” ที่มีแนวโน้มของ “หนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ” หรือที่เรียกว่า “หนี้ SM” มากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าปริมาณ “รถโดนยึด” ที่มากขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการเต็นท์รถสามารถประมูลขายด้วยราคาที่ต่ำกว่าเดิมได้ แต่ก็พบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ส่งผลกับการตัดสินใจซื้อ “รถมือสอง” อยู่ไม่น้อย

หลายคนไม่ต้องการสร้างหนี้ก้อนใหญ่ในเวลานี้หากไม่จำเป็น สถานการณ์ของเต็นท์รถมือสองขณะนี้จึงไม่ได้สวยงามกว่าตลาดรถมือหนึ่งมากนัก และอาจยืดเยื้อ-สะสมกลายเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือน-หนี้เสียรถยนต์ที่แก้ไม่ตก จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ

คนไทย ‘ผ่อนรถไม่ไหว’ ปล่อยแบงก์ยึดคืน ต่อไปจะขายยาก ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าสร้างหนี้เพิ่ม

  • รถโดนยึดเพราะค้างผ่อนค่างวด  สัญญาณอันตรายที่ลากยาว 2 ปีเต็ม

เศรษฐกิจที่เปราะบางมากขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้หลายคนต้องดึงเงินเก็บ-เงินออมออกมาใช้ เพื่อต่อสายป่านกระแสเงินสดให้ได้นานและแข็งแรงมากที่สุด ด้านภาครัฐเองก็ได้มีการออกมาตรการพักหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อประคอง-ต่อลมหายใจไปพร้อมๆ กัน ทว่า เมื่อสิ้นสุดการแพร่ระบาดใหญ่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเดินได้ตามปกติ มาตรการแช่แข็งหนี้ก็มีอันต้องสิ้นสุดลง

แน่นอนว่า การฟื้นตัวจากช่วงเวลาดังกล่าวไม่ง่ายนัก รอยต่อตรงนี้เองที่ทำให้เริ่มเกิด “ช่องโหว่” ที่ส่งสัญญาณผ่านจำนวนรถโดนยึดเข้าสู่ลานประมูลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจระบุว่า ปี 2565 มีรถโดนยึดราว 300,000 คัน มี “หนี้ SM” รวมทั้งสิ้น “154,000 ล้านบาท” เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มี “หนี้ SM” ในส่วนของสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ “130,000 แสนล้านบาท” 

“อนุชาติ ดีประเสริฐ” กรรมการผู้จัดการ “บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด” ผู้จัดการประมูลรถรายใหญ่ ระบุว่า ปี 2565 มีรถโดนยึดเข้าสู่ลานประมูลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ละเดือนมีรถเข้าลานประมูลเฉลี่ยราว “20,000 คัน” ทำให้ตลอดทั้งปีมีรถหมุนเวียนเข้าลานประมูลราว “300,000 คัน” ซึ่งนับว่า เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับจำนวนรถโดนยึดในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ด้วย

กระทั่งปี 2566 สถานการณ์ “รถโดนยึด” ก็ไม่ได้แผ่วลงแต่อย่างใด กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอีก 5 - 9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 นอกจากจะเป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการพักหนี้ที่จบลงไปในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นยังเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ทำให้บรรดาลูกหนี้เริ่มผ่อนต่อไม่ไหว รวมถึงค่าครองชีพที่แพงขึ้นก็มีผลทำให้ลูกหนี้หลายรายตัดสินใจหยุดผ่อนรถในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก “ไทยพีบีเอส” พบว่า รถที่โดนยึดส่วนใหญ่เป็นรถกระบะที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะบรรดากลุ่ม “SMEs” และคนทำมาค้าขาย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ซื้อรถเพื่อความจำเป็น แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ “รถโดนยึด” ที่ดำเนินเรื่อยมาในขณะนี้

คนไทย ‘ผ่อนรถไม่ไหว’ ปล่อยแบงก์ยึดคืน ต่อไปจะขายยาก ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าสร้างหนี้เพิ่ม

นอกจากจะมีผลกระทบกับเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการทำมาหากินแล้ว ยังมีแนวโน้มกระทบต่อธุรกิจ “เต็นท์รถ” จากเกณฑ์การปล่อยกู้ที่ยากขึ้น ซึ่งเป็นโดมิโน่ต่อเนื่องจากปัญหา “หนี้เสียรถยนต์” และหากพิจารณาสถานการณ์ดังกล่าวลึกลงไปอีกก็จะพบว่า กลุ่มคนที่ปล่อยให้รถโดนยึดก็มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะตึงตัวสำหรับการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนด้วย

นี่จึงเป็นสัญญาณอันตรายที่หากปล่อยทิ้งไว้จะไม่กระจุกอยู่เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่อาจขยายวงกว้างจนทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ยากจากความอ่อนแอในขณะนี้

  • รถโดนยึดล้น ทำ “รถมือสอง” ราคาตก ด้าน “รถมือหนึ่ง” คนซื้อน้อยลงด้วย

เมื่อรถทยอยเข้าลานประมูลมากขึ้น มี “ซัพพลาย” มากกว่า “ดีมานด์” จึงมีผลทำให้ราคารถมือสองตกลงต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มปรับตัวลดลงราว 20%

“ชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ตลาดรถยนต์มือสองไม่ได้มีการเก็บข้อมูลแบบ “Official record” เหมือนกับตลาดรถยนต์ใหม่ ปกติแล้วจะดูจากยอดการโอนทะเบียนจาก “กรมขนส่งทางบก” เพื่อนำมาใช้เป็น “อินดิเคเตอร์” โดยพบว่า ตลาดรถยนต์มือสองในปี 2566 ค่อนข้างทรงตัว ความลังเลของคนในการจับจ่ายซื้อของชิ้นใหญ่ที่ต้องมีภาระผูกพันมากกว่า 5 ปี มีผลกระทบต่อราคารถยนต์ที่ปรับตัวลดลง มองว่า เป็นเรื่องของ “ซัพพลาย” ที่มากกว่า “ดีมานด์” เมื่อมีรถมือสองเข้ามาในตลาดเยอะ ขณะที่กำลังซื้อก็ยังไม่ฟื้นตัวดี จึงมีผลทำให้รถมือสองเหล่านี้ราคาตกลงไปด้วย

ทั้งนี้ “ชัชฤทธิ์” ระบุว่า ปี 2566 มีสัญญาณบวกอยู่บ้าง เนื่องด้วยแพลตฟอร์ม “รถโดนใจ” เว็บไซต์ซื้อ-ขายรถยนต์มือสองภายใต้การบริหารของ “ทีทีบีไดรฟ์” มีแนวโน้มยอดโอนรถที่เพิ่มมากขึ้น อีกส่วนก็พบว่า ผู้ค้ารถยนต์ “เต็นท์รถมือสอง” ซึ่งเป็น “คนหน้างาน” ที่รู้ความเคลื่อนไหวของตลาดดีที่สุดได้เข้ามาซื้อรถมือสองกับทาง “รถโดนใจ” พอสมควร แต่หากดูภาพรวมตลอดทั้งปีก็จะพบว่า ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว ผู้ซื้อมีความลังเลมากขึ้นทำให้ดีมานด์ลดลงไปบ้าง ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า น่าจะเป็นปัจจัยระยะสั้นที่มีอีเวนต์ยักษ์ใหญ่อย่างมหกรรม “มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2023” เข้ามามีส่วนด้วย

คนไทย ‘ผ่อนรถไม่ไหว’ ปล่อยแบงก์ยึดคืน ต่อไปจะขายยาก ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าสร้างหนี้เพิ่ม

ไม่เพียง “รถมือสอง” เท่านั้น แต่ “รถมือหนึ่ง” ก็มีแนวโน้มยอดขายปรับลดลงเช่นกัน โดยข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจรายงานถึงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ของ “โตโยต้า ประเทศไทย” ตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2566 ที่ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ราว 6.1% โดยเฉพาะ “รถกระบะ” ที่เป็นประเภทรถที่ได้รับความนิยมมากที่สุด กลับมียอดขายลดลงกว่า 22.5% ซึ่งเป็นผลจากความผันผวนทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

ด้านผู้บริหาร “รถโดนใจ” ก็มีความเห็นไปในทิศทางคล้ายกัน โดยระบุว่า ปี 2566 เริ่มเห็นความไม่แน่นอนชัดขึ้น ยอดขายลดลงโดยเฉพาะ “รถกระบะ” ซึ่งปกติแทบจะไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน

“ชัชฤทธิ์” มองว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงมุมมองของผู้ซื้อต่อตลาดว่า เขาอาจจะยังไม่พร้อมลงทุนในการขยายกิจการซึ่งต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมืออย่าง “รถกระบะ” เป็นหนึ่งในต้นทุนที่สำคัญ แต่ในทางกลับกันหากมีความจำเป็นจริงๆ ผู้ซื้อกลุ่มนี้ก็อาจเปลี่ยนมาลงทุนในรถยนต์มือสองแทน หากผู้ซื้อยังไม่ต้องการจะลงทุนในสินทรัพย์ราคาสูง ก็มีความเป็นไปได้ที่ “รถยนต์มือสอง” จะเติบโตในฐานะ “สินค้าทดแทน” 

  • “อีวี” ไม่มีผลกับยอดขาย “รถมือสอง” เพราะเป็นตลาดคนละกลุ่มกัน

ในรอบปีที่ผ่านมากระแสรถยนต์ไฟฟ้า หรือ “รถอีวี” ได้รับความสนใจจากนักขับชาวไทยอย่างมาก เห็นได้จากยอดจองรถภายในงาน “มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2023” ที่ผ่านมา แม้ว่าสุดท้าย “โตโยต้า” และ “ฮอนด้า” จะยังรักษาแชมป์ไว้ได้ แต่ความน่าสนใจ คือ 4 ใน 10 อันดับแรก เป็นค่ายรถอีวีจีนทั้งหมด โดยมี “BYD” ครองอันดับ 3 ที่มียอดจองห่างจาก “ฮอนด้า” เพียง 30 คันเท่านั้น

“ชัชฤทธิ์” ให้ความเห็นว่า รถอีวีมาพร้อมกับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้คนตัดสินใจซื้อได้ไม่ยาก แต่ด้วยช่วงราคาที่ยังเกาะกลุ่มในระดับบน “รถอีวี” จึงมีช่องว่างตรงนี้พอสมควร สำหรับกลุ่มลูกค้าซื้อรถมือสองที่มองหารถประเภท “รถ SUV” (Sport Utility Vehicle) ก็มีความเป็นไปได้ที่ลูกค้าอาจเปลี่ยนใจไปซื้อรถอีวีมือหนึ่งมากกว่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของรถอีวีที่ปัจจุบันยังกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่เมืองเท่านั้น

คนไทย ‘ผ่อนรถไม่ไหว’ ปล่อยแบงก์ยึดคืน ต่อไปจะขายยาก ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าสร้างหนี้เพิ่ม

จากงานศึกษาเกี่ยวกับรถอีวีของ “ทีทีบีไดรฟ์” พบว่า รถยนต์ไฟฟ้ากระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากถึง 80% หากเป็นต่างจังหวัดจะมีผู้ใช้งานอยู่แถบจังหวัดใหญ่ๆ เป็นหลัก ส่วนจังหวัด “เมืองรอง” มีประชากรผู้ใช้รถอีวีเพียงหลักร้อยคนเท่านั้น “รถอีวี” ยังเป็นการโตแบบกระจุก ขณะที่ “รถมือสอง” กระจายตัวมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 ว่า อาจมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ เพราะขณะนี้ “รถอีวี” แข่งดุขึ้น มีแบรนด์ใหม่ๆ พร้อมอัดโปรโมชันน่าสนใจเข้ามามากมาย ต้องติดตามต่อไปว่า ราคารถอีวีในปีหน้าจะอยู่ในสถานะ “จับต้องได้” มากขึ้นหรือไม่ 

  • ถ้าคนเห็นว่าเศรษฐกิจเดินได้ คนจะคิดถึงการซื้อรถเอง

ปี 2566 แบงก์เข้มงวดกับการปล่อยกู้มากขึ้น จากปัญหาที่ลูกหนี้ไม่สามารถผ่อนรถต่อได้จนเป็นสาเหตุให้ “รถมือสอง” แน่นลานประมูลตลอดปีที่ผ่านมา โดยภาพรวมนั้นพบว่า ผู้กู้ซื้อรถถูกปฏิเสธสินเชื่อ-กู้ไม่ผ่านมากถึง 50% ทำให้บรรดาเต็นท์รถมือสองมีรถค้างสต๊อกจำนวนมาก สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปอาจเทียบเคียงได้กับกรณี “บ้านต่ำ 3 ล้าน” คือรถมือสองเหล่านี้จะราคาตกลงเรื่อยๆ กระทบธุรกิจเต็นท์รถ ผู้ที่ต้องการออกรถเพื่อความจำเป็นก็ไม่สามารถทำได้ เพราะส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้ที่มีสลิปเงินเดือนหรือพนักงานบริษัทจึงมีโอกาสกู้ผ่านมากกว่า 

อย่างไรก็ตาม “ชัชฤทธิ์” ให้ความเห็นว่า การตัดสินใจซื้อทั้ง “รถมือหนึ่ง” และ “รถมือสอง” สะท้อนถึง “ความเชื่อมั่น” ต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ หากคนรู้สึกว่า เศรษฐกิจเดินได้ เขาจะเริ่มคิดหาลู่ทาง-อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำกิน ทิศทางตลาดรถยนต์ปี 2567 อาจเป็นไปได้ 2 รูปแบบ

“ซีเนริโอที่ 1” คือ “เศรษฐกิจซึม” เมื่อซึมหนัก คนจะชะลอการตัดสินใจใหญ่ๆ ออกไป หากมีความจำเป็นต้องใช้รถจริงๆ ก็จะเลือกซื้อรถมือสองแทน และเมื่อซื้อรถมือสองไปแล้วคนก็จะชะลอการเปลี่ยนรถออกไปอีกพักใหญ่ๆ ทำให้ซึมทั้งตลาดหนักกว่าเดิม ส่วน “ซีเนริโอที่ 2” คือ “รถมือสอง” จะเติบโตในฐานะสินค้าทดแทน โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ใช้รถกระบะที่มีความจำเป็นในฐานะเครื่องมือทำกิน

ส่วนรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคล หรือ “รถเก๋ง” ต้องรอดูว่า ปีหน้า “ค่ายรถจีน” จะห้ำหั่นราคากันมากขึ้นหรือไม่ ถ้าเปิดเกมสงครามราคาเต็มรูปแบบก็เป็นได้ว่า อาจถึงคราวที่ตลาดรถมือสองจะได้รับผลกระทบจาก “รถมือหนึ่ง” ที่เคยอยู่คนละเซกเมนต์ คนละตลาดกัน

 

อ้างอิง: BangkokbiznewsPPTV 1PPTV 2Prachachat 1Prachachat 2Prachachat 3Thai PBSThansettakij