อินไซต์คนไทย ‘รายรับไม่พอรายจ่าย’ กังวลค่าครองชีพ กลัวตกงาน เศรษฐกิจไม่ดี

อินไซต์คนไทย ‘รายรับไม่พอรายจ่าย’ กังวลค่าครองชีพ กลัวตกงาน เศรษฐกิจไม่ดี

ยุคข้าวยากหมากแพง! ยังอยู่กับคนไทย เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น ค่าครองชีพสูง ทำคนไทย "รายจ่ายพุ่ง" สวนทางรายรับ "นีลเส็น" เผยอินไซต์ผู้บริโภคกังวลของแพง กลัวตกงาน แม้เศรษฐกิจไม่ดี ยังอยาก "ซื้อรถ" นำโด่งอันดับ 1 ตามด้วยบ้าน เพื่อบ่งชี้ความสำเร็จในชีวิต

“นีลเส็น” เปิดรายงาน “2024 Industry Insights Report” เป็นการเจาะลึกข้อมูลผู้บริโภคหรือ Insight ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น รถยนต์ ประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ ซูเปอร์แอป วิดีโอสตรีมมิ่ง(โอทีที) วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารฯ ในกลุ่มผู้บริโภคคนไทยอายุ 12 ปีขึ้นไป ผ่านทัศนคติ ไลฟ์สไตล์ การบริโภคสื่อ และพฤติกรรมการรับรู้แบรนด์ ฯ พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

ขณะนี้คนไทยีความกังวลกับภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้กระทบต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า พร้อมกันนี้ยังพบว่าคนไทย 57% มีความกังวลเรื่อง “รายรับ” ที่ไม่เพียงพอกับ “ร่ายจ่าย” ด้วย ซึ่งปัจจุบันรายจ่ายเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกีบสถานการณ์หลังโควิด-19 ระบาดในช่วงปี 2564

ตัวแปรที่กระทบต่อค่าครองชีพพุ่ง มีหลายด้าน ตั้งแต่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงขึ้น

ในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ คนไทยสัดส่วนเพียง 32% ที่มีเงินสำรองที่สามารถใช้จ่ายได้ หากเกิดกรณีตกงาน หรือไม่ได้ทำงาน 6 เดือน โดยมีเพียง 1 ใน 3 จองคนไทยเท่านั้นที่ “ไม่กลัวตกงาน”

“ความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในหลายอุตสาหกรรม”

อินไซต์คนไทย ‘รายรับไม่พอรายจ่าย’ กังวลค่าครองชีพ กลัวตกงาน เศรษฐกิจไม่ดี

เมื่อผู้บริโภคส่งสัญญาณไม่มีเงินสอดคล้องกับค่าใช้จ่าย ทำให้สินค้าที่จะได้รับผลกระทบตามมา หนึ่งในนั้นคือ “กลุ่มยานยนต์” ผลสำรวจพบว่า รถยนต์ยังคงเป็นสินค้าที่คนไทย 47% วางแผนจะซื้อเป็นอันดับ 1 ในปี 2567 เนื่องจากมองเป็นสิ่งที่ต้องการและ “จำเป็นต้องใช้” โดยเฉพาะคนที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลกว่า 34% วางแผนที่จะซื้อรถยนต์ภายในปีหน้า ตามด้วย "มือถือ" 35% แล็บท็อป 46% รถจักรยานยนต์ 50%

ส่วน “บ้านและคอนโด” รั้งอันดับ 5 ที่คนไทยอยากมีสัดส่วน 40% เนื่องจากคนไทยยังยึดการมีบ้านและรถเป็นตัววัดความสำเร็จและเป็นสิ่งที่จำเป็นของคนในปัจจุบัน รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

“แม้ในยุคเศรษฐกิจฟืดเคือง แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า รถยนตร์ยังเป็นสิ่งที่คนไทยต้องการและหลายคนจำเป็นต้องใช้”

ด้านการใช้จ่ายเงินโฆษณาของแบรนด์ท่ามกลางยุคข้าวยากหมากแพง คนไทยกำลังซื้อเปราะบาง “นีลเส็น” ยังกระตุ้นให้จับจ่ายใช้สอยเพื่อสื่อสารการตลาด โดยย้ำว่า แม้เศรษฐกิจโลกอาจจะไม่สู้ดีนัก แต่สำหรับเมืองไทยการจับจ่ายใช้สอยยังถือมีความคึกคักอยู่ รวมถึงจำนวนผู้บริโภคที่ “วางแผนซื้อสินค้า” ในปี 2566 หรือปี 2567 ยังพอมีสัญญาณที่บวกอยู่จากกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแบรนด์กลุ่มนี้ควรใช้โอกาสในยุคที่ผู้บริโภคมีความต้องการสูงทำการตลาดที่เข้มข้นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา(ม.ค.-ส.ค.66) กลุ่มยานยนต์มีการใช้จ่ายงบโฆษณา 2,621 ล้านบาท ลดลง 32% และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า 1,339 ล้านบาท ลดลง 14% เมื่อเทียบกับปี 2564 ขณะที่อสังหาฯ ใช้จ่ายงบโฆษณา 741 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เทียบปี 2564 หลังโควิดคลี่คลาย

อินไซต์คนไทย ‘รายรับไม่พอรายจ่าย’ กังวลค่าครองชีพ กลัวตกงาน เศรษฐกิจไม่ดี

รัญชิตา ศรีวรวิไล Thailand Vertical Lead - Advertiser and Agency บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย กล่าว โลกของผู้บริโภคไม่เคยหยุดนิ่ง และเส้นทางของผู้บริโภคก่อนการตัดสินใจซื้อหรือ Consumer Journey ได้รับอิทธิพลในทางที่มากขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเกิดขึ้นของวิธีการคิดและวิถีชีวิตแบบใหม่ มีมาตรฐานใหม่ทั้งในการบริโภค การเสพสื่อ ทัศนคติ ไลฟ์สไตล์ และการรับรู้แบรนด์

“การเข้าใจลึกซึ้งถึงความต้องการของผู้บริโภคยังเป็นสิ่งที่สำคัญ ยิ่งสร้างประสบการณ์ที่ดี ก็ยิ่งสร้างยอดขายให้กับแบรนด์ได้ และช่วยให้คุณ Win a customer's heart ได้มากขึ้น”