เปิดขุมทรัพย์ ‘4 ยักษ์เบเกอรี’ ครองพื้นที่ ‘7-Eleven’ ทุกตารางนิ้ว

เปิดขุมทรัพย์ ‘4 ยักษ์เบเกอรี’ ครองพื้นที่ ‘7-Eleven’  ทุกตารางนิ้ว

เปิดห่วงโซ่อาณาจักรยักษ์เบเกอรี ยึดพื้นที่ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ทุกสาขา “ซีพีแรม-โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์-ศรีฟ้า-เอ็นเอสแอล” ผลประกอบการรวมกันเฉียด “3 หมื่นล้านบาท”

Key Points:

  • เบเกอรีมากหน้าหลายตาในร้าน “เซเว่น-อีเลฟเว่น” มาจากผู้ผลิตรายใหญ่ 4 เจ้า ได้แก่ ซีพีแรม, โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์, ศรีฟ้า โฟรเซนฟู้ด และเอ็สเอสแอล ฟู้ดส์
  • “ซีพีแรม” เป็นบริษัทลูกในเครือซีพี มี “ซีพีออลล์” ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ สินค้าเบเกอรีที่คุ้นหน้าคุ้นตา ได้แก่ ขนมปังยี่ห้อ “เลอแปง” ติ่มซำ “เจด ดราก้อน” รวมถึงอาหารคาวประเภทข้าวกล่องที่จำหน่ายในร้าน “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ด้วย
  • ส่วนอีก 3 รายเป็น “คู่ค้า” ที่ทำงานร่วมกันกับเครือซีพีมานาน “โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์” ร้านเล็กๆ ของคู่สามีภรรยา “ศรีฟ้า โฟรเซนฟู้ด” เบเกอรีต่างจังหวัดที่เติบโตแบบป่าล้อมเมือง ส่วน “เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์” เริ่มจากทำอาหารแช่แข็ง ก่อนพลิกมาทำ “แซนวิชอบร้อน” ประสบความสำเร็จสู่บริษัทพันล้าน


“เซเว่น-อีเลฟเว่น” หนึ่งในร้านค้าที่มีสารพัดของอุปโภคบริโภคครบครันมากที่สุด นอกจากสินค้าจากแบรนด์ชั้นนำทั่วไปแล้ว ร้านคอนวีเนียนสโตร์แห่งนี้ยังโดดเด่นด้วยสินค้า “Only at 7-Eleven” มีขายเฉพาะที่ร้านค้าเซเว่น-อีเลฟเว่นเท่านั้น นอกจากข้าวกล่องสีขาว-แดงที่ติดตลาดจนมีฐานผู้บริโภคเหนียวแน่น ยังมีขนมหวานเบเกอรีที่มีตัวเลขการเติบโตดีเยี่ยม สร้างรายได้ให้บริษัทผู้ผลิตมากกว่า “หมื่นล้านบาท” ต่อปี

โดยสินค้าประเภทเบเกอรีที่วางขายในร้านค้า “เซเว่น-อีเลฟเว่น” มาจากผู้ผลิตหลายรายด้วยกัน ทั้งแบบที่บริษัทในเครือซีพีเป็นผู้ผลิตเอง รวมถึง “ซัพพลายเออร์” เจ้าประจำที่ผูกปิ่นโตยาวนานร่วม 20 ปี ไม่ว่าจะเป็น “เค้กฝอยทอง” “ครัวซองต์ไส้ทะลัก” “โตเกียวทรงเครื่อง” หรือ “แซนวิชอบร้อน” ทุกสินค้าชื่อดังเหล่านี้ล้วนมาจากยักษ์เบเกอรีกลุ่มนี้ทั้งสิ้น

เปิดขุมทรัพย์ ‘4 ยักษ์เบเกอรี’ ครองพื้นที่ ‘7-Eleven’  ทุกตารางนิ้ว

  • “ซีพีแรม” ผลิตข้าวกล่อง สินค้าแช่แข็ง มี “เลอแปง” เป็นตัวชูโรง

บริษัท ซีพีแรม จำกัด หรือ “CPRAM” เป็นบริษัทลูกในเครือ “ซีพีออลล์” ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2531 หากจะพูดว่า “ซีพีแรม” เป็นอาวุธลับของเครือซีพีที่ยิงออกมาได้ “ถูกที่ ถูกเวลา” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะเดิมทีร้านค้าเซเว่น-อีเลฟเว่น มีเพียงสินค้าจากแบรนด์ชั้นนำอื่นๆ วางขายไม่ต่างกับร้านคอนวีเนียนสโตร์ทั่วไป การเกิดขึ้นของ “ซีพีแรม” จึงมีเป้าหมายหลักเพื่อบุกตลาดธุรกิจอาหาร พลิกแต้มต่อจากการเป็นร้านสะดวกซื้อสู่ร้าน “อิ่มสะดวก 24 ชั่วโมง”

เปิดขุมทรัพย์ ‘4 ยักษ์เบเกอรี’ ครองพื้นที่ ‘7-Eleven’  ทุกตารางนิ้ว

ในยุคแรกที่ “ซีพีแรม” เริ่มก่อร่างธุรกิจบริษัทมีสินค้าเพียงสองประเภทเท่านั้น คือ ขนมจีบและซาลาเปา กระทั่งเริ่มติดตลาด ลูกค้าให้การตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่เป็นการปั้นแป้งซาลาเปากันเองหลังบ้านจึงเริ่มนำเครื่องทำซาลาเปาเข้ามาใช้ในอีก 5 ปีให้หลัง นำไปสู่การโปรโมตแคมเปญ “อิ่มสะดวก 24 ชั่วโมง” ผ่านวลีคุ้นหู “รับขนมจีบ-ซาลาเปาเพิ่มไหมคะ?” โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่คนหนุ่มสาววัยทำงาน นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว จากที่ขายสินค้าเพียงไม่กี่อย่าง “ซีพีแรม” เริ่มต่อยอดขยายไลน์การผลิตเชิงรุกทั้งขนมปังแบรนด์ “เลอแปง” ขนมจีบและซาลาเปาติดแบรนด์ “เจด ดราก้อน” รวมถึงอาหารพร้อมทานในหมวด “ข้าว” ที่ได้รับควานนิยมและมีสัดส่วนการเติบโตมากถึง 15 เปอร์เซ็นต์ภายในปีเดียว 

ห่วงโซ่การผลิตของ “ซีพีแรม” ในปัจจุบันแตกหน่อครอบคลุมไปถึงการรุกธุรกิจ “ครัวปรุงสด” ไม่ต่างจากอาหารตามสั่งขนาดย่อม โดยเน้นการตั้งครัวปรุงสดในสาขาใกล้อาคารสำนักงานหรือออฟฟิศทาวเวอร์ที่มีกลุ่มลูกค้าคนทำงานจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจอาหารของ “ซีพีแรม” มีตัวเลขการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีทั้งรายได้และกำไร แต่หากเทียบเคียงกับรายได้รวมของ “บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน)” บริษัทแม่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ “ซีพีแรม” จะพบว่า สัดส่วนรายได้ของซีพีแรมนั้นมีเพียง 6.7 เปอร์เซ็นต์ของรายได้บริษัทแม่เท่านั้น

ทว่า ธุรกิจ “ซีพีแรม” ไม่ได้มีความสำคัญด้านตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่การวางจุดยืนให้เป็นมากกว่าร้านสะดวกซื้อ ทำให้ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” กลายเป็นจุดหมายปลายทางของผู้บริโภคที่ “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา” ส่วนคนที่ตั้งใจแวะมาฝากท้องที่ร้านก็อาจได้ของติดไม้ติดมือในร้านกลับไปเมื่อต้องรอสินค้าอุ่นร้อนหรือปรุงสด การตลาดของ “ซีพีแรม” จึงมีแต่ได้กับได้ 

  • “โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์” โตจากร้าน SMEs เล็กๆ สู่พาร์ตเนอร์ 7-Eleven ยอดขาย “400 ล้าน”

ตัวอักษร “B” บนฉลากสินค้าที่เรียงรายบนชั้นวางเบเกอรีในร้าน “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ถูกผลิตและพัฒนาสูตรขึ้นโดย “โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์” ผู้ผลิตเบเกอรี่โฮมเมดกึ่งอุตสาหกรรมที่เติบโตจากธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดย่อมของสองสามีภรรยา “รุจา-วิสิทธิ์ สดแสงเทียน” รุจาเรียนรู้การทำขนมจากความชอบส่วนตัว วางขายหน้าตึกคูหาของที่บ้านอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนจะเริ่มนำไปฝากขายตามร้านกาแฟ จนนำไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เบเกอรีของเธอเริ่มเป็นที่รู้จัก คือการดีลขายส่งขนมให้กับ “ร้านพรชัย” เจ้าของขนมปังบางลำภู หลังจากนั้นก็มีเชนร้านกาแฟยักษ์ใหญ่ให้ความสนใจเบเกอรีของสองสามีภรรยามากขึ้น รวมถึง “คัดสรร” (Kudsan) แบรนด์ร้านกาแฟภายใต้การบริหารของเครือซีพี พาร์ตเนอร์คนสำคัญที่ทำให้ “โบว์เบเกอรีเฮ้าส์” เติบโตอย่างก้าวกระโดด

เปิดขุมทรัพย์ ‘4 ยักษ์เบเกอรี’ ครองพื้นที่ ‘7-Eleven’  ทุกตารางนิ้ว

ปี 2552 เบเกอรีภายใต้แบรนด์ “โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์” วางจำหน่ายเคียงคู่เครื่องดื่มในร้านคัดสรร โดยเบเกอรีที่ส่งขายที่นี่มีตั้งแต่ขนมปังเนยสด เค้กนมสด เค้กแครอท ขนมปังหมูหยองพริกเผา ชิฟฟ่อนใบเตย เอแคลร์ ท้อฟฟี่เค้ก เครปเค้ก รวมถึงเค้กนมสดคละหน้าต่างๆ นอกจากร้านคัดสรรแล้ว “โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์” ยังมีพาร์ตเนอร์แบรนด์ดังอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสตาร์บัคส์ (Starbucks) คาเฟ่ อะเมซอน (Cafe’ Amazon) เบลลินี่ (Bellinee’s) แบร์เฮาส์ (Bearhouse) อาฟเตอร์ ยู (After You) ฯลฯ รวมถึงการกระโดดเข้าไปร่วมงานกับร้าน “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ในปี 2563 ด้วยการวางจำหน่ายเบเกอรีที่มียอดขายมากถึงปีละ 30 ล้านชิ้น หรือตกวันละ 80,000 ชิ้น

“วิสิทธิ์ สดแสงเทียน” เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ “Maketeer” ไว้ว่า การร่วมงานกับ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” เป็นโชคดีที่เข้ามาในช่วงโควิด-19 หลังจากได้รับผลกระทบจากการมาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้ธุรกิจหลักอย่างการผลิตเบเกอรีส่งร้านคาเฟ่ได้รับผลกระทบเต็มๆ

สินค้าที่ “โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์” วางจำหน่ายในร้าน “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วแม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยมีครัวซองต์วางขายในร้านอยู่แล้ว แต่ “ครัวซองต์ไส้ทะลัก” ของโบว์เบเกอรี่เฮ้าส์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่การสอดไส้และตกแต่งหน้าเคลือบขนมปังแบบที่ยังไม่มีเจ้าไหนเคยทำมาก่อน จนปัจจุบัน “โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์” พัฒนาครัวซองต์ออกมาทั้งหมด 4 รสชาติ ได้แก่ ดับเบิ้ลช็อกโกแลต ดับเบิ้ลไวท์ช็อกกาแลต ดับเบิ้ลบลูเบอร์รี่ และดับเบิ้ลสตรอเบอร์รี่ รวมถึง “พัฟโรลสังขยาใบเตย” สินค้าใหม่ล่าสุดที่ได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน

เปิดขุมทรัพย์ ‘4 ยักษ์เบเกอรี’ ครองพื้นที่ ‘7-Eleven’  ทุกตารางนิ้ว -ครัวซองต์ไส้ทะลัก สินค้าขายดีในร้าน “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ของ “โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์”-

ปัจจุบัน ยอดขาย “บริษัท โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ จำกัด” เติบโตขึ้นทุกปี จากปี 2564 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 363,440,451 บาท กำไรสุทธิ 5,354,899 บาท มาในปี 2565 รายได้เติบโตเพิ่มขึ้น 27 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 463,026,708 บาท กำไรสุทธิ 16,005,134 บาท โดยหลังจากนี้บริษัทมีแผนระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอีก 5-7 ปีข้างหน้าด้วย

  • “ศรีฟ้า” ร้านจากเมืองกาญจน์ ที่ก้าวสู่ยักษ์เบเกอรีแถวหน้าของเมืองไทย

ปี 2566 “เค้กฝอยทอง” อาจดูเป็นเมนูหากินง่าย ใกล้ตัว ไม่โดดเด่นแปลกตาสักเท่าไร แต่หากย้อนกลับไปราว 30 ปีที่แล้ว การนำเบเกอรีสไตล์ฝรั่งอย่าง “เค้ก” ผสมผสานกับ “ฝอยทอง” นับเป็นความแตกต่างที่ยากจะหาตัวจับได้ จนทำให้ปัจจุบัน “เค้กฝอยทอง” กลายเป็นหนึ่งในของฝากประจำจังหวัดกาญจนบุรีที่ใครผ่านไปมาเป็นต้องแวะซื้อจากร้าน “ศรีฟ้ากาญจน์” ร้านของฝากภายใต้การบริหารของ “บริษัท ศรีฟ้า โฟรเซนฟู้ด จำกัด” นำโดยหัวเรือใหญ่ “วิเชียร เจนตระกูลโรจน์” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ศรีฟ้าเบเกอรี่ และผู้คิดค้นสูตรเค้กฝอยทองอันเลื่องชื่อ

ในวัยเด็ก “วิเชียร” เกิดและโตในครอบครัวที่พ่อแม่เปิดร้านขายข้าวขาหมูเล็กๆ เขาเป็นพี่ชายคนโตจากบรรดาพี่น้องทั้งหมด 7 คน จึงต้องรับหน้าที่ช่วยที่บ้านเตรียมวัตถุดิบในการขายข้าวขาหมูตั้งแต่เด็กๆ “วิเชียร” เล่าว่า เขาไม่ชอบและไม่มีความสุขในการทำสิ่งนี้ จึงตั้งใจไปเก็บเกี่ยวความรู้ที่กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายว่า จะกลับมาเปิดร้านเบเกอรีที่ต่างจังหวัด กระทั่งเรียนรู้จากการเป็นลูกจ้างได้ 4 ปีเต็ม จึงตัดสินใจนำเงินเก็บทั้งหมดซื้ออุปกรณ์ทำขนมและเปิดร้านเบเกอรีแห่งแรกที่ตำบลท่าเรือในนาม “ศรีฟ้า เบเกอรี่” โดยเป็นการหยิบยืมมาจากชื่อร้านข้าวขาหมูของผู้เป็นพ่อ

“ศรีฟ้า เบเกอรี่” ใช้กลยุทธ์ “ปากต่อปาก” เป็นหลัก ด้วยร้านที่ไม่ได้มีเงินทุนมากพอจะทำการตลาดในรูปแบบอื่นๆ สิ่งสำคัญที่สุดจึงเป็นคุณภาพสินค้าและความอร่อยที่ทำให้ “ศรีฟ้า เบเกอรี่” ค่อยๆ สะสมชื่อเสียงจนสามารถขยายสาขาไปยังต่างอำเภอ และจังหวัดรอบนอกบริเวณใกล้เคียงได้

เปิดขุมทรัพย์ ‘4 ยักษ์เบเกอรี’ ครองพื้นที่ ‘7-Eleven’  ทุกตารางนิ้ว

กระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2547 “เค้กฝอยทอง” เกิดไปเข้าตาทีมงานจากร้าน “เซเว่น-เอเลฟเว่น” ติดต่อให้วิเชียรนำสินค้ามาวางขาย นับตั้งแต่นั้นมาอาณาจักรศรีฟ้าก็ขยายความสำเร็จสู่ “ศรีฟ้า โฟรเซนฟู้ด” รายได้หลักมาจากการทำ “OEM” ผลิตส่งขายทั้งเบเกอรี่พร้อมทาน ขนมปังแช่แข็ง ไปจนถึงแป้งโดว์ให้กับค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ร้านเชนระดับประเทศ โรงแรมห้าดาว รวมทั้งยังมีสินค้าส่งออกทุกปีด้วย

“ศรีฟ้า โฟรเซนฟู้ด” มีรายได้ราว 600-700 ล้านบาททุกปี กำไรหลักสิบล้านบาท นอกจากจะเน้นผลิตสินค้าส่งให้แบรนด์ชั้นนำทั่วประเทศแล้ว “ศรีฟ้า” ยังมีเบเกอรีตีแบรนด์ตัวเองที่วางขายจนเป็นที่จดจำ เมนูอื่นๆ นอกจากเค้กฝอยทองยังมี “ทองม้วนกรอบ” ที่เน้นส่งออกต่างประเทศเป็นหลัก รวมถึงขนมปังก้อนกลมสอดไส้ที่ขายหน้าร้านเพียงชิ้นละ 10 บาท และ “ชีสเค้ก” สินค้าขายดีของ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ได้รับความนิยมจนผลิตไม่ทันอยู่ช่วงหนึ่ง

การปรับตัวอย่างไม่หยุดยั้ง พัฒนาสูตรเบเกอรีใหม่ๆ ตลอดเวลาทำให้ในช่วงโควิด-19 “ศรีฟ้า โฟรเซนฟู้ด” ยังสามารถรักษาระดับรายได้ต่อปีที่ 600-700 ล้านบาทได้สม่ำเสมอ ด้านกำไรสุทธิก็เป็นที่น่าพอใจ แม้จะลดหลั่นลงไปบ้างระหว่างปี 2562-2563 แต่หลังปี 2564 เป็นต้นมาก็สามารถพลิกกลับมาทำกำไรแตะระดับสิบล้านได้สำเร็จ

  • ตำนาน “แซนวิชอบร้อน” พา “NSL” เข้าตลาดหลักทรัพย์ โกยพันล้านต่อเนื่อง

ชื่อบริษัท “เอ็สเอสแอล ฟู้ดส์” อาจไม่คุ้นหูเท่าไร แต่ถ้าพูดว่า บริษัทนี้คือผู้ผลิต “แซนวิชอบร้อน” ทุกชนิดในร้านอิ่มสะดวก “เซเว่น-อีเลฟเว่น” คงไม่มีใครไม่รู้จักแน่นอน หากดูจากรสชาติที่แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ออกมาหลายสิบสูตรก็น่าจะการันตีได้ว่า แซนวิชอบร้อนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างท่วมท้น “เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์” เป็น “คู่ค้า” ที่ร่วมงานกับเครือซีพีมาตั้งแต่ปี 2551 มีกำลังผลิตแซนวิชอบร้อนวันละ “400,000 ชิ้น” ขายได้ “200,000 ชิ้น” ต่อวัน พาบริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีรายได้หลักพันล้านต่อปี โดยปีล่าสุด (ปี 2565) โกยรายได้กว่า 4.09 พันล้านบาท กำไรอีก 297 ล้านบาท

ก่อนที่จะมาจับทางผลิตแซนวิชอบร้อนได้อย่างทุกวันนี้ “สมชาย อัศวปิยานนท์” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)” เคยทำงานในบริษัทผลิตอาหารมาเกือบ 10 ปี ก่อนจะตัดสินใจลาออกเพื่อมาร่วมหุ้นกับเพื่อนอีก 2 คน หวังบุกตลาด “อาหารแช่แข็งพร้อมทาน” ก่อนใคร แต่ผลปรากฏว่า ผู้บริโภคไม่ได้ให้การตอบรับที่ดีนัก สู้มาเกือบ 10 ปี สุดท้ายเขาตัดสินใจขายบริษัททิ้งหลังขาดทุนต่อเนื่อง

เปิดขุมทรัพย์ ‘4 ยักษ์เบเกอรี’ ครองพื้นที่ ‘7-Eleven’  ทุกตารางนิ้ว -สมชาย อัศวปิยานนท์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์”-

ไม่นานหลังจากนั้น “สมชาย” หันมาลุย “ธุรกิจเบเกอรี” นอกจากรสชาติและคุณภาพสินค้า เขายังมองหาช่องทางการจัดจำหน่ายที่ตอบโจทย์ความสะดวกรวดเร็วเหมาะกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ด้วย “เซเว่น-อีเลฟเว่น” เป็นเป้าหมายหลักในการทำงาน กระทั่งปี 2551 บริษัทของเขานำสินค้าวางจำหน่ายในร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นสำเร็จ รวมทั้งเริ่มมีการผลิตข้าวกล่อง-อาหารแช่แข็งวางจำหน่ายในร้าน “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ด้วย

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ “เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์” โตแบบก้าวกระโดด คือโจทย์ที่ทางเซเว่น-อีเลฟเว่นต้องการพัฒนาและจำหน่าย “คอร์นด็อก” ที่ร้าน “เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์” ใช้เวลาพัฒนาร่วม 2 ปี แต่ก็พบว่า เมนูนี้มีกรรมวิธีการทำค่อนข้างยาก จนไปเจอกับ “Pain Point” ของร้านค้าในขณะนั้น คือทาง “เซเว่น-อีเลฟเว่น” จำหน่ายแซนวิชอบร้อนก่อนหน้าอยู่แล้ว แต่เป็นรูปแบบที่ให้พนักงานประกอบแซนวิชเอง วางขนมปังประกบไส้เรียงกันในกล่องพลาสติก เมื่อมีลูกค้าสั่งจึงหยิบขึ้นมาอบร้อนในเครื่อง “แซนวิชเค้กไส้กรอก” จึงเป็นสินค้าตัวแรกที่ทางบริษัทพัฒนาต่อยอดจากของเดิมให้มีความสะดวกขึ้น ทั้งยังหยิบจุดเด่นอย่างแป้งเค้กที่มีความนุ่มละมุนให้ความรู้สึกคล้ายกับแป้งคอร์นด็อกมาไว้ในโปรดักต์เดียวกันด้วย

เปิดขุมทรัพย์ ‘4 ยักษ์เบเกอรี’ ครองพื้นที่ ‘7-Eleven’  ทุกตารางนิ้ว

เว็บไซต์ “Positioning Magazine” ให้ข้อมูลว่า แซนวิชอบร้อนเป็นเมนูที่มีความเคลื่อนไหวค่อนข้างสูง มีการหมุนเวียนเปลี่ยนไส้ใหม่ๆ ร่วม 20 รายการ อันไหนขายดีก็มีการพัฒนาสูตรให้ดียิ่งขึ้น โดย 5 อันดับเมนูแซนวิชอบร้อนขายดี ได้แก่ แฮมชีส ไส้กรอกชีส หมูหยองน้ำสลัด ครัวซองต์แฮมชีส และครัวซองต์หมูหยองน้ำสลัด

เมนูแซนวิชอบร้อนได้รับความนิยมและกลายเป็นภาพจำของ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” จากจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อปี 2554 โรงงานของเอ็สเอสแอล ฟู้ดส์ ที่อมตะนครได้รับความเสียหาย ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ ตอนนั้นเองที่ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ชวน “เอ็สเอสแอล ฟู้ดส์” มาเป็นผู้ผลิตหลัก โดยเป็นการผลิตสินค้าแบบ “เอ็กซ์คลูซีฟ” ให้กับ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” เจ้าเดียวเท่านั้น 

ปัจจุบัน รายได้ของ “เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์” มาจากการเป็นคู่ค้าร่วมกับ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่แค่แซนวิชอบร้อนแต่สินค้าอาหารแช่แข็งทุกชนิดที่จำหน่ายในร้านล้วนมาจากการผลิตของ “เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์” ทั้งสิ้น นอกจากสัดส่วนที่เป็น “OEM” บริษัทยังมีรายได้จากการผลิตขนมขบเคี้ยวทานเล่นภายใต้แบรนด์ตนเอง รวมถึงธุรกิจ “ฟู้ดเซอร์วิส” ในการนำเข้าสินค้าประเภทผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล และซุปด้วย

 

อ้างอิง: Bow BakeryCPRAMCreden DataMaketeer OnlineNSL FoodsPositioning Magazine 1Positioning Magazine 2PrachachatSentangsedteeSrifa Frozen FoodTNNPerspective