กลุ่มเซ็นทรัลปลุกศักยภาพเมืองรอง 'นครพนม-หนองคาย' เทียบชั้นเมืองหลัก

กลุ่มเซ็นทรัลปลุกศักยภาพเมืองรอง 'นครพนม-หนองคาย' เทียบชั้นเมืองหลัก

กลุ่มเซ็นทรัล วางโรดแมปปลุกศักยภาพเมืองรองเทียบชั้นเมืองหลักขยายการลงทุนยึดทำเลยุทธศาสตร์ ‘นครพนม-หนองคาย’ ดันเศรษฐกิจไทยเชื่อมอินโดจีน พร้อมชูแนวคิด 'Growth for the Country, Great for Local Communities' ผ่าน 'เซ็นทรัล สร้าง' 'เซ็นทรัล พัฒนา' และ 'เซ็นทรัล ทำ'

  • กลุ่มเซ็นทรัลทุ่มงบกว่า  3,000 ล้านบาท เดินหน้าขยายการลงทุน กางแผนยกระดับ 'นครพนม - หนองคาย' สร้างศักยภาพเมืองรองเทียบชั้นเมืองหลัก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ประตูภูมิภาคอินโดจีน

  • ปักหมุดทำเลยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพภายในประเทศ มุ่งสร้างสรรค์ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์ ควบคู่การดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คน สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญพัฒนาเป็นไลฟ์สไตล์ฮับประจำถิ่น 

  • ชูแนวคิด 'Growth for the Country, Great for Local Communities' ผ่านการดำเนินงาน 3 มิติ คือ 'เซ็นทรัล สร้าง', 'เซ็นทรัล พัฒนา' และ 'เซ็นทรัล ทำ'

เส้นทางธุรกิจกว่า 7 ทศวรรษของ 'กลุ่มเซ็นทรัล' มุ่งขยายอาณาจักรสร้างการเติบโตให้องค์กรไปพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเจริญให้ประเทศไทย ผ่านการ 'สร้างคุณค่าร่วมกัน' กับทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับสังคมให้เติบโตไปด้วยกันแบบองค์รวมตั้งแต่ต้นน้ำจรดปลายน้ำ ทั้งธุรกิจ สังคม ชุมชน ลูกค้า และคู่ค้า

สะท้อนพันธกิจและวิสัยทัศน์อันแรงกล้า! ที่บ่มเพาะจากผู้ก่อตั้ง คุณเตียง จิราธิวัฒน์ คุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ และ คุณวันชัย จิราธิวัฒน์ ถ่ายทอด 'ดีเอ็นเอ' สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น สู่ก้าวย่างแห่งปีที่ 76 กลุ่มเซ็นทรัลยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนต่อเนื่อง มุ่งหน้า 'หัวเมือง' หรือ 'เมืองรอง' 

กลุ่มเซ็นทรัลปลุกศักยภาพเมืองรอง \'นครพนม-หนองคาย\' เทียบชั้นเมืองหลัก

ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของกลุ่มเซ็นทรัลในฐานะผู้นำค้าปลีกและบริการ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ คือ การขยายธุรกิจควบคู่การยกระดับเมือง สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชนและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด 'Growth for the Country, Great for Local Communities' ผ่านการดำเนินงาน 3 มิติ 'เซ็นทรัล สร้าง' 'เซ็นทรัล พัฒนา' และ 'เซ็นทรัล ทำ'

การขยายธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล เน้นภูมิภาคที่มีศักยภาพเพื่อสร้างสรรค์ให้เป็น 'เมืองท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์' ควบคู่การดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คน สังคม สิ่งแวดล้อม พัฒนาสู่ 'ไลฟ์สไตล์ฮับประจำถิ่น' ปลุกกระแสท่องเที่ยวเมืองรองให้คึกคักยกระดับสู่จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ระดับฐานรากถึงระดับบน

กลุ่มเซ็นทรัลปลุกศักยภาพเมืองรอง \'นครพนม-หนองคาย\' เทียบชั้นเมืองหลัก

บุกเบิกเมืองศักยภาพ ด้วย เซ็นทรัล...สร้าง

การบุกเบิกเมืองศักยภาพของกลุ่มเซ็นทรัลเริ่มจากยุทธศาสตร์ 'สร้างเมืองให้เข้มแข็ง' มุ่งลงทุนและขยายโครงการที่เน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอย่างรอบด้าน (Impact Investment) โดยเฉพาะ 'เมืองรอง' ปักหมุดพัฒนาย่านคุณภาพสู่แลนด์มาร์กแห่งการใช้ชีวิต หรือ  Central of Life   นำโดยเรือธง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จัดสรรงบลงทุนกว่า 135,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี (2566-2570) หรือเฉลี่ยลงทุนปีละ 30,000 ล้านบาท ครอบคลุม 30 จังหวัด ปักหลักสร้างเมืองที่จะนำมาสู่ การ 'สร้างความเจริญให้ชุมชน' ที่จะถูกต่อยอดด้วย โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ และเวลเนส เซ็นเตอร์ เป็นทำเลทองด้วยการ 'สร้างการลงทุนให้หลากหลาย' ในรูปแบบ Mixed-Use Development ครอบคลุมศูนย์การค้า ค้าปลีก โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย

โดยโปรเจกต์ไฮไลต์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มจาก 'ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ นครพนม' ลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท เตรียมเปิดบริการไตรมาส 4 ปี 2567 

นครพนม ถือเป็นเมืองหน้าด่านการค้าและการท่องเที่ยวสู่ภาคอีสาน ตั้งอยู่เขตชายแดนติดเมืองท่าแขก ประเทศลาว มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 รองรับการเดินทาง ขนส่ง และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงไทย ลาว เวียดนาม และภาคใต้ของจีน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามและจีนตอนใต้ให้มีมูลค่าการค้าผ่านแดนสูงสุดในประเทศไทย รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟรางคู่สายใหม่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม จะเสริมศักยภาพขนส่งมวลชนได้ดียิ่งขึ้น

“การพัฒนาโครงการใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัล จะเสริมศักยภาพนครพนมให้เป็นเมืองสุดฮิป! ในแดนอีสาน ถูกใจนักท่องเที่ยวสไตล์ฮิปสเตอร์ไม่ซ้ำใคร ซึ่งนครพนมมีนักท่องเที่ยว 1.5 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้จากท่องเที่ยว 2,200 ล้านบาท”

ในปี 2567 ยังเตรียมเปิดบริการ 'ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ หนองคาย' ลงทุนราว 1,000 ล้านบาท ซึ่ง “หนองคาย” เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเมืองชายแดนติดกับนครหลวงเวียงจันทน์และแขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว มีจุดผ่านแดนด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่สำคัญเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศอินโดจีน! จึงเป็นที่นิยมในการเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยของเพื่อนบ้าน 

อนาคตหนองคายจะเป็น 'Transportation Hub' ทั้งทางบก ราง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ ไทย-ลาว-จีน-คุณหมิง อีกด้วยส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-ลาว ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี มีนักท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ภาคท่องเที่ยวกว่า 3,350 ล้านบาท 

จะเห็นว่า การลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัลทั้งนครพนมและหนองคาย รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ผลักดันการขยายตัวทางการค้า การลงทุน การบริการ การท่องเที่ยว การจ้างงาน ยกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ดียิ่งขึ้นและยั่งยืน

สำหรับ ภาคกลาง  เตรียมเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครสวรรค์ ไตรมาสแรกปี 2567 ซึ่งตั้งอยู่บนแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridors (NSEC) เสริมความแข็งแกร่งให้จังหวัดนครสวรรค์ควบคู่แผนภาครัฐในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายเหนือ รถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-แม่สอด โดยนครสวรรค์ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทย-จีน เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ 

พร้อมเปิด ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครปฐม ไตรมาสสอง ปี 2567 เป็นการขยายไปภาคตะวันตกโดยมีนครปฐมเป็นประตูเชื่อมราชบุรี และกาญจนบุรี เป็นศูนย์กลางของเมืองรองที่ตอบโจทย์ลูกค้าโดยไม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

พัฒนาคน เมือง ประเทศ ด้วย เซ็นทรัล...พัฒนา

ทศ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์การลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัลมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบ Community-based tourism and sustainable tourism ปั้นเมืองรองให้โดดเด่น ไม่เพียงกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น แต่ร่วมปักธงไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก! ดึงดูดนักลงทุน นักเดินทางเพื่อธุรกิจ หรือนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เข้ามายังพื้นที่ร่วม 'พัฒนาเมือง'และ 'พัฒนาประเทศ'

เมื่อพื้นที่หัวเมืองหรือเมืองรองเกิดการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จะกลายเป็น 'เดสติเนชั่น' แห่งการชอปปิง อาหาร แบรนด์ดัง แฟชั่น และการใช้ชีวิต ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานราก ชุมชน เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายใหญ่ เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ผู้คนทุกระดับมีรายได้ในการจับจ่าย นับเป็นการ 'พัฒนาคน' ยิ่งธุรกิจมีสภาพคล่องที่ดี การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเติบโตนำสู่เม็ดเงินสะพัดในอีโคซิสเต็ม โดยกลุ่มเซ็นทรัลคาดว่าภายใน 5 ปี จะมีพนักงานประจำรวมกว่า 100,000 คน จ้างงานมากกว่า 300,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ

 

ยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม ด้วย เซ็นทรัล...ทำ

เซ็นทรัลมุ่ง 'ทำให้สังคมน่าอยู่' ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตให้เติบโตร่วมกันอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้ทุกคนในสังคม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ 'เซ็นทรัล ทำ' - ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ ด้วยแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Values-CSV)

โดย 'ทำการพัฒนาพื้นที่' ครอบคลุม 44 จังหวัด ด้วยงบกว่า 200 ล้านบาทต่อปี ในปี 2566 ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้ชุมชน 1,800 ล้านบาท ปลูกป่า 6,500 ไร่ ตามด้วย 'ทำเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา' ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบ Project-based Learning ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงในฐานการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาหลักสูตรการศึกษา พัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมไปถึงปรับปรุงสถานศึกษา มอบทุนการศึกษา

'ทำให้คนพิการมีงานทำ' สอนทักษะและสร้างอาชีพคนพิการ เปิดโอกาสโดยการรับเป็นพนักงานประจำกว่า 80 คน ที่ ศูนย์ Contact Center และศูนย์ซ่อม นอกจากรายได้ที่มั่นคงแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การได้รับการยอมรับจากคนในสังคม "ทำให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืน" ผ่านโครงการจริงใจ ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรท้องถิ่นนำพืชผักผลไม้ปลอดภัยและสินค้าขึ้นชื่อของชุมชนมาจำหน่ายในพื้นที่ของกลุ่มเซ็นทรัล สร้างรายได้ที่มั่นคง ปัจจุบันขยายสาขากว่า 32 สาขาทั่วประเทศ สนับสนุนเครือข่ายเกษตรกรกว่า 10,000 ครัวเรือน สร้างรายได้ให้ชุมชน 255 ล้านบาท

'ทำพื้นที่ให้มีประโยชน์ต่อชุมชน' มอบพื้นที่จำหน่ายสินค้าฟรี ปีละไม่ต่ำกว่า 100,000 ตร.ม. คิดเป็นมูลค่า 300 ล้านบาท 'ทำให้เป็นธุรกิจสีเขียว' มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เดินหน้าสู่ Net Zero ในปี 2050 พร้อมขับเคลื่อนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ศูนย์การค้าต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานทดแทน การติดตั้งหลังคาโซล่าร์เซลล์ สถานีอีวีชาร์จเจอร์ การบริหารจัดการขยะ ฯลฯ

'ทำให้ทุกคนมีความสุขด้วยการมีคุณภาพชีวิตที่ดี' ด้วยการพัฒนาสินค้าชุมชนและจัดหาช่องทางตลาด  ส่งเสริมและบูรณะพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี การสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ ส่งเสริมเอสเอ็มอี เป็นต้น

ความร่วมมือและลงมือทำ! สร้างเมืองน่าอยู่ พัฒนาเมืองต้นแบบ "ศูนย์กลางแห่งการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ" ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง