เหลียวหลังแลอนาคตสื่อโฆษณา ผ่าน 'เดนท์สุ ประเทศไทย' เบอร์ 1 มีเดียเอเยนซี

เหลียวหลังแลอนาคตสื่อโฆษณา ผ่าน 'เดนท์สุ ประเทศไทย' เบอร์ 1 มีเดียเอเยนซี

เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2566 ธุรกิจการตลาดยังมี “อุปสรรค” ให้ต้องรับมืออย่างต่อเนื่อง ด้วยหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ระดับสูง กระทบกำลังซื้อ ด้าน “ต้นทุน” กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ผลิตสินค้าและบริการ ดอกเบี้ยขาขึ้นที่กระทบทั้งผู้ผลิต ภาคธุรกิจ เป็นต้น

หลายปัจจัยทำให้หนึ่งในหน้าด่านของการรัดเข็มขัด คือ การวางแผนใช้จ่ายเงินซื้อสื่อโฆษณา! หากมองภาพรวมทั้งปี และวิเคราะห์แนวโน้มปี 2567 จะเป็นอย่างไร “เดนท์สุ ประเทศไทย” มีเดีย เอเยนซีเบอร์ 1 ของไทย รวมพลังแม่ทัพนายกอง และบริษัทในเครือให้มุมมอง ประกอบด้วย วิสาส์น สิริจันทานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจมีเดีย เดนท์สุ ประเทศไทย สรรค์ฉัตร จันทร์สระแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เดนท์สุ เอ็กซ์ ศุภกิตติ์ ลิ้มบุญทรง กรรมการผู้จัดการ ไอพรอสเพค และโอลิเวอร์ กิตติพงศ์ วีระเตชะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรมแบรนด์และการตลาดของกลุ่มเดนท์สุ ประเทศไทย

  • แบรนด์อย่าหันหลังให้ “ทีวี” ในการสื่อสารตลาด

ภาพรวมสถานการณ์อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาปี 2566 ทิศทางแบรนด์มีการใช้จ่ายเงินผ่านสื่อโฆษณานอกบ้าน (Out Of Home : OOH) มากขึ้น สื่อดิจิทัล รวมถึงสื่อในห้าง (In store Media) ที่มีการเติบโต ขณะที่สื่อทีวีค่อนข้างนิ่ง (stagnant) แต่ปัจจุบันการคำนวณเม็ดเงินโฆษณาทางทีวีจะอิงแค่ภาพยนตร์โฆษณา (Spot) ไม่ได้ เพราะรูปแบบการสื่อสารตลาดแตกต่างจากอดีต มีกิจกรรมอื่นๆ เช่น แบรนด์สินค้าสนับสนุนในรายการทีวี(สปอนเซอร์) ตลอดจนการโฆษณาแฝง(Tie-in) เป็นต้น

ส่วนแนวโน้มปี 2567 สื่อทรงอิทธิพล ยังเป็นสื่อดิจิทัล สื่อโฆษณานอกบ้าน ขานรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น หลังผ่านพ้นโรคโควิด-19 ยิ่งกว่านั้นพลังของสื่อโฆษณานอกบ้าน ยังตอบโจทย์ผู้คนที่มองเห็น เพราะ “ไม่มีใครหลับตา” เมื่อออกไปใช้ชีวิต

อีกสื่อที่ยังมีบทบาทคือ “ทีวี” เพราะการสื่อสารตลาดสร้างการรับรู้แบรนด์ สิ่งที่ทีวีไม่เคยต้องตอกย้ำกับบริโภคคือ “ความน่าเชื่อถือ” ทำให้เนื้อหาหรือคอนเทนต์ โฆษณาที่แบรนด์นำเสนอผ่านโฆษณาได้การยอมรับ นอกจากนี้ ผู้บริโภคพบเห็นแบรนด์ผ่านสื่อต่างๆ อาจจำประเภทสื่อไม่ได้ แต่มักมอง “ทีวี” มีอิทธิพลต่อการจดจำแบรนด์สินค้าได้

“คนส่วนใหญ่เชื่อว่าทีวีไม่มีคนดู แต่ด้วยสถิติและปริมาณลูกค้าที่กลุ่มเดนท์สุให้บริการ การไม่ใช้ทีวีในการวางแผนสื่อสารการตลาด จะไม่มีความยั่งยืน” วิสาส์น ฉายภาพ

  • ลุ้นปีหน้าหมวดยานยนต์ใช้จ่ายคึกคัก

ท่ามกลางปัจจัยเปราะบาง การสื่อสารตลาด โฆษณามักเป็นหน้าด่านหั่นงบ! ทว่า “วิสาส์น” ย้ำว่า จากการวางแผนงานสื่อโฆษณาและคาดการณ์ปี 2567 ลูกค้าจะหั่นงบหรือไม่ต้องจับตาดูการขับเคลื่อนธุรกิจใน 2 ไตรมาสแรก การตุนยอดขายและการเติบโตไว้ก่อน เพื่อประเมินสถานการณ์และทบทวนแผนงานอีกครั้งช่วงครึ่งปีหลัง

“ยังไม่ได้ยินลูกค้าจะลดงบสื่อสารการตลาดลง 5% หรือ 10% ยังไม่มี” อีกด้านจะเห็นการเปย์งบโฆษณามากขึ้นในปีหน้า จากกลุ่มยานยนต์ ซึ่งมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(อีวี)เข้ามาทำตลาดกันอย่างคึกคึก ทำให้แบรนด์ใหญ่เจ้าตลาดต้องเดินเกมรักษาการเติบโตและส่วนแบ่งทางการตลาด

“ปีหน้าหมวดยานยนต์คงอยู่นิ่งไม่ได้ แบรนด์ต่างๆต้องทำแคมเปญ การสื่อสารตลาดเพื่อรักษาเอนเกจเมนต์กับคอนซูเมอร์ไว้”

สำหรับการสื่อสารตลาดเป็นสิ่งสำคัญที่แบรนด์ต้องทำต่อเนื่อง ให้มีความ recency เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ จดจำ เห็นแล้วนึกถึงก่อนเป็น Top of Mind โดยเฉพาะสินค้าที่มียอดซื้อทุกวัน แม้กระทั่งอสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ ก็เป็นสินค้าที่มีกลุ่มลูกค้าซื้อทุกวันเช่นกัน

  • เดนท์สุ ติดอาวุธหนุนลูกค้าโต

 RECMA มีการจัดอันดับมีเดียเอเยนซีในประเทศไทยประจำปี 2566 โดยกลุ่มเดนท์สุ ผงาดเป็นมีเดีย เอเยนซีที่ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในไทย 4 ปีซ้อน ล่าสุดส่วนแบ่งตลาดรวม 34% ทิ้งห่างเบอร์ 2 ถึง 6%

ในการขับเคลื่อนธุรกิจปี 2567 ยังเดินหน้าเป็นเพื่อนคู่คิดให้ลูกค้า การวางแผนสื่อสารตลาดพร้อมติดอาวุธเพื่อสร้างการเติบโต มีการนำเทคโนโลยีมาเสริมแกร่งบริการลูกค้าตอบโจทย์ความเร็ว(Speed)ในการทำงาน การมีพันธมิตรแพลตฟอร์มสื่อระดับโลกทั้ง meta google facebook line และ TikTok การใช้ขุมทรัพย์ข้อมูล(data)ทำให้ใช้สื่อ การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนี้ เดนท์สุ ยังมีเครื่องมืออย่าง Dentsu Marketing Cloud ที่เกิดจากการพัฒนาภายในร่วมกับพันธมิตรอย่าง facebook ในการเชื่อมต่อข้อมูล พฤติกรรมของผู้บริโภคในการรับชมโฆษณาบน facebook เพื่อนำมาวิเคราะห์ผู้บริโภค ต่อยอดสู่การป้อนคอนเทนต์โฆษณาเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น

“ด้วยเครื่องมือที่เดนท์สุ มีเราจะใช้เม็ดเงินได้อย่างเหมาะสม วางแผนสื่อ และยิงโฆษณาไปยังลูกค้าที่แม่นยำขึ้น การใช้เงินก็จะมีประสิทธิภาพขึ้น และผลลัพธ์ของธุรกิจลูกค้าก็ดีขึ้นด้วย”