ทำไมเมืองไทยมีแต่ ‘ห้างสรรพสินค้า’ ?

ทำไมเมืองไทยมีแต่ ‘ห้างสรรพสินค้า’ ?

เมืองโตเร็ว-รัฐตามไม่ทัน เปิดเหตุผลทำไมประเทศไทยมีแต่ห้าง? นักวิชาการ ชี้ ห้างสรรพสินค้า คือ “One stop service” ครอบคลุมช้อปปิ้ง-กินข้าว-พักผ่อน ด้านสื่อนอกมอง ชนชั้นกลาง-สูงโตเร็ว เป็นปัจจัยกระทุ้ง “ห้างไทย” โตพุ่ง ดัน “แบรนด์ไฮเอนด์” กินพื้นที่ห้างในเมืองอื้อ!

Key Points:

  • การแข่งขันของค้าปลีกไทยขับเคี่ยวกันต่อเนื่องทำให้ตลอดปี 2566 และปี 2567 ที่จะถึงนี้เต็มไปด้วย “บิ๊กโปรเจกต์” โครงการห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้า-มิกซ์ยูส
  • ความนิยมและการเติบโตของห้างสรรพสินค้าเป็นผลต่อเนื่องจากพัฒนาการความเป็นเมืองที่ย่านการค้า-ย่านพาณิชย์ก่อตัวขึ้น ห้างกลายเป็น “One stop service” ครอบคลุมช้อปปิ้ง พักผ่อน พบปะสังสรรค์
  • เมื่อเมืองโตเร็วสิ่งที่ตามมา คือระบบโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่โตไม่ทัน ปัญหาการจราจรติดขัด รวมทั้งพื้นที่สีเขียวอย่างสวนสาธารณะ และความบันเทิงใจในรูปแบบอื่นๆ กลับเป็นโครงการที่ไม่คุ้มทุนในวันที่ราคาที่ดินสูงขึ้นเรื่อยๆ

หากลองเปิดหน้าข่าวไล่เรียงความเคลื่อนไหวของตลาดค้าปลีก-ค้าส่งไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่า มีบรรดาค้าปลีกหลากหลายสเกลผุดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงโครงการมิกซ์ยูสที่ได้รับความนิยมในช่วงหลัง ซึ่งในปี 2567 ที่จะถึงนี้ยังมีแผนเปิดโครงการขนาดใหญ่ใต้ร่ม “บิ๊กรีเทล” อีกมากมาย ภายใต้เครื่องหมายคำถามที่ว่า เหตุใดห้างสรรพสินค้าไทยโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ จึงผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดเช่นนี้ บางแห่งอยู่ใกล้กันด้วยระยะห่างเพียง 1 กิโลเมตรเศษๆ บางย่านมีศูนย์การค้าที่มีร้านค้าภายในเหมือนกันหลายแบรนด์ ตรงกันข้ามกับพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบอื่นๆ อย่างสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ห้องสมุด ฯลฯ ที่กลายเป็น “ของหายาก” ในพื้นที่เมืองไปเสียแล้ว

ทำไมเมืองไทยมีแต่ ‘ห้างสรรพสินค้า’ ?

  • เมืองโตเร็ว-ห้างเกิดใหม่-รัฐตามไม่ทัน “ผังเมืองล้มเหลว” ทำพื้นที่สีเขียวหล่นหาย

การเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้ามากมายในเขตเมืองมักมาพร้อมกับปัญหาการจราจรที่หนาแน่น โดยต้นตอของปัญหาที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้ง คือการจัดการเรื่องผังเมืองในกรุงเทพฯ ที่ล้มเหลว

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ อาจารย์จากภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ความเห็นไว้ว่า การจัดการพื้นที่เมืองในไทยมักมี “ห้างสรรพสินค้า” เป็นศูนย์กลางเสมอ หากจะให้ไล่เรียงที่มาที่ไปของปัญหานั้นอาจารย์ระบุว่า แท้จริงแล้วห้างสรรพสินค้าไม่ใช่ “ผู้ร้าย” ทั้งยังมีส่วนในการขับเคลื่อน-กระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นดัชนีชี้วัดความเป็นอยู่ของประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่สิ่งที่ทำให้ “ห้าง” กลายเป็นสถานที่พักผ่อนของคนไทยมาจากพัฒนาการการเติบโตของพื้นที่เมืองที่ไปไวกว่ารัฐ

เมื่อไล่เรียงไทม์ไลน์ตามประวัติศาสตร์การพัฒนาความเป็นเมืองในไทยพบว่า เดิมทีสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรซึ่งมีการใช้แรงงานเป็นหลัก เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวัน “คนไทย” ไม่ได้มีกิจกรรมการพักผ่อนหรือความบันเทิงที่ชัดเจนนัก จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนผูกโยงกับห้างสรรพสินค้ามากขึ้นเริ่มต้นตั้งแต่การเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ความศิวิไลซ์ต่างๆ ที่ต่างชาติมีอย่างย่านการค้าเชิงพาณิชย์ที่เริ่มก่อตัวขึ้น จากเดิมที่เป็นการรวมตัวกันเพียงงานวัด งานบุญในชุมชน ย่านการค้าได้เข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ดังกล่าวไปโดยสิ้นเชิง เริ่มจากย่านการค้าขายของเฉพาะอย่าง อาทิ อยากซื้อผ้าต้องไปพาหุรัด อยากซื้อเครื่องแบบชุดนักเรียนต้องไปบางลำพู แล้วค่อยๆ พัฒนาสู่ห้างสรรพสินค้าที่มีลักษณะแบบ “One stop service”

แต่ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นภายหลังการเติบโตของห้างสรรพสินค้า คือภาวะ “โตไม่ทันกัน” ระหว่างความเป็นเมืองและโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อาจารย์เล่าย้อนไปถึงยุคสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ที่ยังมี “พื้นที่สีเขียว” ในกรุงเทพฯ มากมาย แต่หลังจากนั้นไม่นานความเป็นเมืองรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วจนความรู้เรื่องผังเมืองในบ้านเราก้าวตามไม่ทัน โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของห้างหรือศูนย์การค้าสักแห่งที่มาพร้อมกับผลกระทบในวงกว้างหลายด้าน ตั้งแต่การเดินทาง ระบบขนส่งมวลชน การใช้พลังงานในปริมาณมาก รวมทั้งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างก็ด้วย

ทำไมเมืองไทยมีแต่ ‘ห้างสรรพสินค้า’ ? -“สยามพารากอน” หนึ่งในห้างหรูใจกลางกรุงเทพฯ-

  • ชนชั้นกลางโตเร็ว เร่งเครื่อง “ห้างเกิดใหม่” โตพุ่ง

บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ “Quartz” สื่อธุรกิจสัญชาติอเมริกันตั้งข้อสังเกตถึงจำนวนห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ระบุว่า ตลอดแนวถนนสุขุมวิทมีศูนย์การค้าไล่เรียงกันหลายแห่ง โดยมีระยะห่างระหว่างกันเพียง 5 กิโลเมตร ทั้งยังพบว่า ด้านในห้างมีร้านค้าแบรนด์หรูเหมือนกันหลายแบรนด์ จริงอยู่ที่ปัจจัยเรื่องสภาพอากาศเมืองไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ห้างสรรพสินค้าได้รับความนิยม แต่อีกประการสำคัญที่ทำให้โครงการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น เป็นเพราะการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในเขตเมือง

“Quartz” ให้ความเห็นว่า ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่มักมาพร้อมกับระบบเครื่องปรับอากาศที่ต้องใช้กำลังไฟฟ้ามหาศาล โดยมีการเปรียบเทียบยกตัวอย่างห้างใจกลางปทุมวันแห่งหนึ่งพร้อมระบุว่า ห้างขนาดใหญ่เช่นนี้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากถึง “สองเท่า” ของการใช้ไฟฟ้าใน จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีประชากรอาศัยอยูราว 250,000 คน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มชนชั้นกลางในเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วมีความสนใจซื้อสินค้า “ลักชัวรีแบรนด์” หรือสินค้าฟุ่มเฟือยหลายประเภทด้วยกัน รายงานจาก “Euromonitor” บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลกระบุว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชนชั้นสูงที่มีฐานะมั่งคั่งกระจุกตัวในเขตเมือง โดยคนไทยกลุ่มนี้เป็น “ลูกค้ารายใหญ่” สำหรับการใช้จ่ายกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย สอดคล้องกับการมาถึงของโชว์รูมรถยนต์ค่ายหรู อาทิ “ลัมโบร์กินี” (Lamboghini) และ “เฟอร์รารี” (Ferrari) ในกรุงเทพฯ รวมถึงร้านแบรนด์หรูอย่าง “พราด้า” (Prada) ที่จนถึงปัจจุบันก็ยังมีเฉพาะห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ เท่านั้น

  • “คอมมูนิตี้ มอลล์” สมดุลระหว่างห้าง VS พื้นที่สีเขียว?

ขณะที่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมายก็มีเสียงเรียกร้องถึงพื้นที่สาธารณะในรูปแบบอื่นๆ อาทิ สวนสาธารณะ หรือห้องสมุดกลางขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองว่า พื้นที่ใช้สอยในลักษณะดังกล่าวกระจุกตัวอยู่เพียงพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในเท่านั้น 

สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) สำรวจห้างสรรพสินค้ารูปแบบใหม่ในไทย อย่าง “เดอะคอมมอนส์” (The Commons) คอมมูนิตี้ มอลล์ที่เป็นการผสมผสานระหว่างร้านขายสินค้า คาเฟ่ แหล่งแฮงก์เอาต์ รวมถึงพื้นที่ชั้น 4 ยังมีโซนสนามเด็กเล่นที่เป็นพื้นหญ้าจริงท่ามกลางความเป็นเมืองและการจราจรที่หนาแน่นในย่านทองหล่อ

“เดอะคอมมอนส์” ภายใต้การบริหารของ “บริษัท เดอะ คอมมอนส์ จำกัด” บริหารและถือหุ้นโดยกลุ่มพี่น้องตระกูล “วิจิตรวาทการ” ที่มองว่า กรุงเทพฯ ยังขาดสถานที่สำหรับการพบปะสังสรรค์ พวกเขาตัดสินใจกลับมาก่อร่างโปรเจกต์คอมมูนิตี้ มอลล์ หลังได้สัมผัสห้องสมุด จัตุรัสใจกลางเมือง และพื้นที่พบปะสังสรรค์ที่ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าในสหรัฐ

ทำไมเมืองไทยมีแต่ ‘ห้างสรรพสินค้า’ ? -พื้นที่ด้านใน “The Commons Thonglor” ของพี่น้องตระกูลวิจิตรวาทการ-

“วิชรี วิจิตรวาทการ” หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการ “เดอะคอมมอนส์” ให้ความเห็นว่า สำหรับประเทศไทย เมื่อคุณไม่รู้จะไปที่ไหนคุณจึงเลือกไปห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เดินวนรอบๆ ห้างเรื่อยไปโดยไม่ได้พูดคุยกับใครเลย “เดอะคอมมอนส์” จึงอยากเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนได้ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน นอกห้องปรับอากาศ แม้ที่นี่อาจไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่แต่พวกเขาก็หวังว่า ในอนาคตจะมีพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ สนามหญ้า และพื้นที่กลางแจ้งเพิ่มขึ้น

หนึ่งใน “Pain Point” สำคัญของพื้นที่ลักษณะนี้คือ อากาศที่ร้อบอบอ้าวตลอดทั้งปี นี่เป็นโจทย์ที่ “เดอะคอมมอนส์” พยายามอุดรูรั่วด้วยการติดตั้งพัดลมสูงกว่า 6 เมตรด้านบนสุดของอาคาร ประกอบกับการออกแบบให้อาคารทั้งหลังปกคลุมด้วย “Metal Mesh” หรือตะแกรงเหล็กผสมคอนกรีตที่มีคุณสมบัติป้องกันแสง สี เสียง และความร้อน ทั้งยังทำให้พื้นที่เปิดโล่งด้านล่างสำหรับนั่งอ่านหนังสือ พบปะสังสรรค์ ถูกบดบังด้วยพื้นของชั้น 3 และ 4 สถาปนิกโครงการระบุว่า การทำเช่นนี้ช่วยให้พื้นที่ด้านล่างปลอดฝนและแดดได้โดยตรง

  • โจทย์ใหญ่ภาครัฐในวันที่ “ห้างครองเมือง”

แม้จะเป็นเรื่องดีไม่น้อยที่พื้นที่เมืองมีตัวเลือกในการใช้ชีวิตไปมากกว่า “ห้างสรรพสินค้า” แต่ก็มีความเห็นบางส่วนที่มองว่า คอมมูนิตี้ มอลล์ในเมืองไทยเลือกจับกลุ่มเป้าหมายอย่างนักท่องเที่ยวต่างชาติและกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์ มากกว่าการเป็นพื้นที่ของทุกคนอย่างทั่วถึง เนื่องจากคอมมูนิตี้ มอลล์ ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยร้านอาหารและบาร์ ทว่ากลับไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของผู้คน อาทิ ร้านซักรีด ตลาด ร้านขายอาหาร ร้านขายยา ฯลฯ หมายความว่า ห้างสรรพสินค้าหรือคอมมูนิตี้ มอลล์ เหล่านี้ไม่ได้ต้องการให้บริการผู้คนในชุมชนโดยแท้จริง หากแต่เป็นพื้นที่บริการสำหรับกำลังซื้อบางกลุ่มเท่านั้น

นอกจากพื้นที่ “คอมมูนิตี้ มอลล์” เรายังพบการพัฒนาที่ดินในรูปแบบ “มิกซ์ยูส” มากขึ้น เห็นได้จากโครงการขนาดใหญ่ของยักษ์ค้าปลีกไทยที่มีการผสมผสานพื้นที่สีเขียว และสวนสาธารณะลอยฟ้ามากขึ้น สอดคล้องกับเทรนด์โลกจาก “แม็คคินซีย์” (McKinsey & Company) ที่มีการระบุว่า องค์ประกอบสำคัญอย่างการคำนึงถึงหลักการความยั่งยืน การเข้าถึงได้ง่ายด้วยขนส่งสาธารณะ มีระบบกักเก็บน้ำฝน มีต้นไม้ขนาดใหญ่โอบล้อม น้ำตก และกระจกจำนวนมาก จะช่วยให้ห้างสรรพสินค้ากลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น แทนที่จะวางตัวเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือพื้นที่เพื่อการค้าแบบเดิม ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เข้าถึงง่าย และเป็นแหล่งเพิ่มรายได้ให้คนตัวเล็กด้วย

ทำไมเมืองไทยมีแต่ ‘ห้างสรรพสินค้า’ ? -“สวนเบญจกิติ” หนึ่งในพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุงเทพฯ ที่ได้รับความนิยม-

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นและบริหารงานโดยภาคเอกชนที่มีตัวเลขผลประกอบการเป็นเป้าหมายสำคัญ ขณะที่ภาครัฐซึ่งมีอำนาจในการบริหารจัดการพื้นที่อาจต้องพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่ตามมาของอภิมหาโปรเจกต์เหล่านี้อย่างรอบ ซึ่ง อ.จิตติศักดิ์ ระบุว่า บางประเทศเอกชนต้องเสียเงินให้แก่สาธารณะหรือเมืองในกรณีที่คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ ส่วนภาวะโหยหาพื้นที่สีเขียวต้องยอมรับว่า ขณะนี้กรุงเทพฯ แทบไม่เหลือพื้นที่ว่างพอในการทำสวนสาธารณะแล้ว เพราะราคาที่ดินในเมืองปรับตัวสูงเกินกว่าจะซื้อขายมาเพื่อทำเป็นพื้นที่สาธารณะให้เป็นประโยชน์ใช้สอย

ด้านนักวาดภาพประกอบ อายุ 26 ปี ให้สัมภาษณ์กับ “เดอะการ์เดียน” ว่า เธอหมดหวังกับพื้นที่สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ เพียงคอมมูนิตี้ มอลล์ ที่ได้นั่งทำงาน ได้ใช้ชีวิตยามค่ำคืนก็เป็นเรื่องที่ดีมากแล้ว

 

อ้างอิง: ChulaCreden DataMcKinseyQuartzThe Guardian